เบื้องหลังเพลงดี ๆ ของศิลปินที่ทุกคนชอบ ยังมีอีกหลายคนที่คอยผลักดันอยู่ข้างหลังเพื่อให้เพลงนั้นขึ้นสตรีมมิ่งและมาถึงหูคนฟังในที่สุด หนึ่งในอาชีพที่สำคัญมาก ๆ กับวงการดนตรี และยังได้ทำงานใกล้ชิดกับศิลปินที่สุดเลยก็คือ Sound Engineer ที่มีหน้าที่เล่นแร่แปรธาตุคอยปรุงแต่งให้ดนตรีและจังของศิลปินออกมาดีที่สุดเท่าที่ศิลปินจะจินตนาการไปถึง เรียกว่าผู้ปิดทองหลังพระก็ได้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนอยากทำงานสายดนตรี น้อยคนจะมีเวลาออกจากห้องอัดมานั่งพูดคุยกัน
COSMOS Creature วันนี้ เราอยู่กับ เฟรม—ศรัณยู นันทวัฒนานุกูล ซาวด์เอนผู้อยู่เบื้องหลังเพลงเจ๋ง ๆ มากมาย และยังเป็นคนดูแลทุกกระบวนการสร้างสรรค์ใน Babel Studio พูดคุยถึงแรงบันดาลใจในอาชีพนี้ การทำงานในสตูดิโอ รวมถึงคำแนะนำสำหรับวงดนตรีรุ่นใหม่ที่อยากสร้างผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น และพร้อมโตไปเป็นศิลปินเต็มตัว
แนะนำตัวหน่อย
ผมเฟรมจาก Babel Studio เป็น Manager และ Sound Engineer (หลังจากนี้ขออนุญาตทับคำไทยว่า ‘ซาวด์เอน’) อยู่ที่นี่ครับ
อะไรทำให้อยากเป็น Sound Engineer
เราชอบพวกเสียงดนตรีเสียงเพลง เคยเล่นดนตรีทำวงแล้วไปเจอคนเยอะ ๆ แล้วรู้สึกว่าไม่ได้ชอบทางนั้น การเป็นศิลปินคือไม่ใช่เลย ตอนนั้นเราเลยมองหาว่ามีสายดนตรีทางไหนที่เราทำงานได้บ้าง ซึ่งผมเพิ่งรู้จักอาชีพ Sound Engineer ตอนเรียนจบเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นเรียนจบกีตาร์แจ๊ส ที่มหาลัยวิทยาลัยบูรพา ก็เลยหาที่ฝึกงาน ก็มาเจอห้องอัดหนึ่งและได้เรียนรู้ทุกอย่างจากที่นั้นเลย
เป็นศิลปินยังมีวงที่ชอบ แล้ว Sound Engineer มีใครเป็นแรงบันดาลใจ
ผมชอบมิกซ์พี่จิน—วรเมธ มตุธรรมธาดา (Salad) มีอาจารย์ที่สอนซาวด์เอนตอนทำงานที่เก่า คือพี่นิล Mempassion Studio เขาสอนผมตั้งแต่ 0 เลย ตอนนั้นผมไม่รู้แม้กระทั่ง input กับ output อีกคนที่ผมชอบมากคือ บุ๊ก Noise Figure/Faustus อาชีพหลักน้องเลย จริง ๆ ผมชอบหลายคน ใครมิกซ์ดีผมก็ชอบหมด
สิ่งที่เราชอบในอาชีพนี้
เวลาได้ทำงานอะไรซักอย่างที่ได้ผลลัพธ์ตามที่ผมต้องการ เช่น ลูกค้าอยากได้เสียงกลองแบบนี้ แล้วผมหาทางทำจนได้ รู้สึกประสบความสำเร็จว่ะ ชอบที่ผลลัพธ์ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าตามที่เราคิดทั้งการอัดเสียงและการมิกซ์เสียง การทำงานซาวด์เอนเป็นการทำงานร่วมกัน เป็นลูกค้าต้องการยังงี้นะแล้วตามใจลูกค้าไม่ใช่ หรือต้องตามใจซาวด์เอนเราต้องมานั่งคุยกันว่าแบบนี้ชอบมั้ย ลูกค้าชอบมั้ย เราเสนออย่างนี้มาปรับกัน ไม่มีใครนำ
กระบวนการทำงานของซาวด์เอนขั้นตอนเป็นยังไงบ้าง
ผมจะข้ามเรื่องวิธีการต่อสายหรืออัดเสียงไปละกัน อาจจะไปเสิร์ชอ่านได้ ก่อนอื่นเลยผมจะถามศิลปินว่าคุณชอบเพลงแนวไหน หรือมีเรฟเฟอร์เรนซ์เป็นยังไง ผมจะใส่ใจเรื่องการหาเรฟมาก เวลาทำเพลงมันต้องเป้าหมายปลายทางจะเป็นยังไง ถ้าไม่มีผมก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่อัดไปจะใช่สำหรับเป้าหมายของเขารึเปล่า การสื่อสารกับลูกค้าเลยสำคัญมาก คุณอยากได้เสียงอยากได้ซาวด์แบบไหน คาแรกเตอร์จะเป็นแบบไหน รวมถึงการมีเดโมมาก็จะดีมากด้วย จะได้ดูได้ว่าแต่ละไลน์เป็นยังไง เราจะเสริมเติมแต่งไลน์กีตาร์ไลน์ร้องของเขาได้ยังไงบ้าง
ถ้าลุกค้าให้เรฟมาแต่ฟังแล้วไม่เข้ากับสิ่งที่เขาคิด ผมก็บอกเขาได้ ถ้าลูกค้าคิดริฟกีตาร์แบบโมเดิร์นมากแบบ Polyphia เลย แต่อยากได้ซาวด์แบบ The Beatles มันก็แปลก ๆ มั้ย เราก็ต้องอธิบายไปว่ามันอาจจะไม่ได้เข้าขนาดนั้น แต่ถ้าต้องการก็ทำให้ได้ แต่ก็อยากคุยกันก่อน ส่วนใหญ่การทำงานซาวด์เอนมันคืองานบริการ มันต้องมีการสื่อสารกับลูกค้าเยอะมากประมาณหนึ่ง
ยังงี้เรามีวิธีบริหารความคาดหวังของศิลปินยังไง
เวลาเราทำงานเราต้องให้เกียรติอาชีพของเขา เราทำงานด้านนี้นักดนตรีก็จะดีไซน์เสียงการแต่งเพลงไป ส่วนเราคิดว่าอันไหนดีกว่าเราก็เสนอเหตุผลไป ถ้าเขาไม่ชอบก็อธิบายมา มันเป็นการสื่อสารกัน ไม่ได้ต้องตามใจหรือบังคับกันขนาดนั้น แต่ก็ต้องมาคุยเหตุผลกันว่าปลายทางเขาเห็นภาพยังไง แล้วเราจะได้มาช่วยกันให้สิ่งนี้เกิดขึ้น
จับผลัดจับผลูมาทำ Babel Studio ได้ยังไง
ตอนนั้นผมเพิ่งออกจากทำงานที่เก่าพอดี ทำอยู่ 4 ปี แล้วผมเคยฝึกงานที่ Parinam Music เป็นโปรดิวเซอร์ ตอนนั้นผมว่างงานมาก พี่ปูมเจ้าของค่ายก็ทักมาชวนอัดอัลบั้มสองของ ปลานิลเต็มบ้าน ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ปล่อยเลย (หัวเราะ) ผมรออยู่นะพี่ปูม! เขาน่าจะชอบแหละ อัดสองสัปดาห์ก็กินนอนเฝ้าบ้านอยู่ที่นู่นไป ไม่นานหลังจากนั้น พี่เฉลิม NewEchoes มีแพลนจะทำห้องอัด ก็ชวนมาจัดการซื้อของดีไซน์ห้องอัด อาจจะเรียกว่าโชคดีก็ได้มั้ง ทุกอย่างมันบังเอิญหมดเลย (หัวเราะ) ทุกอย่างที่อยู่ในห้องนี้ผมเลือกเองหมด ซึ่งผมเป็นคนทำงานด้วย ก็เลือกแต่ของใช้งานดี ๆ ไปเลย
แล้ว Babel Studio ไม่เหมือนห้องอัดอื่นยังไง
อืม (คิดนาน) ก็คือผมเนี่ยแหละครับ (หัวเราะ) ก็มันคนละคนอะ ถ้าถามว่าต่างกับที่อื่นยังไงก็อาจจะไม่ได้ต่างขนาดนั้น เราแค่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อยู่ที่ลูกค้าเลือก ผมว่าห้องอัดในไทยสมัยนี้ก็เลือกใช้ของที่ดีมีมาตรฐานทุกห้องเลย น่าจะอยู่ที่ลูกค้าสะดวกมากกว่า แต่ของที่ผมเลือกใช้ใน Babel Studio นี่ไม่ด้อยไปกว่าห้องอัดไหนในประเทศไทยและต่างประเทศเลย ถ้าศิลปินต่างประเทศมาก็ยินดีมาก ๆ ที่จะได้ทำงานด้วย
แต่ละห้องอัดมันดูมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันด้วยรึเปล่า
มีนะ ส่วนเอกลักษณ์ที่มันต่างกันคือเรื่องรูมมากกว่า สมมติถ้าเราไปอัดเสียงห้องที่มันเงียบเสียงมันก็จะเงียบ ถ้าเราไปอัดเสียงในห้องน้ำเสียงมันจะก้อง แต่ละห้องก็จะก้องไม่เหมือนกัน สมมติผมอัดกลองชุดห้องนี้เสียงมันจะไม่ได้เด็ธมาก จะมีความธรรมชาติไม่ได้เหมือนดรัมแมชชีนมาก หรือห้องอัดใหญ่ ๆ ใช้กลองชุดเดียวกันมันก็จะได้เสียงใหญ่ ๆ ไม่รู้ว่าคนอ่านจะเข้าใจมั้ย (หัวเราะ) มันเป็นอะคูสติกที่มันต่างกันมากกว่า
ศิลปินคนไหนเคยผ่านห้องอัดนี้มาแล้วบ้าง
Salad ครับ FORD TRIO, Rosalyn, Alec Orachi, ปลานิลเต็มบ้าน ด้วย Quicksand Bed กำลังจะปล่อยอัลบั้มด้วย Chucky Factory Land
สิ่งสำคัญในการเป็นซาวด์เอน
สำหรับผม (คิดนาน) ทุกอย่างมันสำคัญหมดอะ ข้อแรกคืออุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นไมค์ ลำโพง ซาวด์การ์ด มิกเซอร์ ปลั๊กอินต่าง ๆ ข้อที่สองคือมายเซ็ต ข้อที่สามคือประสบการณ์ ข้อที่สี่คือหูเราดีแค่ไหน มันสำคัญทุกอย่างเลย ถ้าเรามีอุปกรณ์ดีอะไรดีแต่เรามีมายเซ็ตไม่ดีหรือการคุยไม่ดีมันก็ไม่ดี ต่อให้เรามีมายเซ็ตที่ดีคุยสื่อสารดี แต่อุปกรณ์ไม่ถึงก็อาจจะไม่ถึงเป้าหมายที่เราคาดหวังไม่ได้ ทุกอย่างมันสำคัญหมด
เรามีเป้าหมายของตัวเองบ้างไหม
มี ๆ คือผมอยากให้ห้องอัดนี้เป็น Hub ของศิลปินทั่วประเทศไทยหรือเอเชียหรือต่างประเทศที่มา อยากให้ห้องอัดนี้ได้เป็นตัวเลือก 1 ใน 3 ของเขา รวมถึงการอยากให้อาชีพนี้ได้ค่าตัวเยอะกว่านี้ (หัวเราะ) ต้องยอมรับว่าการทำงานกับเสียงในไทยค่าตัวมันสวนทางกับราคาอุปกรณ์มาก มิกซ์เพลงหนึ่งต้องใช้ซาวด์การ์ดตัวละแสนห้า ลำโพงผมแสนสี่ มิกเซอร์ผมแสนสอง รวมกันจะครึ่งล้านละยังมีอีกหลายชิ้นที่ยังไม่ได้นับรวม แต่ตอนนี้ค่าตัวกลางอยู่ที่ 7,000-9,000 บาท ผมไม่ได้อยากได้งานเยอะขนาดนั้น แต่อยากให้ค่าตัวซาวด์เอนทุกคนสูงขึ้นค่านี้ ซักหมื่นห้าหรือสองหมื่น เพราะต่างประเทศมันแตะราคานี้กันหมดแล้ว แล้วมือมิกซ์ในไทยคุณภาพไม่ได้ต่างกับประเทศอื่นขนาดนั้น แต่ต่างกันที่อุปกรณ์ ถ้าเราค่าตัวเจ็ดพันแต่อุปการณ์ไม่ดี แล้วต้องทำงานนานแค่ไหนถึงจะอัพเกรดอุปกรณ์ได้ลำบากขนาดไหน ผิดกับซาวด์เอนต่างประเทศมิกซ์ 5 เพลงก็ซื้ออุปกรณ์ดี ๆ ได้แล้ว กลายเป็นว่าฝีมือเราดีนะแต่อุปกรณ์เราสู้ประเทศอื่นไม่ได้
แต่ผมก็เข้าใจนะว่าค่าตัวเรามันสูงขึ้นไม่ได้ เพราะศิลปินก็ทำเงินจากเพลงไม่ได้เยอะขนาดนั้น ค่าตัวที่มันมาก็ไม่พอที่จะต้องจ่ายออกไปในการเป็นศิลปินไหว เราต้องมาคุยกันว่าวงการเพลงในบ้านเราเองว่าทำไมมันเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา
ศิลปินรุ่นใหม่ที่อยากลองเข้าห้องอัดดูบ้าง มีคำแนะนำอะไรให้เขามั้ย
สำหรับศิลปินรุ่นใหม่ผมว่า 80% น่าจะเคยทำเดโมบนคอมมาก่อน ถ้าอยากลองมาห้องอัดอาจจะขอไม่กี่อย่าง คือเอาเดโมมากับมายเซ็ตว่าเราอยากทำเพลงให้มันเป็นยังไง ถ้ามีเดโมมาก็คุยกันได้ ก็มาใช้ห้องอัด Babel Studio ได้นะครับ ถ้าเป็นเด็กนักเรียนนักศึกษาเราลดให้ 20% อยู่ครับ! มีอีกเรื่องคือการมาอัดเพลง คือการมาอัดเสียงเข้าไปในคอมเพื่อเป็นแผ่นมาสเตอร์ ไม่ใช่การมาซ้อม อยากให้ซ้อมมาก่อนอัด ผมไม่ได้ติดใจอะไรกับคนที่อัดหลายเทค แต่มันมีประเภทที่ไม่ซ้อมเลยต้องอัดหลายเทคแล้วมันดูออก แต่คนในวงเองจะเสียเวลาไปฟรี ๆ มีเวลาก็ซ้อมอยู่บ้าน ตอนมาอัดมันจะได้มีเวลามาปรับจูนเสียงอีกที การอัดมันคือการดีไซน์เสียงแล้วไม่ใช่การมาเล่นให้ถูก ซ้อมมาก่อน สำคัญมากครับ ค่าเช่าห้องอัดก็ไม่ได้ถูกเหมือนกัน
เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพนี้
มี ๆ คนชอบคิดว่าทำซาวด์ให้ร้านมาตลอด (หัวเราะ) ซาวด์เอนในต่างประเทศแบ่งเป็นแขนงมากเลย ในสตูดิโอจะมีทั้ง Recording Engineer, Mixing Engineer, Mastering Engineer และ Sound Design Recording ผมไม่แน่ใจว่าเรียกแบบนั้นรึเปล่า คือคนออกแบบซาวด์ให้ออกมาแบบที่ต้องการ การแย่งแบบนี้จะได้ให้คนทำงานได้โฟกัสกับงานของตัวเองมากกว่า ผมเป็น Sound Engineer แต่ผมจะรับแค่งานอัดเสียงกับมิกซ์เสียง Edit ผมรับบ้าง ส่วน Mastering ผมจะไม่รับเลยถ้าไม่ใช่งานคนอื่น ผมมิกซ์แล้วไม่อยากมาสเตอร์เอง อยากให้คนอื่นทำมากกว่า การมาสเตอร์มันคือการทำให้เพลงเรียบร้อย ดังพอประมาณ ภาพรวมอะไรขาดไปเราเติม อะไรเกินเราลด ถ้าผมมิกซ์เพลงนี้มาแล้วผมรู้สึกว่าเราพอใจกับเพลงนี้แล้ว พอต้องมาสเตอร์ก็จะไม่รู้ว่าจะทำอะไรอีกวะ งั้นคนมิกซ์กับคนมาสเตอร์ควรจะเป็นคนละคนกัน สำคัญมาก
มีคำแนะนำอะไรสำหรับซาวด์เอนรุ่นใหม่บ้าง
ทำงานเยอะ ๆ ครับ แล้วก็อย่ามีอีโก้ ทุกอย่างคือความรู้ อย่าไปตัดสินคนอื่นและอย่าคิดว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่น ทุกคนคือ Friendship เราต่างให้ความรู้กันและกัน ผมว่ามันสำคัญนะอย่ามีอีโก้ (หัวเราะ) ต่อให้เราทำงานวิว 10 กว่าล้านมาแล้ว ผมก็ยังหาความรู้ตลอด บางทีน้องที่เพิ่งรู้จักก็ยังแนะนำวิธีอัดใหม่ ๆ ให้กับผมเหมือนกัน ล่าสุดผมลองให้ศิลปินมาอัดเพลงกันเอง พอมาฟังแล้ว เฮ้ย มันดีหนิ ก็เลยลองคุยว่าอัดยังไง น้องก็บอกว่าแค่โยนไมค์เข้าไปใกล้กลองครับ (หัวเราะ) การมีความรู้เป็นเรื่องที่ดี แต่เราอาจตีกรอบตัวเองมากเกินไป ถ้ามีใครทำอะไรใหม่ ๆ อย่าเพิ่งไปตัดสินเขา ถ้าฟังเสียงแล้วมันโอเค ก็คือโอเค คนฟังเขาไม่ได้มองที่คนเบื้องหลังว่าทำงานกันยังไง เขามองว่าเพลงมันดียังไงมากกว่า
ฝากถึงคนที่อ่านมาถึงตรงนี้หน่อย
ฝากห้องอัดเสียง Babel Studio ครับ ติดกับ BTS พหลโยธิน ราคาก็ดูได้ที่ https://www.liveinbabel.com/ ผมมีราคาแจ้งไว้ สำหรับนักเรียนนักศึกษามีส่วนลด 20% ครับ อุปกรณ์ทุกอย่างเราใช้ดีหมดรวมถึงอุปกรณ์ดนตรีต่าง ๆ เรามีอุปกรณ์ดี ๆ ให้เลือกใช้ ไม่ผิดหวังแน่นอนฮะ
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา