SYNAP [home/lab] คอมมิวนิตีคนรักดนตรีไฟฟ้า ชุบชีวิตย่านนางเลิ้งให้มีชีวิตชีวา

by Montipa Virojpan
790 views
SYNAP [home/lab] นางเลิ้ง

SYNAP [home/lab] อีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจมาก ๆ ณ ขณะนี้สำหรับคนที่ชื่นชอบในดนตรีอิเล็กทรอนิก เพราะทุก ๆ เย็นวันจันทร์ (หรือนาน ๆ ทีในบ่ายวันอาทิตย์) พวกเขาจะจัดงานการละเล่นและทดลองของเหล่าคนรักซินธิไซเซอร์ ดีเจ และ live coding กันขึ้นในพื้นที่เล็ก ๆ ย่านชุมชนประวัติศาสตร์อันเงียบสงบอย่างนางเลิ้ง ที่ขณะเดียวกันก็เป็นบ้านพักอาศัยของอู๋—ธนภัทร โอกาสเลิศ และมาร์ธา—มาธา พรหมประดิษฐ์ ผู้ซึ่งทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังก็คลุกคลีอยู่กับบาร์ คลับซีน และดนตรีทดลองมาโดยตลอด มาดูกันว่าอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าที่แห่งนี้เป็นคอมมิวนิตีแสนพิเศษที่อยากทำให้กลับไปแวะเวียนอยู่บ่อย ๆ

SYNAP [home/lab] นางเลิ้ง
SYNAP [home/lab] นางเลิ้ง

ที่มาของชื่อ SYNAP

อู๋: มันมาจาก Synapse มันเป็นสื่อประสาท การที่เชื่อมโยงระหว่างสมอง แต่เราตีความว่าเป็น Synth + Napping เพราะเป็นทั้งที่เล่นซินธ์ แล้วก็เป็นที่นอนด้วย 

นี่คือเหมือนกับเปิดบ้านให้เพื่อนมานั่งเล่นเลย

อู๋: อันนี้เป็นที่ที่สองที่อู๋กับมาร์ธาช่วยกันทำขึ้นมา ที่แรกคือ 135 Coffee Bar ซึ่งพวกเรานอนข้างบน เขาเปิดขายกาแฟตอนกลางวัน เลยถามเขาว่าถ้าเป็นกลางคืน เราขอจัดคอมมิวนิตีซินธิไซเซอร์ได้ไหม เขาก็ให้ เราก็ทำเป็นงานซินธ์อย่างเดียวหนัก ๆ เลย ที่เคยมาเล่นก็มี Beam Wong, Yuki Suwansopa, Ahsley (Eri) จากสิงคโปร์ มี Kota Amatuti Taki จากญี่ปุ่น มีพี่แบงค์ Bankjork (Beagle Hug) แล้วก็ Tommy Hanson อเมริกา และอีกมากมาย จริง ๆ ตอนนี้ร้านก็ยังอยู่ที่ถนนสุรวงศ์ ถ้าใครว่างก็แวะไปนั่งกินกาแฟ รอปรินต์ภาพได้ เพราะว่าที่บ้านเขาทำเป็น fine art printing แล้วทำเป็นคาเฟ่ซัพพอร์ต แล้วก็เป็นกึ่ง ๆ แกเลอรีด้วย แค่ไม่มีอีเวนต์ดนตรีแล้วหลังจากเราย้ายมา

ช่วงนั้นยังทำงานอยู่ De Commune ซึ่งเดือนแรกก็เดือดพอสมควร เพราะมีทั้งวง ดีเจ แล้วก็ถ่ายงาน ตอนนี้ก็ยังเดือดอยู่ แต่พอวันจันทร์ อังคาร จะไม่ค่อยมีงาน จนเราได้หยุดงาน ซึ่งมาร์ธาก็ว่างพร้อมกันเลยชวนกันหาอะไรทำ เพราะว่าเวลาเราหยุดงานวันจันทร์ เราสังเกตว่าทำไมมันไม่มีที่ไหนให้ไปเลยวะ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นวันหยุดเราแท้ ๆ ในด้านการทำงานครีเอทิฟเราก็อยากได้ input ใหม่ ๆ เหมือนกัน แต่ว่าพิพิธภัณฑ์​ แกเลอรี่ ร้านที่อยากจะไปก็หยุดกันหมดเลย คนที่ทำงานในที่เหล่านี้ที่เขาทำงานกันตอน weekend เหมือนกันก็คงคิดเหมือนเรา เลยคิดว่า เราจะทำยังไงที่จะสามารถได้ทั้ง creative input และให้คนมาเจอกันเกิดเป็นคอมมิวนิตี ก็เลยคิดว่าจัดงานกันวันจันทร์ดีไหม

ด้วยความที่เราไม่ได้ทำทั้งวันทั้งคืน เราก็เลือกจัดให้ไม่ถี่มาก แต่เอาให้หลากหลาย ที่สำคัญคือศิลปินที่เลือกมาค่อนข้างเฉพาะตัว ค่อนข้างมีความ individual สูง ไม่เอาที่อะไรก็ได้ จะได้แชร์เทคนิค แชร์ประสบการณ์ของตัวเอง อย่างอู๋ทำงานโค้ดดิ้งก็มีคนสายนี้ไม่มาก บางคนเขียนโปรแกรมเองเพื่อเอามาเล่น มีรอบนึงที่จัดงานที่บ้าน มีคนทำบอร์ด Ouija บอร์ดผีถ้วยแก้วอะ แล้วก็มีซินธิไซเซอร์ที่เปลี่ยนตามตัวหนังสือที่ผี AI มันวิ่ง เขาคือพี่จิม The ███████ (The Blackcodes) เขาจะเป็นประเภทแบบพัฒนา tool ใหม่มาเลย หนึ่งงาน หนึ่ง tool ไม่ค่อยเล่นอะไรซ้ำ

SYNAP [home/lab]

SYNAP [home/lab]

มาร์ธา: มีวันจันทร์เกือบทุกสัปดาห์ คือคนแถวนี้เขาแอ็กทิฟขึ้น มีร้านใหม่ ๆ มาเปิด แล้วพอมันดูเหมือนคนรู้จักโซนนี้มากขึ้น คนมาเยอะขึ้น ก็เลยลองจัดวันอาทิตย์ตอนกลางวัน ให้คนหยุดงานวันอาทิตย์เขามีอะไรทำด้วย (หัวเราะ) เวลามาแถวนี้ก็มานั่งเล่น แต่ว่าจะเป็นเพลงอีกแบบนึง แนว ๆ listening เราจะเรียกว่า Nangloeng Listening Room (NLR) 

อู๋: เน้นนั่งฟัง บางทีมีต่างชาติแก๊งญี่ปุ่น เกาหลี ที่จะมาบ่อย ซึ่งตอนนี้เราคอนเน็กแน่นหนากับรัสเซียพอสมควร อย่าง Roma ก็มาร้านเราบ่อย 

อีเวนต์ที่นี่ส่วนมากเป็นงานแบบไหน

อู๋: ที่เราเคยทำส่วนมากจะเป็นอิเล็กทรอนิก คือดนตรีไฟฟ้า ซินธ์ โค้ดดิ้ง อินเทอร์แอ็กทิฟวิชวล ซึ่งเป็นความสนใจส่วนตัวของเรา คนที่มาเล่นก็เป็นเพื่อน ๆ กลุ่มที่เราใกล้ชิดที่สุดด้วยความที่ชอบอะไรใกล้เคียง รูทเราก็มาจากดนตรีอิเล็กทรอนิก ซึ่งมันเองก็มีอีกหลายแบบ เช่น แอมเบียนต์ เทคโน บอดี้เทคโน ซึ่งความหลากหลายนั้นก็เป็นความสวยงามของดนตรีด้วยซ้ำที่ทำให้เราไม่ต้องอยู่สุดโหมดเต้นตลอดเวลา จริง ๆ อยากให้มีความหลากหลายมากขึ้น เรามีโหมดอย่างวันอาทิตย์ มี NLR ไม่ต้องลุกขึ้นมา นั่งเฉย ๆ ก็ได้ คิดว่ามันน่าสนใจในเรื่อง mode of listening มันมีการฟังหลายแบบ มันจะมีการฟังแบบ body, physical ต้องเจอ sub ลูกใหญ่ ๆ ถึงจะเต็มที่ บางทีอาจจะเป็นแค่ฟังในห้องที่มันเงียบลงก็ได้ยินแล้ว

SYNAP [home/lab]

คนที่มาที่นี่ส่วนใหญ่เป็นใคร

อู๋: พอมันไม่ใช่ synthhead อย่างเดียวแบบที่ 135 อันนั้นมันเหมือนการมานั่งอัปเดตชีวิต เพราะมันเป็นบาร์ คนมานั่งตรงบาร์ อู๋ชงไฮบอล เอาลำโพงตั้งซ้ายขวา คนก็นั่งฟัง ส่วนกลุ่มคนที่มา SYNAP จะกว้างขึ้น มีดีเจ นักท่องเที่ยว คนที่ทำงานศิลปะก็มากัน แล้วมู้ดโทนที่นี่มันจะเป็นเชิงการรวมตัว สร้างคอนเน็กชัน ให้ศิลปินมาเจอกัน คุยกัน หรือมาดูงานของคนอื่น ๆ เข้าถึงง่ายขึ้น

ถ้าใครไม่สะดวกมาก็มีไลฟ์ให้ดูได้ที่บ้าน

https://www.youtube.com/@SYNAPhomelab

อู๋: การ live broadcast เราไม่ได้ทำให้มันเป็น mass media เราทำให้เป็น archival เป็นสมบัติของเรา มันก็ดีเหมือนกันที่เราสามารถกลับมาดูเซ็ตเก่า หรือเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ อีกอย่างนึงเราก็ไม่ได้เป็นคลับมืดขนาดนั้น เราอยากดึงเซนส์ความเป็นคอมมิวนิตีขึ้นมา พยายามจะ inclusive ที่สุดเท่าที่ได้จะทำได้

มาร์ธา: อันนี้มันเป็นบ้าน เหมือนคนที่มาเขาก็สบายใจที่จะมา พยายามทำให้มัน welcome ทุกคนมาได้ คนที่เดินผ่านวันนั้นก็มีมา พ่อหนุ่มญี่ปุ่น เขาแรนด้อมเหมือนพยายามจะเปิดประตู เขาก็ถามว่าทำอะไรกัน ขอเข้ามาจอยได้ไหม เราก็แบบ มาเลย ๆ  

แล้วก็มีอาหารเครื่องดื่มด้วย

มาร์ธา: จริง ๆ เราเป็นคนที่ทำอาหารไม่เป็นเลย อาจจะเพราะว่าเมื่อก่อนอยู่คอนโด ไม่สะดวก แต่พอย้ายมาก็รู้สึกว่าที่นี่มันสนุก ใกล้ตลาด มีวัตถุดิบแปลก ๆ บางทีมาจากคุณป้า เราก็ซัพพอร์ตเขา แล้วเราทำงานด้าน food and beverage ทำบาร์ ทุกอย่างมันลิงก์ได้ ก็เลยโอเค ลองเอามาทำ บวกกับคิดว่าถ้าเพื่อน ๆ มาก็ต้องหิว ก็ต้องทำอาหารให้เพื่อน ๆ ไม่งั้นเดี๋ยวศิลปินจะเป็นลม (หัวเราะ) ดึก ๆ เนี่ยมาละ หิว ทุกคนจะถามว่ามีอะไรกินบ้าง แรก ๆ เรามีสแน็ก แต่ตอนนี้เริ่มทำเมนูที่มันง่าย ๆ ล่าสุดทำแกงเขียวหวาน เมนูจะเปลี่ยนไปตลอดแล้วแต่ว่าเจออะไร อย่างวีคก่อนเราลองต้มโทนิกเอง ตอนนั้นได้น้ำตาลมะพร้าวจากบางกระเจ้ามา คุณลุงคั่วกวนเตาสุดท้าย คือเขาขึ้นไปตัดช่อมะพร้าวเอง ทำเอง ขายแค่หน้าบ้าน มีแค่คุณลุงคนเดียวที่ทำ ไม่มีใครทำแล้ว ก็ไปเจอแล้วซื้อกลับมาทำดริงก์ มันต่อยอดได้เยอะ (อู๋: ไปตลาดจนเขาจำได้ละ) ใช่ ถ้าเดินคนเดียวจะโดนถามแล้วว่าอีกคนไปไหน (หัวเราะ)

นางเลิ้ง Happening

อู๋: Happening เรื่อย ๆ นะช่วงนี้ คือมันเป็นย่านเก่าก็จริง คนสูงอายุเยอะจริง แต่คนเก่าแก่ในโซนนี้เขาก็ยังแอ็กทิฟมาก ๆ ตื่นเช้าขึ้นมาทำงานทุกวันทั้ง ๆ ที่อายุเยอะแล้ว ส่วนใหญ่ก็ทำงานด้านศิลปะกัน เขาเหมือนเป็นสังคมที่หล่อเลี้ยงกันเองด้วยความหลากหลายทางการค้ามาก เช่น กรอบรูป อุปกรณ์ช่าง เดินไปก็มีโรงไม้ ถ้าสังเกตบ้านเราพวกเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ คือเราสั่งไม้เขาแล้วก็เอามาต่อกันเอง เป็นเฟอร์นิเจอร์ง่าย ๆ ขึ้นมา สำคัญที่สุดคือของกิน เราเดินไปตรงนี้ก็เจอตลาดนางเลิ้ง ไปเกือบทุกวัน

มาร์ธา: มีโรงหนังเฉลิมธานี วันนี้ก็มีงานฉายหนังนะคะ งานย้อนวัยย้อนยุคที่ตลาดนางเลิ้ง แถวนี้เป็นโซนของนักเขียนมาก่อน ก็จะมีร้านหนังสือเยอะ มีสำนักพิมพ์ กวีนิพนธ์ คนที่ทำงานพวกครีเอทิฟจะอยู่ย่านนี้ มีที่เป็นบ้านละครชาตรี บ้านเต้นรำ พระเครื่องอะไรด้วย 

ในฐานะคนที่เพิ่งย้ายมาอยู่ เรามีโอกาสทำอะไรกับคอมมิวนิตีคนเก่าแก่ของที่นี่บ้างไหม 

อู๋: จริง ๆ ตอนนี้ก็เป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน ก็เริ่มเป็นชื่อที่ได้ยินแถวนี้บ้างแล้วไม่ว่าจะคนใหม่หรือคนเก่า อาจจะเพราะว่าบ้านเราสีฉูดฉาดด้วยตอนกลางคืน (หัวเราะ) แต่กับคุณป้าข้างบ้านใจดีมาก

มาร์ธา: ‘ทำอะไรกัน ย้ายมาจากที่ไหน’ ก็อาจจะมีกิจกรรมร่วมกันในอนาคต ตอนนี้อยู่ระหว่างการเชื่อมสัมพันธ์ เริ่มมาเคาะบ้านกันบ้างแล้ว ฝั่งในตลาดก็ทักกันอะไรแบบนี้

SYNAP [home/lab]

พอเราเป็นสถานที่ที่จัดอีเวนต์ดนตรี เคยมีปัญหาเรื่องเสียงบ้างไหม เพราะหลาย ๆ ที่ที่อยู่ในย่านชุมชนประสบปัญหาโดนร้องเรียน

อู๋: จริง ๆ ที่นี่เป็น listening centric อยู่แล้ว คือฟังก่อน จะเต้นค่อยเต้น เพราะฉะนั้นความดังก็ไม่จำเป็นจะต้องดังมาก ความดังมันมีสองอย่าง คือความดังทางเนื้อเสียง กับความดังแบบ actual แบบ physical ซึ่งเราไม่ค่อยลั่นมากขนาดนั้น แต่พออยู่ในห้องจะรู้สึกว่าดังเพราะลำโพงที่ใช้มันค่อนข้าง direct เป็นลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ เสียงมันจะชัด จะไม่ค่อยก้องเท่าไหร่ บางทีจะรู้สึกว่ามันแน่น ก็ค่อนข้างระวัง พยายามคุมอยู่เรื่อย ๆ ไม่อยากรบกวนข้างบ้าน จะเห็นอู๋เดินไปปรับเสียงตลอดเวลา เราสองคนจะคอยเตือนกันว่าตอนนี้เสียงดังเกินไปหรือเปล่า แล้วก็พยายามให้งานเลิกก่อนเที่ยงคืน

ที่ฟังเพลงดี ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในละแวกชุมชนและต้องปิดตัวไปด้วยเหตุผลนี้ คิดว่ามีวิธีการแก้ปัญหายังไง

อู๋: สำคัญที่สุดเลยคือสัมพันธไมตรีละแวกข้างบ้าน คืออย่างน้อยเราต้องห้ามเป็นคนแปลกหน้าของข้างบ้าน ถ้าเป็นคนแปลกหน้าของข้างบ้านเมื่อไหร่จะโดนเพ่งเล็งได้ง่าย เราก็ทำตัวน่ารัก ไม่หยาบคาย ไม่โวยวายใส่เขา ใช้เหตุและผลคุยกัน อีกอย่างนึงที่อาจจะเป็นเฉพาะของที่นี่ด้วยคือเราไม่ได้ใช้เสียงมากอยู่แล้ว

มาร์ธา: แต่บางทีที่ที่อื่นเจอปัญหากันก็ไม่ใช่เพราะเจ้าของที่ หรือเสียงเพลงที่เปิด แต่เป็นลูกค้าหรือคนที่คุยกันข้างนอกมากกว่า บางทีพอเป็นปาร์ตี้แล้วมีคนจากหลาย ๆ ที่มา พอเมาก็คุมเสียงกันไม่ค่อยได้

SYNAP [home/lab]

พูดถึงซินธิไซเซอร์จำพวกนี้ เอาจริงมันก็มีความยากและต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเยอะเหมือนกัน

อู๋: ก็ต้องมีการเทสต์เยอะ ๆ อย่างวัน Road to DIAGE วันนั้นก็เหงื่อตกเหมือนกัน เพราะโค้ดดิ้งมันเป็นปัญหาดิจิทัลอะ แบบบางทีมันเป็นแค่เพียงหนึ่งเสตจของการรวมสัญญาณที่มันอาจทำให้โชว์ไปต่อไม่ได้ ไม่เหมือนเครื่องที่เป็นฮาร์ดแวร์ที่ทุกอย่างมีเสียงได้ด้วยตัวเอง มิกเซอร์อนาล็อกพวกนี้ ที่เจอบ่อย ๆ คือ sound engine บูทไม่ได้ ประจำ แต่ถือว่าที่งาน Road to DIAGE ก็ผ่านไปได้ด้วยดีเพราะเราเทสต์กันทั้งวัน แล้วก็เหมือนวันนั้นก็ส่งข้ามกันหลายอย่างกับเกี๊ยงที่ทำโค้ดดิ้งด้วยกัน ทั้งวิดิโอ ซิงก์คอมข้ามกัน 

ในไทยมีคนเล่นกันเยอะไหม

อู๋: เป็นกระจุก ๆ เท่าที่รู้ก็มีแก๊งเชียงใหม่ คนที่สร้างเว็บ Siam Modular แล้วก็ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ในกรุงเทพ ฯ ก็มีพอสมควร แต่ด้วยความที่ในไทยมันยังไม่มีช็อปที่มันเป็น local ก็เลยต้องสั่งจากต่างประเทศเข้ามากัน ไม่งั้นก็ซื้อมือสอง หรือไม่ก็ทำเอง (หัวเราะ) แต่เราดีใจที่อย่างน้อยงาน DIAGE หลักที่กำลังจะจัด เขามีเซสชันโค้ดดิ้งเฉพาะเลย ซึ่งก็เป็นอีกสเต็ปนึงของคอมมิวนิตีเหมือนกันที่เราไปร่วมทำงานกันได้แล้ว มีบุคลากรที่ไม่ใช่แค่เล่นอย่างเดียว แต่มีคนที่ซัพพอร์ตด้วยพอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้น อู๋กับเกี๊ยงก็เริ่มสอนมหาลัยแล้ว มีสอนโปรแกรมมิง รอบล่าสุดที่จัดงานก็มีลูกศิษย์ฝั่งเกี๊ยงมาเล่นด้วยสองคน ก็ค่อย ๆ ขยาย

คิดว่าทำไมถึงยังไม่ค่อยเป็นที่นิยม

อู๋: อาจจะเป็น stigma ด้วย อู๋ชัตดาวน์เรื่องเลขตัวเองมาตั้งแต่ ม.3 แล้ว ม.ปลายเราคะแนนไม่ดีมาโดยตลอด จนมาสังเกตตอนนี้อยู่ดี ๆ ก็เห็นความสวยงามของตัวเลข อันนี้มาก่อนโค้ดดิ้งด้วยซ้ำไป คิดว่าทำไมพอเราทำตัวเลขให้มันออกมาเป็นเชปวงกลม หรือเส้น มันมีอะไรที่ดูมนุษย์มาก ๆ เลย อันนั้นเราก็ appreciate ความสวยงามของตัวเลขละ 

SYNAP [home/lab]

แล้วเราเนี่ยปกติเล่นดนตรี อยู่มาวันนึงเจอคลิปพี่จิมเล่นที่ NOMA คือแบบ ‘เย้ดโด้ อะไรวะเนี่ย’ เราเป็นเด็กเพอร์คัสชันมาก่อน แล้วได้ยินเสียงกลองที่ออกมาจากเครื่องทำไมมันเท่จังวะ การเลือกซาวด์ของคอมพิวเตอร์มันทำได้เร็ว แม่นยำ เหนือมนุษย์ตีกลองไปแล้ว อันนี้เป็นเทคนิคที่เราไม่เคยได้ยินเลย การไล่แซมเปิล 5 อันแล้วแปลงให้มันขาดออกจากกัน มันทำได้แบบนี้ด้วยหรอ tool มันคืออะไร ทำไมเขาไม่ใช้ Ableton ก็เลยไปเสิร์ช ‘Coding Music’ ในกูเกิ้ล เจอเต็มเลย โปรแกรมไล่ ๆ ลงมา เริ่มจาก PureData เป็นโปรแกรมลากเส้น ตอนนี้ก็เล่นอันนั้นอยู่ พอเราเริ่มเข้าใจตัวเลขพอสมควรมากขึ้น Sin Cos Tan เข้าใจแล้ว สำคัญมาก มันคือวงกลม แล้วสุดท้ายมันสร้างเป็นคลื่น Sine Wave ซึ่งคือต้นกำเนิดของคลื่นเสียง เสียงทุกอย่างมันคือไซน์เวฟมารวมกันหลาย ๆ  อัน จริง ๆ มันคอนเซ็ปต์เดียวกับถ่ายรูป มันมีเรื่องสัดส่วนตัวเลขที่ช่วยแบ่งไว้อยู่ แต่บางที collective consciousness ของคนอาจจะคิดว่าสิ่งนี้เป็น science มากกว่า art เช่นเดียวกับที่ public consciousness มองการถ่ายรูปเป็น art มากกว่า science ซึ่งจริง ๆ ถ้ามันไม่มีบริษัทที่มานั่งทำค่าสี หรือเรื่องชัตเตอร์ มันก็จะไม่มีกล้องถ่ายรูปที่พัฒนาอย่างทุกวันนี้ เราก็เลยพยายามอยู่ระหว่างสองเลเยอร์นี้คือศิลปะจ๋า ๆ กับวิทยาศาสตร์จ๋า ๆ เลย สิ่งนี้มันเหมือนแม่น้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกัน 

ก้าวต่อไปของ SYNAP [home/lab]

อู๋: ตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองหลาย ๆ อย่าง ก็พยายามรวมคอมมิวนิตีก่อน มีคุยกันเล่น ๆ  ตอนไปกาญจน์ว่าอยากไปล่องแพ แล้วเล่นเพลงแอมเบียนต์ (มาร์ธา: ที่นั่นเขามีแพ มีเครื่องเสียง มีคนดูแล สนใจไหม เอาเพื่อนไป เสียงอาจไม่สะใจเท่าที่บ้านแต่เน้นฟังสบาย) แต่เริ่มมีอีเวนต์แปลก ๆ บ้างแล้ว ชื่อ OPENLAB เราจะดึงความเป็น 135 กลับมาอีกครั้งที่ทุกคนเอาซินธ์มายำ รอบล่าสุดที่หัวจะระเบิด คือ Visual Cortex Transfer ปกติเราเล่นดีเจ แล้วก็มีวิชวลมาประกอบ แต่ลองคิดกลับหัวดูว่าถ้าวิชวลเป็นสารตั้งต้น แล้วอู๋เอาคอมมา analyze ว่าสีเป็นยังไง ความเคลื่อนไหว ความชัดเป็นยังไง แล้วให้ยิงตรงเข้าโมดูลาร์ แล้วให้โมดูลาร์ตามวิชวล มันก็จะลิงก์กันแบบ พอภาพมา เสียงลิงก์ตาม ตอนที่ทำก็รู้สึกว่าอันนี้มันใหม่ อู๋ให้ทุกคน blindfold เตรียมวิชวลมา ไม่ได้เตี๊ยมมาก แต่เราทำค่ากลางไว้เป็น RGB สีอะไรเยอะกว่ากัน เลเวลคล้าย ๆ โฟกัส ถ้ายิ่งชัด หรือภาพสว่าง ยิ่งแวลูเยอะ หรือยิ่งเคลื่อนไหวเยอะก็แวลูเยอะ มันก็จะโดนแปลงมาเป็นไฟฟ้า แล้วก็ผ่านมาทางซินธ์ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับการพรีเซ็ตระบบนั้น ๆ ด้วย แต่มันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองกันอย่างรวดเร็ว คือพอภาพเปลี่ยน เสียงเปลี่ยนเลย ไม่ต้องเอามาบิด เพราะเหมือนเรามีมือวิเศษคอยช่วยอยู่ มือวิเศษนั้นคือภาพ (The COSMOS: แปลว่าถ้าภาพเดียวกัน แต่เอาไปต่อโมดูลาร์ ซินธ์ หรือพรีเซ็ตคนอื่น มันก็จะออกมาให้เสียงที่ต่างกัน) ใช่ ในอนาคตก็อยากหาคนทำฝั่งเสียงทดลอง ทำเทมเพลต visual analysis มาให้แล้วดูว่าเราเอาไปต่อระบบอะไรได้บ้าง จะออกมาเป็นแบบไหน อันนี้มีความเป็นแล็บทดลองสูงมาก ตอนนั้นลองจัดกัน มีข้อจำกัดทางเทคนิคเยอะอยู่ แต่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นอีกความรู้สึกที่ใหม่มาก ที่เราไม่เคยเจอ อย่างมากก็คือเอาเสียงไปทริกเกอร์ให้ภาพสว่างขึ้น แต่ด้วยอันนี้คอนเทนต์ภาพมันมาก่อน มันไม่รู้สึกว่าเสียงนำ 

มาร์ธา: ตอนจัดรอบนั้นคือเหมือนเซสชันเพื่อการศึกษา ทุกคนตั้งใจดูมาก คนที่เข้ามาใหม่ก็งงว่าจะเดินไปตรงไหนดี ทำไมทุกคนนั่งดูกันหมดเลย (หัวเราะ)

SYNAP [home/lab]

ติดตามความเคลื่อนไหวของ SYNAP [home/lab] ได้ ที่นี่

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy