Music Lane Festival งาน Showcase ในเมืองโอกินาวาอีกงาน ที่ไม่ได้สร้างโอกาสแค่กับศิลปินญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่พาศิลปินเจ๋งจากทั่วโลกมาเจอกับ Delegates หรือคนที่ในอุตสาหกรรมดนตรีจากทั่วทุกมุมโลกมาเจอกัน ต่อยอดโอกาสเพื่อเติมศิลปินดี ๆ เข้าไปในตลาดโลก ศิลปินไทยหลายวงเองก็ได้โอกาสใหม่ ๆ จากงานนี้เหมือนกัน และปีนี้ไลน์อัพแรกออกมาแล้วก็คือ FORD TRIO, E-san Fusion และ LEMONY
ถ้าใครติดตาม The COSMOS ช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าเราพูดถึงงาน Music Showcase หลายคอนเทนต์มาก ส่วนหนึ่งคือเราอยากให้ศิลปินไทยตามเทรนด์โลกตอนนี้ทัน ว่างาน Showcase สำคัญกับศิลปินทุกคนขนาดไหน
COSMOS Creature วันนี้ เราได้รับเกียรติจาก Ryuji Noda หรือโนดะซัง ผู้จัดงาน Music Showcase Festival จากประสบการณ์ในวงการดนตรีกว่า 40 ปี เขาจะมาย้ำถึงความสำคัญของ Music Showcase และอยากให้ศิลปินไทยมาต่อยอดความฝันของตัวเองที่งานนี้ด้วยกัน
ก่อนจะมาทำ Music Lane Festival โนดะซังเคยทำอะไรมาก่อนบ้าง
ผมมาจากจังหวัดนากาซากิ คิวชู ประมาณ 40 ปีที่แล้วถึงย้ายไปโอกินาวา หลังจากจบปริญญาก็เข้าทำงานในบริษัทเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในฐานะนักเขียน ซึ่งตอนนั้นก็ได้ทำงานเกี่ยวกับดนตรีไปด้วยแม้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน รับบุ๊กกิ้งให้วงใน Livehouse แล้วก็ทำซีดีให้กับวงด้วย
ตอนปี 1983 การบุ๊กวงมาเล่นไม่ได้ง่ายขนาดนั้นถ้าเปรียบเทียบกับตอนนี้ ผมก็เริ่มจากบุ๊กวงศิลปินเดี่ยวจากคันไซก่อน แล้วค่อย ๆ บุ๊กวงดนตรีมาเล่นบ้าง ในญี่ปุ่นตอนนั้นก็เริ่มมีกระแสอินดี้ขึ้นมา ก็เริ่มบุ๊กวงจากจังหวัดต่าง ๆ มาที่โอกินาวา ที่นี่เองก็ไม่ได้มีสถานที่เยอะ ทำให้คนมาปรึกษาผมเยอะมาก ๆ
จนปี 2005 มีโรงหนังแสตนด์อโลนชื่อว่า Sakurazaka Theatre ที่ฉายหนังอินดี้โดยเฉพาะที่อยู่ในโอกินาวา (ถ้าเทียบกันแล้วเหมือน ลิโด, สกาล่า หรือ House Samyan คนญี่ปุ่นเรียกว่า Mini Theatre) กำลังจะปิดตัวลง ผมกับเพื่อน ๆ เลยทำต่อให้พร้อมตั้งบริษัทขึ้นมาบริหาร ก็กลายเป็นผู้บริหารที่นี่ เรากลับมาฉายหนังอินดี้เหมือนเดิมแถมมีร้านกาแฟข้างใน แล้วยังมีอีเว้นต์ดนตรีหรืออีเว้นต์อย่างอื่นด้วย
อะไรคือแรงผลักดันให้โนดะซังลุกขึ้นมาทำ Music Showcase ของตัวเอง
เริ่มจากปี 2014 จังหวัดโอกินาวาเขาสนับสนุนดนตรีพื้นบ้านของตัวเองให้ไปต่างประเทศ เมืองนี้มีดนตรีท้องถิ่นเรียกว่า Okinawa Music อยู่ ตอนนั้นมีเทศกาลดนตรีชื่อ WOMEX ซึ่งรวบรวม world music จากทั่วโลก ผมก็พาศิลปินไปเล่นที่ WOMEX ติดต่อกันสามปี ความตั้งใจคืออยากให้คนทั่วโลกรู้จักดนตรีของโอกินาวา แต่กลายเป็นว่าศิลปินต่างประเทศต่างมาปรึกษาว่าจะเข้าไปในตลาดญี่ปุ่นยังไงดี
นอกจาก WOMEX แล้วก็ได้ไป Showcase อื่นในเอเชียด้วย ทั้ง Sounds of the City Showcase ในประเทศจีน, Zandari Festa ในเกาหลี และ LUCfest ในไต้หวัน ยิ่งไปร่วมหลายงานก็ยิ่งมีคนรู้จักมากขึ้น ตอนแรก ๆ ก็พาแต่วง world music ไปต่างประเทศ แต่งาน showcase ที่ได้ไปเองก็มีวงแนวอื่น ๆ อยู่ด้วย ก็เลยเริ่มพาวงแนวดนตรีอื่น ๆ ไป Showcase บ้าง
ปี 2016 ที่ได้ไป WOMEX เพราะรัฐบาลโอกินาวาซัพพอร์ตด้วย เลยต้องทำรายงานเรื่องนี้ให้กับรัฐบาล จึงจัดเป็นงานสัมมนาพร้อม Music Showcase แต่ในงานนั้นมีแต่วงจากโอกินาวา เลยจุดประกายให้อยากทำงาน Showcase ของตัวเอง
ตอนปี 2018-2020 เลยลองจัดงาน Music Showcase ชื่อ Sakurazaka Asylum แล้วก็จัดงานสัมมนาชื่อ Trans Asia Music Meeting (TAMM) ควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งผมจัดอันนี้ก่อนแล้วเปลี่ยนมาเป็น Music Lane ทีหลัง บริษัทของผมก็ได้บริหาร Oto-ichiba ในเมืองโคซะ ซึ่งเริ่มบริหารตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 เลยอยากให้มีงาน Music Showcase ที่โคซะด้วย แต่มี pandemic เข้ามาก่อนเลยต้องพักไปก่อน ในที่สุด กุมภาพันธ์ 2023 ก็ได้จัดแบบเต็มรูปแบบ ได้ชวนวงดนตรีและ Delegate จากต่างประเทศให้มาร่วมงานครั้งแรก
ภายในงานมีกิจกรรมสนุก ๆ อะไรบ้าง
กิจกรรมในงานจะมี Music Showcase เป็นหลัก และที่ต้องมีคือ 1 on 1 Meeting ให้ศิลปินได้มีโอกาสเจอกับ Delegate จากต่างประเทศ พร้อมจัดปาร์ตี้ก่อนวันเริ่มงานที่เชิญทั้งศิลปินและ Delegate มาเจอกัน และพยายามจัดสัมมนาเกี่ยวกับดนตรีให้ทุกคนฟัง
อะไรทำให้โอกินาวาถูกยกให้เป็นเมืองแห่งดนตรี
เมืองโคซะที่จัด Music Lane ที่ Otoichiba นั้น มีดนตรีพื้นบ้านโอกินาวาคล้าย ๆ กับเพลงลูกทุ่งในประเทศไทยอยู่ และมีสิ่งที่เรียกว่า “Eisa” (เอะอิซา) เป็นการเต้นเฉพาะตัวของคนเมืองนี้ คล้ายการรำวงของไทย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีฐานทัพอเมริกาอยู่ที่เมืองโคซะ และสร้างเศรษฐกิจให้กับเมืองจากทหารอเมริกาที่เข้ามา ซึ่งทหารพวกนี้ก็จะชอบเพลงร็อกก็เลยจัด Livehouse ในโคซะ คนพื้นเมืองเลยได้สัมผัสกับวัฒนธรรม Livehouse แท้ ๆ ด้วยตัวเอง คนโอกินาวาเองก็เริ่มผสมดนตรีพื้นเมืองเข้ากับดนตรีอเมริกา เรียกว่า “Champuru Music” (แชมพูรุมิวสิค) แปลว่า ผสม ๆ กัน โอกินาวาเลยถูกเรียกว่าเมืองดนตรี
ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 4 แล้ว พัฒนาขึ้นมาจากปีแรกตอน 2020 ยังไงบ้าง ในมุมมองของโนดะซัง
สำหรับสองครั้งแรก เราจัดเป็นรูปแบบออนไลน์และเชิญแต่ Delegates ญี่ปุ่นเท่านั้น เพิ่งได้จัดแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกปีนี้เอง เลยอยากนับครั้งต่อไปเป็นครั้งที่ 2 มากกว่าครับ
กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่เราเปิดรับสมัครวงต่างประเทศแบบฟรี ๆ หลายวงที่สมัครเข้ามาก็มีคุณภาพสูงมาก และบางวงก็ได้รับโอกาสจากเฟสติวัลที่ต่างประเทศจริง ๆ เลยทำให้ปีนี้มีคนสมัครเข้ามาเยอะมาก ๆ หลายคนคงเห็นว่าครั้งที่แล้วมันได้ผลจริง ๆ ปีนี้เองก็มีวงไทยสมัครเข้ามาเยอะมากเหมือนกันครับ
ศิลปินไทยและคนไทยเองอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า Music Showcase มากขึ้น แล้วสำหรับคนญี่ปุ่น พวกเขาเข้าใจคำนี้หรืองานรูปแบบนี้ดีแค่ไหน
ก็ตอบได้ไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็อาจจะยังไม่เข้าใจแล้วอาจจะแยกไม่ออกว่า Music Showcase กับ Circuit Festival (งานขายบัตรที่มีหลายเวที) แตกต่างกันยังไง เหตุผลหลักคือที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมี Music Showcase ด้วย มีแค่งาน TIMM ที่โตเกียว แต่งานนี้เน้นวงกระแสหลักหน่อย ไม่ใช่วงนอกกระแสเท่าไหร่ เป้าหมายหลักของ Showcase ก็คือการพา Delegates มาเจอกับศิลปิน แต่ศิลปินญี่ปุ่นเองก็อาจจะไม่ได้สนใจตลาดต่างประเทศขนาดนั้นด้วยเหมือนกัน
ความสำคัญของการมี Music Showcase ในมุมมองของโนดะซัง
ที่สำคัญมากที่สุดคือการที่ศิลปินได้เจอกับ Delegates ตัวต่อตัว ถึงตอนนี้จะเป็นยุคอินเทอร์เน็ตแล้ว จะฟังเพลงของศิลปินคนไหนบนสตรีมมิ่งก็ได้ พร้อมข้อมูลมากมาย แต่ไม่มีโอกาสเลยที่ Delegates เหล่านี้จะได้ดูโชว์ของศิลปินจริง ๆ
ในทางกลับกันการที่ศิลปินเองจะได้พูดคุยกับ Delegates โดยตรงก็ยากมากเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าส่งเมล์ไปแล้วเขาจะอ่าน
ในงาน Showcase เองก็ไม่มีวงดัง ซึ่งทำให้ชวนคนมาดูยาก ขายบัตรยากมากมาก ไม่ว่าจะ Zandari Festa, LUCfest หรือ Bangkok Music City ที่เมืองไทย มันเลยยากที่เรื่องงบด้วยว่าจะทำให้ไม่เจ็บตัวยังไงดี แต่ลำบากแค่ไหน Showcase ก็ยังมีความสำคัญที่จะสร้างโอกาสให้ศิลปินดี ๆ ได้เข้าไปในตลาดต่างประเทศเหมือน Phum Viphurit
ใน Showcase ปกติเราจะไม่ได้ให้ค่าเดินทางหรือค่าตัวศิลปิน แต่ James Minor ผู้ดูแลฝ่ายศิลปินของ SXSW (South by Southwest) เคยพูดว่า Music Showcase คือการลงทุน สำหรับศิลปินก็คือการลงทุน และสำหรับผู้จัดก็ลงทุนเหมือนกัน ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกันสร้างงานให้ Showcase ดึงดูดทั้งคนดูและ Delegates ให้ได้
ในมุมมองของโนดะซัง Music Showcase Festival ขับเคลื่อนซีนดนตรีญี่ปุ่นหรือในเอเชียยังไงบ้าง
ยังไม่ได้ทำอะไรเลย (หัวเราะ) ยังไม่ได้ขับเคลื่อนอะไรเลย เราคงเป็นแค่จุดหนึ่งในซีนดนตรีทั้งหมด แต่ก็อยากให้ Music Lane เป็นงานที่ขับเคลื่อนซีนดนตรีได้เหมือนกัน แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น มันต้องมีศิลปินโอกินาวาที่ดังขึ้นมาจากงานนี้ก่อน ก็อาจจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น ถึงจะทำให้ซีนหรือเมืองโอกินาวาเป็นที่รู้จักมากขึ้น
จินซัง: อย่างวง Otoboke Beaver หรือ envy เองก็ไม่เคยเล่นในงาน Music Showcase เขาอาจจะมีโชค หรือมีความสามารถที่ดีจนออกไปนอกประเทศได้ แต่ไม่ใช่ทุกวงที่ทำได้แบบนี้ วงที่อยากเข้าไปตลาดต่างประเทศแต่ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เราว่าสำหรับวงแบบนี้งาน Showcase สำคัญมาก
โนดะซังมีเกณฑ์ในการเลือกวงไปเล่นที่งานของตัวเองยังไงบ้าง
หลัก ๆ เลยคือคุณภาพของเพลง กับคุณภาพของการเล่นสด มันสำคัญมากที่สุด อีกอย่างหนึ่งคือความเข้าใจต่องาน Music Showcase ว่าไม่ใช่งานดนตรีทั่วไป วงต้องมาเพื่อสื่อสารกับศิลปินและ Delegates ต่างประเทศด้วย ถ้ามาเล่นโชว์อย่างเดียวก็ไม่จำเป็นต้องมางานนี้ก็ได้ ต้องเข้าใจงาน Showcase ด้วย แต่ยังไงคุณภาพของวงก็สำคัญ
ไลน์อัพแรกของงานออกมาแล้ว ช่วยขายวงจากโอกินาวาในไลน์อัพนี้ให้หน่อยว่ามีวงไหนน่าสนใจ
ขอแนะนำสามวงนี้ คือ TOSH เคยเข้าร่วม Music Lane ที่ผ่านมาและได้โอกาสจริง ๆ เขาได้ไปสามเฟสติวัลคือ Playtime Festival ที่มองโกเลีย และ Zandari Festa ของเกาหลี และ LUCfest ที่ผ่านมา ส่วนอีกศิลปินคือ Kinami เขาจบ Berklee College of Music ที่มีแต่คนเก่ง ๆ การร้องเพลงของเขาก็เพราะมาก ๆ ส่วน KACHIMBA COMBO คือตัวอย่างของดนตรี Champuru ที่พูดถึงก่อนหน้านี้ ที่ผสมดนตรีละตินเข้ากับดนตรีพื้นบ้านของโอกินาวา ผมเคยพา WOMEX ด้วย
นอกจากวง TOSH มีตัวอย่างของวงที่ต่อยอดจากงานนี้จนมีชื่อเสียงมากขึ้นเล่าให้ฟังบ้างไหม
ผมเพิ่งจัด Music Lane เต็มรูปแบบครั้งเดียว เลยขอยกตัวอย่างนับจากงาน TAMM ด้วยละกัน ก็มี HOME วงอิเล็กทรอนิกสามชิ้นที่ได้ไป AXEAN Festival กับ LUCfest และ さらさ (ซาระซะ) เสียงร้องของเธอก็เพราะมาก ซึ่งได้ไปเทศกาลดนตรีในเกาหลี และกำลังจะไป LUCfest ด้วย อีกศิลปินคือ Awich (เอวิช) ก็เป็นแร็พเปอร์หญิงที่กำลังดังมาก ทุกคนก็ได้รับโอกาสจากงาน TAMM หรือ Music Lane กันหมด
คำแนะนำจากโนดะซังที่อยากมอบให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ที่อยากมา Music Lane
Delegates ที่ผมเลือกก็จะมีคนที่จัดเฟสติวัลเอง เป็นเจ้าของค่าย หรือคนที่เป็นเจ้าของไลฟ์เฮ้าส์ ผมตั้งใจเลือกคนที่อยากมองหาศิลปินตลอด ถ้าวงของคุณได้เข้าร่วม Music Lane ก็อยากให้พยายามคุยกับ Delegates ทุกคน หรือปรึกษาเลยว่าอยากไปเล่นที่ประเทศคุณ อยากเอาซีดีไปขายที่ประเทศคุณ อยากเข้าร่วมเฟสติวัลของคุณต้องทำยังไง เพราะฉะนั้นถ้าวงของคุณสมัคร Music Lane มาแล้วได้คัดเลือก ก็อย่าปิดโอกาสของตัวเอง
ศิลปินไทยหรือคนในวงการดนตรีไทยอุตส่าห์จ่ายตั๋วเครื่องบินและจ่ายค่าเดินทางเอง ก็อยากให้พยายามคุยกับ Delegates ทุกคน พยายามสร้างโอกาสจากงานนี้ สำหรับวงที่จะสมัครในปีหน้า ตลาดดนตรีญี่ปุ่นเข้ายากหน่อยเพราะต้องมีคอนเน็กชั่นกับทางญี่ปุ่น แต่งานนี้เปิดรับทุกคน ไม่ต้องสังกัดค่ายใหญ่ ไม่ต้องดัง อยากให้สมัครมาและขอให้ทุกคนได้โอกาสจากงานนี้
Music Lane Festival Okinawa 2024 ครั้งนี้จะจัดขึ้นวันที่ 19-21 มกราคม 2567 ที่ Oto-Ichiba เมืองโคซะ โอกินาวา สามารถซื้อบัตรได้ที่เว็บ E-plus
แวะไปเยี่ยมโนดะซังที่โอกินาวาได้ทั้งสองที่คือ Sakurazaka Theatre [Google Map]
ติดตามรอบหนังและอีเว้นต์ของที่นี่ได้ที่ https://sakura-zaka.com/ รวมถึง Facebook, Instagram และ Twitter
และ Oto-Ichiba ใน Music Town [Google Map]
ติดตามอีเว้นต์ของที่นี่ได้ที่ http://otoichiba.jp/ รวมถึง Facebook, Instagram และ Twitter
ขอบคุณ Ginn Sentaro (dessin the world, Faustus) ในฐานะล่าม
สามารถติดตามจินซังได้ที่ dessin the world ที่ Facebook และ Instagram
และวงร็อกสามชิ้น Faustus ได้ที่ Facebook และ Instagram
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา