‘สงขลา’ แม้ความหวังริบหรี่(?)แต่ซีนอินดี้ยังต้องลุยต่อ

by Montipa Virojpan
2.3K views

ปี 2023 เป็นครั้งแรกที่สงขลา หาดใหญ่ ตรัง และปัตตานี จับมือกันจัดงาน Pakk Taii Design Week ขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมเพื่อนำเสนอศักยภาพความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมของชาวใต้ ซึ่งเรามีโอกาสไปเดินชมนิทรรศการและร่วมงานฉายภาพยนตร์ Singorama Film Festival ที่ตัวเมืองสงขลา งานในปีแรกมีผู้ให้ความสนใจเข้าชมเป็นจำนวนไม่น้อย ทุกหัวมุมตรอกซอกซอยอัดแน่นไปด้วยนักเรียน นักศึกษา และคนกรุงเทพ ฯ ที่ลงไปสัมผัสศิลปวัฒนธรรมของตอนใต้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แต่ตอนนั้นก็ไม่ใช่ครั้งแรกซะทีเดียวที่เราได้ทำความรู้จักกับเสน่ห์ของเมืองเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ ตึกรามบ้านช่องงดงาม และอัดแน่นไปด้วยวัฒนธรรมแห่งนี้ 

ภาพจาก Singorama Film Festival

อดีตเพื่อนร่วมวง—ปัจจุบันเป็นเพื่อนร่วมงาน—ของเราเป็นชาวสงขลาเลยทำให้ได้ยินเรื่องราวของที่นั่นอยู่บ้าง เพื่อนสนิทของเราที่มหาลัยก็มาจากสงขลา ช่วงนี้แหละมั้งที่ทำให้เราได้ซึมซับความเป็นสงขลาจริง ๆ เป็นครั้งแรก เราเดินทางไปยังอำเภอเมืองเพื่อเข้าร่วมงานหมั้นของเพื่อนสนิทคนเดียวกันนี้เมื่อปี 2022 ที่จัดขึ้นบนชั้นสองของ a.e.y.space ตอนนั้นเองที่ทำให้เราได้รู้จักกับ เอ๋—ปกรณ์ รุจิระวิไล นักออกแบบเจ้าของสเปซแห่งนี้ หลังจากนั้นก็ได้เดินเที่ยวไปตามหาดสมิหลา ถนนนางงาม นครใน นครนอก ซึ่งตอนนั้นมีสถานที่ที่เราปักหมุดไว้ว่าจะไปนั่นคือ 22 Nakhonnok Listening Bar แล้วตอนออกมาสูบบุหรี่ก็ได้เจอกับ แอม—พิสุทธิ์พักตร์ สุขวิสิทธิ์ เจ้าของร้าน Grandpa Never Drunk Alone ที่เธอเข้ามาทักเราว่า ‘เราเจอกันที่พะงันหรือเปล่า’ เธอเล่าว่าตอนนั้นได้ไปงาน Summer Sound Festival ช่วงสงกรานต์พอดี พอคุยไปคุยมาจนรู้ว่ามีคนที่รู้จักแวดวงเดียวกัน ที่ช็อกกว่านั้นคือเธอเคยมาดูวง Kunst เล่นที่ Jam เมื่อหลายปีก่อน สืบไปสืบมาคนเหล่านี้คือกลุ่มคนแบบเรา ๆ ไม่กี่คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพยายามจะ ‘Make Songkhla Great Again’ ด้วยการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้กับเมืองนี้ ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ดนตรี ไลฟ์สไตล์ที่พวกเขาไปซึมซับมาจากต่างที่แล้วกลับมาเผยแพร่ที่บ้านเกิด และเผอิญสองคนนี้ก็กลายมาเป็นสองในตัวตั้งตัวตีที่ร่วมจัดงานดีไซน์วีคในปีต่อมา

อย่างที่บอก เรากลับไปสงขลาอีกครั้งเพื่อร่วมงานและทำให้เราได้มีโอกาสได้พูดคุยกับเอ๋และแอมมากขึ้น จนมารู้เรื่องที่น่าตกใจและน่าตื่นเต้นอย่างนึงคือ ใครจะไปคิดว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สงขลาจะเคยมี rave movement อยู่ในช่วงสั้น ๆ มี GA-PI เคยไปเล่นดั๊บ มีวงแจ๊สมาเล่นหน้าพิพิธภัณฑ์ มีงานฉายหนังอาร์ต ฯลฯ เท่าที่ฟังดู สงขลามีแนวโน้มว่าสามารถเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อจากกรุงเทพ ฯ เชียงใหม่ และขอนแก่นได้จริง ๆ ตั้งแต่ตอนนั้น แต่อะไรที่ทำให้สิ่งนี้ไม่ได้รับการสานต่อและค่อย ๆ มอดไปตามกาลเวลา จนเราแทบไม่เคยไม่รู้ว่าสงขลาเคยมีสิ่งเหล่านี้อยู่

สงขลา
แอม (ซ้าย) เอ๋ (ขวา)

เอ๋: ช่วง 2004-2007 สงขลาเต็มไปด้วยชาวต่างชาติเพราะเป็นช่วงเติบโตของธุรกิจน้ำมัน บริษัทฝรั่งเยอะมาก ในสงขลาจะมีถนนชื่อศรีสุดาเป็นแหล่งรวมร้านอาหารฝรั่ง อารมณ์เหมือนถนนข้าวสารที่ไม่ได้เอาไว้รับนักท่องเที่ยวขนาดนั้นเพราะเขามาใช้ชีวิตที่นี่กันจริง ๆ แล้วมันมีความหลากหลาย คือมีตั้งแต่คุณครูสอนภาษา นักบิน วิศวกร อเมริกัน อังกฤษ แคนาเดียน เยอรมัน แล้วก็มีครอบครัวที่เป็นพ่อแม่ ลูกวัยรุ่น ลูกเล็กเป็นโฮมสคูลแต่เด็ก 5-10 ขวบ มารวมตัวแถวนี้กันหมด ดังนั้นเราจะได้รู้จักกับคนต่างชาติที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เยอะ

ตอนนั้น 2004 นานมาก 20 ปีมาแล้ว พี่เอ๋เพิ่งกลับมาสงขลาหลังจากไปเรียนเมืองนอก ที่บ้านเราทำกิจการประมงพ่อก็อยากให้มาช่วย แต่เรายังอยากเที่ยวเล่นอะไรอยู่ แล้วเราก็ดีใจที่สังคมสงขลามันไม่เหมือนเดิม มันเหมือนเป็น multiculture มีคนต่างชาติ ทำให้เราสนุกกับการมีเพื่อนจากที่อื่น ไม่ได้ดัดจริตแต่เหมือนเวลาเราเคยไปอยู่ที่อื่นแล้วเราอยากเห็นความหลากหลาย บ้านพี่เอ๋เคยเปิดร้านกาแฟอยู่ ยุคนั้นเป็น espresso machine 2 หัวเครื่องแรก ๆ ของสงขลา เลยกลายเป็นที่แฮงเอาต์ของเหล่า expat พวกนี้ เราเองก็เลยได้ไปรู้จักกับกลุ่มของอาจารย์ พอเราสนิทก็ชอบไปบาร์กัน ก็ได้รู้ว่าเราชอบฟังเพลงเหมือนกัน

เมื่อก่อนพี่เอ๋ทำงานเป็น art director อยู่ EMI Records คือบริษัท Audio Vision ที่กรุงเทพ ฯ เป็นตัวแทนประเทศไทยของค่ายเพลงต่าง ๆ ข้างในก็มี Virgin, EMI แล้วก็ Capital Records พอเราอยู่ในซีนดนตรีมาก่อนก็รู้สึกว่าพอกลับมาอยู่สงขลา มาเจอคนชอบดนตรี ชอบกินเหล้า ชอบปาร์ตี้เหมือนกัน ก็มีเพื่อนคุย เอาจริงในยุคนั้นคนไทยที่จะคุยเรื่องดนตรีด้วยได้ก็อาจจะไม่ค่อยมี ซึ่งพวกนี้ก็เป็นดีเจ คือการเป็นดีเจของพวกฝรั่งมันเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนเวลาอยู่บ้านไม่จำเป็นต้องเป็นดีเจอาชีพแต่ก็เปิดเพลงได้อะ ก็เริ่มอยากจัดงานหาเงินสนุก ๆ กันเอง

เรารู้จักบาร์แถวศรีสุดาอยู่หลายที่ แต่มีเจ้าของบาร์นึงชื่อคุณจอร์จเป็นคนแก่ชาวอังกฤษ เขาใจดีมาก ก็ชอบที่พวกเรามาแฮงเอาต์กัน เลยคิดว่าจัดปาร์ตี้ที่ร้านเขาสักคืนดีไหม เราจะได้หาเงิน ได้กินเหล้า ได้เปิดเพลงด้วย เราเลยตั้งทีมของเราชื่อว่า ‘Thaifoon’ จัดครั้งแรกในผับที่โรงแรม Royal Crown เป็นแก๊ง 4 คน เพื่อน 3 คนเป็นดีเจหมดเลย มีคนอังกฤษชื่อ Kevin Owen อีกคน Louise Minston มีคนแคนาดาชื่อ Aaron Everingham เราชอบฟังเพลงแต่ไม่ได้เป็นดีเจ ก็เป็นคนคอยจัดการให้มันทำออกมาได้สำเร็จ ช่วงนั้นเป็นดนตรีเต้นรำ เฮาส์ อิเล็กทรอนิกใด ๆ ในยุค 2000 แต่ละคนก็มีความชอบดนตรีคนละแบบกันอยู่แล้ว การจัดงานนั้นก็เหมือนได้รวมแก๊งเพื่อนคุณครู และครอบครัวอื่น ๆ เชิญคนโลคัลหลากหลายอาชีพแถวนั้นมาก็มีคนรุ่นใหม่ ๆ ที่กลับมาอยู่บ้าน เพราะซีนนี้มันไม่เคยมีที่สงขลา 

ด้วยความที่ครูพวกนี้ไม่มีสตางค์ แต่ส่วนใหญ่มันจะมีสไตล์แล้วก็มีอะไรในตัวของมัน มาประเทศเราก็มีแต่ซีดีมันอะ เครื่องเล่น CDJ ก็ยังไม่มีเลย เราก็เลยทำบูธขึ้นมา แล้วเราเปิดจากเครื่องเล่นซีดีธรรมดาแล้วทำที่ครอบไว้ มีหูฟังดีเจมาให้ใส่แต่จริง ๆ มันไม่มีมิกเซอร์เว่ย (หัวเราะ) จัดครั้งแรกประสบความสำเร็จมาก จนผ่านไปอีกประมาณ 6 เดือนมีคนรีเควสต์ขอครั้งที่ 2 มันก็ต้องจัดให้ดีกว่าเดิม จะไม่ใช่หลอก ๆ แบบคราวที่แล้ว เรามูฟไปจัดสถานที่ที่ประหลาดที่สุด คือที่สงขลามีเขาน้อยที่มีลิง ข้างล่างมีเหมือนสถานที่ในยุค 2475 เป็นตึกเก่า มีลาน เป็นสถานที่เต้นรำลีลาศมาก่อนอยู่ริมทะเล สวยมากแต่มันถูกปล่อยรกร้างแล้วส่วนนึงกลายเป็นที่เล่นสนุกเกอร์ เราเลยไปขอเช่าเขาจัด Thaifoon มีเลาจน์ข้างนอก เป็น chillout music เบา ๆ หน่อยก่อนที่จะเข้า dance arena คิดธีมเป็นเหมือนกับชาวประมง เราไปหาแหอวนเก่ามาตกแต่งเพิ่ม พอเริ่มมีเงินนิดหน่อยก็เริ่มมี CDJ จริง ๆ มา มีดีเจรับเชิญเป็นเพื่อนของเพื่อนจากอังกฤษจะมาเมืองไทยพอดี ก็เลยดูเป็นงานขึ้นมาจริง ๆ แต่ว่าขาดทุนย่อยยับ แต่เราก็ทำสนุก ๆ คิดว่าอย่างน้อยคนยุคนั้นก็จำกันได้ว่ามันเคยมีอะไรบ้า ๆ บอ ๆ เกิดขึ้น 

หอศิลป์ สงขลา 2

เราไม่ได้คิดว่าต้องทำแนวนั้นแนวนี้อย่างเดียว เราอยาก explore กับเมืองไปเรื่อย ๆ ประมาณ 2006 เราเริ่มสนิทกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสงขลา มีสนามหญ้าสวยมาก แบ็กกราวด์เป็นตึกจีนที่สวยใหญ่ ก็เลยไปคุยกับ ผอ. พิพิธภัณฑ์ว่าอยากจัดปิกนิกแจ๊สคนนั่งบนหญ้า อารมณ์​บ่าย ๆ เย็น ๆ สบาย ๆ มีบิ๊กแบนด์ดี ๆ ก็เลยคุยกับพี่ปุ๊ที่เป็นสถาปนิกที่สงขลาอีกคน มีพี่แกะเป็นเจ้าของเครื่องเสียงกับพวกระบบ PA ทั้งหมด เราก็ไม่ค่อยมีเงินแต่ก็อาศัยช่วยกันทำ แล้วเขามีแจ๊สแบนด์ภูเก็ตที่ดี ๆ ก็เลยขนพวกนี้มาจัด Songkhla Jazz ครั้งนึง อันนี้ก็ดี อารมณ์ผู้ใหญ่ ๆ คนโลคัลมานั่งปูเสื่อดูกัน 

พอประมาณ 2010 พี่เอ๋ได้รู้จักกับพี่โก๋—นพดล ขาวสำอางค์ ที่เป็นช่างภาพยุค 80-90s ที่มีชื่อเสียงมากแล้วเขาย้ายมาอยู่สงขลากับภรรยา พี่เหมียว—เกล้ามาศ ยิบอินซอย ซึ่งสองคนนี้เขาเคยเปิด About Cafe ที่กรุงเทพ ฯ มาก่อน เขาก็จะอยู่ในทั้งซีนดนตรีและซีนศิลปะ ก็คือมีกลุ่มคนศิลปะแวะเวียนกันมาอยู่สงขลาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว จนพี่เริ่มเปิด a.e.y.space ปีนี้เข้าปีที่ 12 แล้ว เร็วมาก ตอนเริ่มทำ 2012 เมืองเก่าสงขลายังไม่มีอะไรเลยนะ ไม่มีคนมา pick up ทำเมือง ทำตึก เราก็เลยทำก่อนด้วยการเปลี่ยนตึกเก่าให้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ

พอทำมาได้สักพักเลยลองคิดงาน Songkhla Smiley Dub พี่แก๊ป T-Bone ปกติแกมาสงขลาก็จะได้เล่นเร็กเก้ แต่เราคุยกับพี่แก๊ปว่าอยากเห็นพี่อีกเวอร์ชันนึงคือ GA-PI ที่เล่นดั๊บ แกก็บอกเดี๋ยวจะมากับเพื่อนที่ทำหนังทดลองขาวดำ ก็เลยฉาย experimental film พร้อมกับการเล่นดั๊บ เป็นงานที่น่าประทับใจอันนึง คนมาเยอะมาก ซึ่งประหลาดดีอะ อิเล็กทรอนิกดั๊บกับสงขลา คือคนไม่ค่อยรู้จักอะไรแบบนี้หรอก คนมาเพราะอยากดูทีโบน แต่พอเข้าไปแล้วกลายเป็นดนตรีอีกแบบ ถามว่าเหวอไหม ก็เหวอ จำได้ว่าวันนั้นมีคนขอว่า พี่แก๊ปเล่นเพลง ‘กอด’ ได้ไหม แต่พี่แก๊ปเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ด้วยความที่เป็นอาร์ตสเปซเลยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคอนเสิร์ตฮอล เขาก็อยากนำเสนอตัวเขาเองในอีกรูปแบบนึง

ภาพจาก a.e.y.space

ทั้งที่ดูมีอะไรเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แล้วทำไมตอนนี้ถึงหายไป

เอ๋: ในช่วงนั้นเมืองมีการเปลี่ยนแปลก ๆ การมาอยู่อาศัยของกลุ่มคนที่เป็นต่างชาติ อาจารย์ วัยรุ่น เริ่มลดลง เพราะว่าธุรกิจเรือน้ำมันเริ่มสวนทาง เขาปรับงบแล้วในสัญญาก็ไม่ให้ชาวต่างชาติมาอยู่ เปลี่ยนมาจ้างคนไทยมากขึ้นแทน แล้วคนเหล่านี้ก็เลยกลับประเทศไป เขามาอยู่กันแค่ 3 ปี ตอนที่มันเคยมีมันก็ niche มาก คนโลคัลยังไม่ทันได้ adopt สิ่งนี้กันเลย มันเลยไม่ได้ต่อเนื่อง เราก็ขาดกลุ่มก้อน จากปาร์ตี้เราก็เลยลองเปลี่ยนไปทำเป็นแจ๊ส แต่ด้วยความที่มันไม่ได้มีทุนสนับสนุน ซีนดนตรีเลยไม่ค่อยเกิด สุดท้ายก็ไปย่ำที่เดิม ๆ ต้องเป็นดนตรีสดแบบเดิม ส่วนตัวไม่ได้ไม่ชอบดนตรีสด แต่เรารู้สึกว่าอยากลองทำบางอย่างให้เกิดขึ้น เพราะถ้าเราทำแล้วมันจุดติด มันก็จะได้รับการขยายไปโดยคนอื่นด้วย ไม่ใช่แค่เราต้องทำคนเดียว

ปัญหาคือกว่าจะจุดติดก็ต้องใช้หลายคน แล้วต้องใช้เวลาพักนึงเลย

เอ๋: ใช่ครับ จริง ๆ คนเป็นเรื่องสำคัญเลย การที่มีคนเริ่มต้นแล้วก็มีคนสานต่อ แต่นี่ไม่มีคนสานต่อ มีแต่คนรอว่าเมื่อไหร่จะจัด แต่ว่าเราเองก็อาจจะไม่ได้พร้อมขนาดนั้นตลอดเวลา 

แอม: เราว่าคนอยู่แปปเดียวแล้วพอเบื่อเลยย้ายไปอยู่ที่อื่น เขารอเราไม่ไหวเลยรอที่จะอยู่ช่วยไม่ได้ เขาต้องไปทำมาหากินอย่างอื่น 

เอ๋: ทุกคนในซีนตอนนั้น หรืออย่างฝรั่งเองมันก็ต้องทำมาหากิน เขาไม่ได้มาด้วยการมีสตางค์

แล้วอะไรทำให้กลับไปสงขลา มียุคนึงที่พยายามโปรเรื่อง ‘สำนึกรักบ้านเกิด’ เราเป็นแบบนั้นไหม

แอม: แอมกลับมาเพราะโควิด หมดตัว เลยกลับบ้านค่ะ (หัวเราะ) กะว่ากลับมาแปปเดียวเพื่อจะเปิดบาร์แล้วให้ออม (น้องสาว) ดูต่อ แต่ปรากฏว่าล็อกดาวน์ กลับไปไม่ได้ แล้วมันเบื่อ เลยรู้สึกว่าอยากให้มีอะไรแบบที่กรุงเทพ ฯ มี แล้วถ้าไม่มีเดี๋ยวกูทำเอง ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง แค่นั้น ของพี่เอ๋ที่กลับมาคือช่วงต้มยำกุ้งหรือเปล่า

เอ๋: เหย! ไม่ ต้มยำกุ้งน่าจะก่อนหน้านั้นหรือเปล่า แต่พี่เอ๋ไม่ได้มีคำว่า ‘สำนึกรักบ้านเกิด’ เลย พี่เอ๋กลับบ้านเพราะพ่อจะให้กลับมาทำประมงที่บ้าน ไม่งั้นก็ยังอยู่ทำบริษัทเพลงอยู่แหละ

แล้วทำไมทีแรกเขายอมปล่อยให้ไปทำงานในสายดนตรี

เอ๋: เราเป็นคนดื้อกับที่บ้านมาตลอด ดูเหมือนจะไม่ดื้อนะ แม่คิดว่าเรียบร้อยอยู่ในกรอบ เห็นเงียบ ๆ เฉย ๆ แต่สุดท้ายจะมีคำตอบของเราเองว่าเราจะทำอันนี้ แล้วค่อยไปบอกเขาตอนที่เริ่มทำไปแล้ว ตั้งแต่เรียนก็ไม่ได้เรียนอย่างที่บอกเขาหรอก ตอนแรกสอบที่มอ.หาดใหญ่ได้ แม่ก็เข้าใจว่าจะเรียนนี่ สรุปไปแอบสอบ ABAC เพราะไม่ได้อยากอยู่ในพื้นที่นี้แล้ว มันคือความรู้สึกที่ว่าโตแล้วแล้วอยากไปอยู่ที่อื่นก่อน เราไม่รู้หรอก เราไม่ได้แพลนอนาคต แต่รู้สึกว่าเราจะอยู่ที่นี่ที่เดียวไม่ได้

แล้วสรุปได้กลับมาทำธุรกิจประมงไหม

เอ๋: ได้สิ โดนให้ทำอะ ช่วงที่ทำ Thaifoon ก็ช่วยพ่อทำงาน ไปดูเรือประมง ซื้อขายปลา มันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบแต่ก็ยอมทำมาหลายปีกว่าจะออกมาเปิดงานโรงพิมพ์ก็ปีสองพันปลาย ๆ แล้ว โรงพิมพ์เป็นสิ่งที่ทำให้พี่เอ๋มีเงินใช้ พี่เอ๋เรียนกราฟิกมา พอกลับมาสิ่งที่พอจะทำได้มากที่สุดก็คืองานสิ่งพิมพ์ งานออกแบบ ทำงานสื่อ พอมาอยู่สงขลาสิ่งที่หลายคนจะทำกันก็คือรับราชการหรือทำอะไรที่เขาทำกัน ถ้าทำได้คุณก็จะอยู่ได้ แล้วก็เอาเงินนั้นไปทำอย่างอื่นซะ 

ที่บอกว่า ‘ไม่มีคนทำ เดี๋ยวทำเอง’ พอลองทำแล้วผลเป็นยังไงบ้าง

แอม: อย่างร้าน Grandpa Never Drunk Alone ก็สะใจเรานะ แต่ก็เฟลกับผลลัพธ์แหละ อย่างถ้าเกิดคนมา 30 มันอาจจะมีแค่ 3 คนที่มาแล้วเข้าใจว่าเราทำอะไร ที่เหลือคืองงว่า ‘พวกมึงทำอะไรกัน’ กับที่เหลือคือเขามาเพราะรู้สึกว่าที่นี่ต้อนรับคนที่มีความคิดต่าง แต่พอต่างมันก็มีย่อยไปอีก ต่างที่ไม่ได้ชอบแบบเรา ชอบแบบอื่น niche ใน niche ไปอีก ปีแรกจัดงานที่ร้านใหญ่และว้าวมาก หลัง ๆ ฟีดแบ็กคือ ‘พวกมึงทำอะไรกัน’ งานที่จัดที่ร้านเลยดรอปไปเรื่อย ๆ (เอ๋: แอมว่าวงของคนเหล่านี้ไม่ขยายขึ้นเลยหรอ) ไม่เลย คนฟังน้อยมาก จริง ๆ ซีนดนตรีมันดีขึ้นหลังจากโควิดนะ เพราะมีเด็กแก๊งที่ไปเรียนกรุงเทพ ฯ กลับมา ก็มีวงแบบ Desktop Error, Yellow Fang, Death of a Salesman มาเล่น ก็มีคนมาดูบ้าง แต่พอครั้งที่ 3-4 ก็ยากละ คนน้อยลงมาก ๆ เพราะคนกลับกรุงเทพ ฯ ไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม แล้วมันก็ไม่มีพวกซีนอินดี้อีกเลยหลังจากนั้น

สงขลา
ภาพจาก Charif Phorhet ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ สงขลา

เห็นความเหมือนกันของ 20 ปีให้หลัง

เอ๋: เหมือนเดิม กลุ่มคนที่สนใจอะไรแบบนี้มันก็มีปริมาณเท่าเดิม (หัวเราะ) 

แอม: ปกติเวลามีอะไรใหม่ ๆ มาคนก็อยากจะไปดูใช่ปะ แต่คนที่นี่อะ เวลาอะไรใหม่ ๆ มาเขาจะ ‘อะไรวะ’ ชั้นอยากทำเหมือนเดิม ชั้นชอบของชั้นอย่างงี้ ชั้นไม่อยากรับสิ่งใหม่ ไม่พร้อมเข้าใจอะ อย่างตอน Pakk Taii Design Week ปีแรกคนเยอะมากนะ รอดูครั้งที่สองกัน 

เอ๋: แรก ๆ มีงานฉายหนัง แล้วหนังที่เอามาฉาย 90% เป็นหนังอาร์ต ตอนแรกคนที่มาดู คนที่มาล้อมวงพูดคุยก็เยอะ แต่ทำไมทำ ๆ ไปแล้วคนน้อยลง 

แอม: มันน้อยลง แล้วน้อยลงแบบไม่มีรุ่นใหม่มาด้วยนะ มีแต่คนแก่เหมือนเดิมที่ไป เราไม่รู้ว่าเด็กไปเสพอะไรกันแล้วตอนนี้ เราไม่รู้ว่ามหาลัยสาขาศิลปะได้ให้ความรู้ความเข้าใจเด็ก หรือมีการบอกว่าเมืองนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า

เอ๋: สมัยก่อนพี่เอ๋คุยกับมหาลัยตลอดว่าวันนี้เรามีนิทรรศการอันนี้ มีศิลปินแบบนี้มา คุณน่าจะพานักศึกษาศิลปกรรมมา แต่สรุปไม่มา มีอันนึงเป็นภาพถ่ายสถาปัตยกรรมของเบียร์—วีระพล สิงห์น้อย เขามีชื่อเสียงในด้านนี้ ก็ไม่มีมา ขนาดเจาะไปคณะสถาปัตย์แล้ว เหมือนเราเสิร์ฟเขาถึงปากแล้ว แต่เขาเคี้ยวไม่กลืนอะ หรือไม่เคี้ยวด้วยซ้ำ ไม่สนใจ เดี๋ยวเลยนี้ไม่ค่อยเชิญแล้ว 

แอม: แล้วเชื่อไหมว่าการติดต่อมหาลัยไปช่วง Pakk Taii Design Week อะ ไม่ได้อะไรกลับมาเลย แทนที่จะดันเด็กตัวเองออกมา ไม่ดันเลย ช่วงแรก ๆ ที่ร้านแอมยังตกพวกเด็กศิลปะได้บ้าง เพราะช่วงกลางวันขายเหล้าไม่ได้เลยทำเป็นร้านกาแฟ ก็จะเจอเด็กสถาปัตย์ นิเทศ มาบ้างเป็นบางคน แต่พอมันเรียนจบก็แยกกันไปอีกแล้ว เอาจริง ๆ มั้ย เด็กมาเรียนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามี a.e.y.space ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีแกเลอรี่ มาเรียนมหาลัยแต่ไม่ออกไปข้างนอก ไปแต่ร้านน้ำชาแบบเดิม

Singorama Film Festival สงขลา

แล้วอย่างหาดใหญ่ซีนงานสร้างสรรค์เป็นยังไงบ้าง

เอ๋: เราเคยคิดว่าเราตามหลังหาดใหญ่ทุกเรื่องในสมัยก่อนมาตลอดตั้งแต่เด็ก แต่ปรากฏว่าซีนหนังหรืออย่างที่พวกเราจัดกัน หาดใหญ่เขาก็ยังไม่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นแจ๊สในสนามหญ้า เรายังไม่เห็นว่าเขาอยากจะทำอะไรที่แปลกออกไปหรือนอกกรอบออกไปบ้าง แต่เวลาเริ่มมีงานอะไรที่อยู่ที่หาดใหญ่ เราก็ไปซัพพอร์ตเขา เขามาซัพพอร์ตเรา ก็มีกลุ่มอยู่แค่นั้นแหละ

แอม: ร้าน Poco Loco ที่หาดใหญ่ก็เจ้าของเดียวกันกับบาร์ 22 กลุ่มคนที่ตามมาดูก็กลุ่มเดียวกัน ก็ซีนเดิม เหมือนเล่นกันเอง ดูกันเอง จัดกันเอง เป็นร้านเดียวที่ได้เล่นดนตรีแบบที่อยากเล่น ถ้าไปร้านอื่นก็ต้องเปลี่ยนแนว 

ด้วยความต่างทางวัฒนธรรมเลยเป็นส่วนนึงที่ทำให้การรวมกลุ่มทางสังคมไม่ประสบผลสำเร็จด้วยหรือเปล่า

แอม: ก็ด้วยมั้ง มันเป็นความขัดแย้งมาตั้งแต่ตอนสามจังหวัดชายแดนใต้แล้ว มันก็หนักนะ คนแยกอิสลามไทยกันชัดเจน ตอนนี้อาจจะรู้สึกดีขึ้นแต่กลุ่มก้อนของเด็กอิสลามก็ยังอยากอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม จะไปนั่งร้านน้ำชาเดิม ๆ กินข้าว เจอเพื่อนแบบเดิม คือเด็กจะแบกกีตาร์ไปแล้วเล่นเพลงยาวีกัน มันมีแค่ซีนนั้น แล้วเพลงเขาก็ฟังกันอยู่แค่นั้น แต่เราชอบไปนะได้เห็นบรรยากาศแบบนั้น แต่รวม ๆ เราไม่รู้จริง ๆ ว่าเพลงที่เขาฟังกันตอนนี้มีอะไรบ้าง เด็กดนตรีถ้ามันชอบดนตรีจริง ๆ บาร์แอม หรือบาร์ 22 ก็ควรจะมานั่งกันแล้วนะ แต่มันไม่มี

เราไม่รู้ว่าเพราะเขาไม่กล้าเข้ามาหาเราด้วยหรือเปล่า เพราะดูเป็นคนที่ต่าง ดูแต่งตัวแรง ดูพูดจามั่นใจ คนเข้าใหม่อาจจะรู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สำหรับฉันหรือเปล่า คนใต้เป็นคนขี้อายนะแอมว่า ด้วยการพูดสำเนียงใต้ พูดแต่ภาษายาวี บางทีพูดไทยไม่ชัด ฟังรู้เรื่องนะแต่อาจจะติดขัด เขาเลยไม่มั่นใจในการพูดคุยกับคนอื่น (เอ๋: เวลาเดินผ่านเด็กมหาลัยพูดยาวีตลอดนะ ไม่มีใครพูดไทย) เด็กใต้สุดใช้ยาวี เด็กสงขลาไม่ใช้ยาวี แล้วเด็กสงขลาจะถูกส่งออกไปกรุงเทพ ฯ

เอ๋: แต่พี่เอ๋ว่าเด็กมุสลิมเจ๋ง ๆ ก็มีเยอะนะ แต่ทำไมเราไม่ค่อยเห็นเขาเท่าไหร่ เราว่าถ้าศาสนาไม่ได้ไปบล็อกเขามากจริง ๆ เขาน่าจะทำอะไรครีเอทีฟได้เยอะเลย ทั้งดนตรี ศิลปะ การออกแบบ รู้สึกว่าเขาเก่ง (แอม: ซีนปัตตานีดีมากนะ) เสพอะไรก็ดี ๆ

แอม: แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่เคยพยายามนะ ทุกคนเคยผ่านวงพังก์วงร็อกกันมา แล้วพอวันนึงเขาคงไม่มีเงินมั้ง เลยกลับไปเข้าศาสนาเหมือนเดิม

20 ปีที่ทำมาไม่สูญเปล่า: ความพยายามในการจัด Pakk Taii Design Week

ภาพจาก Pakk Taii Design Week สงขลา

แอม: เพราะคิดว่าถ้าจัดแล้วอาจจะมีอะไรกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ในมุมแอมนะหลัง Pakk Taii Design Week พวกผู้ประกอบการในสงขลาพัฒนาขึ้นเยอะ คนเปิดรับมากขึ้น เหมือนเขาเข้าใจว่าธุรกิจเป็นงานศิลปะได้ยังไง หมายถึงว่าการแสดงตัวตนเป็นยังไง ทุกคนดูสนุกมากขึ้นกับการทำธุรกิจ เนี่ย มีร้าน มีบาร์เยอะขึ้น

เอ๋: เรามองว่างานมันค่อนข้างจะแผ่กว้างในแง่การหยิบจับอะไรหลาย ๆ อย่างมาผสมกันได้ เราได้เห็นผู้ประกอบการที่เป็นทั้งอาร์ติสและทำธุรกิจ อย่างที่แอมทำ ‘ลอง Table Food Fest’ ใน Pakk Taii Design Week แอมเป็นอินดี้ที่เขาใจ รู้จักผสมผสาน ตอนนี้ทำแมสไปก่อน หยอดนั่นนี่ไปก่อนบ้าง วันไหนที่เริ่มขยายได้ดีเราค่อยพยายามทำให้อินดี้เรากว้างขึ้น เพิ่ม genre ใหม่ ๆ ให้คนได้เสพ เลยได้เห็นว่าคนใส่ความคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่เขาอยากจะขาย มันก็เป็นงานที่ดีอันนึงที่อาจจะไม่ได้ดูเป็น conceptual มาก ๆ แต่ก็พยายามเดินไปในทาง creative ด้วย ขายด้วย สนุกด้วย

แอม: ผู้ประกอบการได้เจอกัน คนที่มาเสพก็เหมือนได้รู้ว่ามันมีคนแบบนี้ในเมืองนี้ มีร้านที่ทำอะไรแบบนี้ หลังจากนั้นกลายเป็นเทรนด์ของร้านอาหารที่นี่ที่แต่ละร้านมีเมนูออกมาแล้วมันว้าว อยู่ดี ๆ สงขลาก็เริ่มมีความชิกขึ้นมา แต่ละร้านเริ่มจอยกัน มีเวิร์กช็อป ทุกร้านเริ่มคุยกันได้ 

เรามองว่า Pakk Taii Design Week ยังไม่ใช่งานที่นำเสนอศิลปะและการออกแบบเท่าไหร่ แต่มันประสบความสำเร็จในแง่การส่งเสริมธุรกิจชุมชน ที่มันรวมเอาความสร้างสรรค์แล้วก็ความเป็นโลคัลยังไงให้ขายได้ สำหรับคนท้องที่เองด้วยนะ เพราะเมืองนี้มันไม่ได้เสิร์ฟนักท่องเที่ยว ขนาดบาร์ที่มีดนตรีก็เสิร์ฟแต่คนโลคัล ถ้านักท่องเที่ยวที่มาคือคนกรุงเทพ ฯ ที่ยังพอเก็บได้บ้าง แต่คนมาเล ฯ เขาจะไปซอยตัวยู ไปซื้อบริการ

เอ๋: เวลาการทำงานกับหน่วยงานที่เขาเป็นคนอยู่ในกรอบ เขาอาจจะมองทุกอย่างว่าอันนี้ไม่ได้ อันนี้ติด ทีมงานของ CEA (Creative Economy Agency) เขาก็มีความซีเรียสสูง เพราะงั้นเวลาเราทำงานอะไรที่ต้องอยู่ในกรอบซีเรียสตลอดเวลา เราอาจจะไม่จอย แต่ถ้าเราเอาความจอยไปขับเคลื่อนมัน ออกนอกกรอบได้บ้าง ยังไงมันก็สนุก อย่าไปซีเรียสกับการคิดว่าปลายทางต้องเป็นอย่างนี้ เอาจริงตอนเราทำงานเราไม่คิดปลายทางเลยนะ เรารู้สึกว่า process ต้องดีก่อน แล้วต้องสนุกกับมันก่อน ปลายทางจะเป็นไงก็ช่างมัน

แอม: เออ ตอนทำไม่ค่อยคิดถึงภาพตอนท้าย ไม่ว่าจะงานที่เอาดนตรีมาหรืออะไรแบบนี้ ไม่เคยคาดหวัง แต่พอจบงานแล้วมานั่งวิเคราะห์ข้อมูลก็มาเจอว่า ‘คนไม่เก็ตว่ะ’

คิดว่าเรื่อง decentralize จะช่วยได้ไหม กระจายความเจริญจากเมืองหลวงสู่เมืองต่าง ๆ แบบที่เราเคยคุยกับชาวดนตรีเชียงใหม่

แอม: นี่มันยุคอินเทอร์เน็ตแล้ว เด็กมันไม่ต้องเสพอะไรโดยที่ต้องอยู่ในเมืองหลวงแล้ว เขาแค่ยึดมั่นกับวัฒนธรรมที่แข็งแรงรอบข้างเขามากกว่า มันยากนะที่คนคนนึงจะดีดตัวเองออกมาจากคนอื่นเพื่อทำตามสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะถ้าทำ เขาก็จะไม่มีสังคมตรงนี้ เขาเลยเกาะกลุ่มกันไปเรื่อย ๆ มันมีไม่กี่คนหรอกที่มาร้านเราแล้วเป็นเด็ก แต่ที่มาเพราะมันเป็นเด็กที่ไม่มีใครคบ แต่งตัวอะไร ฟังเพลงอะไร ทำไมดูหนังแบบนี้ ซึ่งเด็กพวกนี้จะมาเล่าให้ฟังว่ามันโดนแยกออกมาจริง ๆ พอถึงจุดนึงเราก็เป็นคนบอกให้พวกมันไปกรุงเทพ ฯ ไปเจอผู้คน ไปเจอสังคมที่มันควรจะมี ให้พาตัวเองไปให้สุดแล้วค่อยกลับมา มันถึงจะยืนด้วยตัวเองได้ เราว่าที่เชียงใหม่อยู่เขาได้เพราะมันเป็นเมืองท่องเที่ยว มีต่างชาติอยู่ตลอดเวลา มันเลยเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน 

หรือว่าเราต้องทำให้สงขลาต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่านี้ล่ะ จะได้กลับไปเป็นเหมือน 20 ปีที่แล้ว

แอม: คิดว่าเป็นผลดีนะ แต่ถ้านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาคนอาจจะสนใจ ไม่มีใครอยากแลกเปลี่ยนกับคนไทยด้วยกันหรอก บางคนรู้สึกอยากคุยกับต่างชาติ เขาคิดว่าคงได้ข้อมูลที่เจ๋งกว่า ดูน่าภูมิใจกว่ามั้ง ถ้ายังโลคัลอยู่มันก็จะไม่เป็นแบบที่เชียงใหม่เป็น เพราะมันมีเรื่องศาสนามาครอบด้วย

เอ๋: ด้วยความที่คนโลคัลที่นี่บางทีเขาก็ไม่ได้อยู่ยาวเป็น residence เขาเลยไม่ได้มาใช้ชีวิตแบบนี้ สงขลาเป็นเมืองที่ผลิตศิลปินเยอะนะ ป๊อก Stylish Nonsense ก็ใช่ เขาก็เคยมาเล่นอยู่ พี่แก๊ปหรือใคร มันมีเยอะอะ แต่คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่สงขลาแล้วไง ตอนนี้มีคนนึงเป็นนักดนตรีชื่อน้องต้น วง Wolftone อยู่ Genie Records (แอม: น่าจะเป็นวงอินดี้วงเดียวที่ได้เล่นพุ่งใต้เฟสที่หาดใหญ่ แล้วคนก็งงว่าใครวะ) แล้วจนตอนนี้คนใต้ก็ยังไม่เก็ตนะ บางทีเวลามีงานมันก็เลยจัดเป็นครั้ง ๆ ทั้งที่จริงมันควรจะมีบาร์ที่เล่นดนตรีเป็นสไตล์เฉพาะของตัวเอง แต่เราไม่เคยเห็นไง มีแต่โฟล์กซองที่ Wyoming Pub ที่อยู่มา 30 ปีแล้ว ยังเล่น ‘Zombie’ เหมือนเดิมแล้วคนก็ยังไปนั่งฟังกันอยู่

สงขลา
สงขลา

คิดว่าพอจะแก้ได้ยังไงบ้าง

แอม: ลองมองกลับกันว่าถ้าเราไม่เอาความชิกมาจากที่อื่น แต่ดันซีนดนตรีพื้นถิ่นให้ไปคิกที่อื่นน่าจะง่ายกว่า อย่าง ทำยังไงให้วงแบบมาลีฮวนน่าชิกขึ้นมา หรือวงกางเกงที่เขาชอบ ๆ กัน นี่ยังคิดว่าอยากทำปาร์ตี้กระบะซิ่งด้วยซ้ำไป แต่เปลี่ยนเป็นดนตรีอีกแบบนึง อะ อย่างบอยจ๊อซ ให้มีความร่วมสมัยหน่อย คนเมืองอาจจะเข้าถึงง่าย คิดว่าเราแข็งแรงด้วยวัฒนธรรมมั้ยอะ

เอ๋: จริง ๆ สงขลามีมหาลัยที่สอนดนตรี ดุริยางคศิลป์ตะวันตก พี่เอ๋เอาวงน้อง ๆ พวกนี้มาเล่นที่ a.e.y.space อยู่บ่อย ๆ เพราะเขาไม่มีที่เล่น บางทีวันอาทิตย์เราก็ให้บิ๊กแบนด์ วงแจ๊สเขามาเล่นแถวถนนนางงาม เรารู้สึกว่าบางทีเมืองมันไม่มีอะไร แต่ดนตรีช่วยสร้างบรรยากาศของเมืองได้ด้วยระดับนึง 

เราเคยได้ยินเรื่องดนตรีที่เป็นบรรยากาศของเมือง รู้สึกว่าเมืองนี้ดูดี เดินเห็นตึกสวย แต่ก็ยังขาดอะไรอยู่ ดนตรีมันช่วยได้ แต่คิดว่าต้องมาจากคนท้องถิ่น อย่างที่แอมว่าเอาความเป็นท้องถิ่นออกไปให้ represent ความเป็นสงขลา บาร์ที่เป็น listening bar จริง ๆ อันเดียวก็มีแค่ 22 ซีนดนตรีอื่นเราจะไม่เห็นเลยนอกจากจะมีคอนเสิร์ตริมทะเล เราต้อง normalize มันให้มีความถี่กว่านี้ไม่งั้นมันจะไม่เกิดกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเลย หรือมหาลัยเองจะต้องไม่ได้ให้นักเรียนเล่นแต่สิ่งที่เรียนมาอย่างเดียว ต้องพยายามปล่อยให้มันนอกกรอบบ้าง บางทีเด็กในดุริยางคศิลป์อาจจะไม่ใช่แค่เป่าทรัมเปตหรือแซ็กโซโฟน บางคนอาจจะทำดนตรีอย่างอื่นได้ เราต้องพยายามผลักดันให้เขามาอยู่ในซีนในเมือง 

อย่างงาน Pakk Taii Design Week เองก็ไม่ควรนำเสนอแค่สิ่งที่มีอยู่ แต่ควรผลักดันสิ่งที่รู้ว่าดี แตกต่าง หรือยังไม่เคยขุดออกมา ออกมานำเสนอด้วย ครั้งต่อ ๆ ไป ก็ควรอาจจะเพิ่มบทบาทให้กับดนตรี ปีที่ผ่านมายังไม่ค่อยมี (แอม: พยายามยัดแล้วแต่ก็ไม่มีที่) แต่หลังจากที่คุยกันวันนี้ เราน่าจะเปิดซีนให้กับดนตรีที่มาจากท้องที่ ให้เขาขึ้นมาแสดงความแตกต่าง อย่างตอนนั้นแอมเอา VIPPALAZ TECHNIQUE มาจากหาดใหญ่ ยังมีช่วยเขาดูวงที่มาจากทางใต้แปลก ๆ แจ๊สยะลาอันนึงเราก็อยากเอามา แต่สงขลาเราไม่มีเลย ก็น่าลองดูในสเต็ปต่อไป

สงขลา
ภาพจาก Pakk Taii Design Week สงขลา

แม้จะดูริบหรี่แต่ทั้งเอ๋และแอมก็มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมในการเปลี่ยนแปลงและสร้างสิ่งใหม่ให้กับบ้านเกิดของพวกเขา เพราะทั้งคู่เชื่อว่าการมีพื้นที่ให้กับความคิดสร้างสรรค์และความต่างมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะทำให้เมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้น รอติดตาม Pakk Taii Design Week 2024 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมว่าจะมีอะไรให้เราได้ค้นพบอีกบ้าง ไม่แน่หลังจากที่บทความนี้ออกไป อาจจะมีนักดนตรีสงขลาเริ่มที่จะปรากฏตัวมากขึ้นก็เป็นได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ Pakk Taii Design Week ได้ที่ https://www.facebook.com/pakktaiidesignweek/

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy