ท่ามกลาง Live House ที่มีจำนวนมากมายราวกับดอกเห็ดเต็มโตเกียว ‘FEVER’ กลับเป็นที่ที่นักฟังเพลงหลายคนพูดถึงระดับต้น ๆ ด้วยไลน์อัพศิลปินเจ๋ง ๆ มากมายทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะศิลปินไทยตัวจี๊ดทั้งหลายที่แวะไปโชว์ที่นี่กันอย่างไม่ขาดสาย ทั้ง Safeplanet, Zweed n’ Roll และล่าสุด Soft Pine
ไม่แปลกใจที่มันจะยืนเด่นอย่างท้าทายมาได้หลายสิบปี เพราะเบื้องหลังคือการทุ่มเททั้งกายและใจของ Hitoshi Nishimura (ฮิโตชิ นิชิมุระ) เจ้าของ FEVER เขาสร้างที่นี่ขึ้นมาด้วยความรักในการจะได้ดูโชว์ของศิลปินที่เขาชอบล้วน ๆ โดยเชื่อว่า ศิลปินและคนดูต้องมาก่อน Live House ถึงจะอยู่ได้
COSMOS Creature วันนี้ ได้รับเกียรติจากนิชิมุระซังสละเวลามาคุยกับชาว The COSMOS ระหว่างกำลังมาเที่ยวเมืองไทย ว่าการมี Live House เป็นของตัวเองมันสนุกขนาดไหน
เข้ามาทำ Live House ได้ยังไง
ตอนเด็ก ๆ ผมเคยไปดูโชว์ที่ Live House แล้วประทับใจ โตไปก็อยากทำงานที่นี่
วงแรกที่ได้ดู
เป็นวงพี่สาวของเพื่อน เรียกว่า Girl Band เสียดายที่วงไม่ได้แอคทีฟแล้ว
เริ่มทำงานที่ Live House ได้ยังไง
ที่ Live House กำลังรับสมัคร part-time พอดีก็เลยไปสมัครครับ ซึ่งทุกทีจะมีงานอยู่แค่ 2 แบบ คืองานเกี่ยวกับซาวด์ และงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ซาวด์ ซึ่งผมต้องทำทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับซาวด์เลย
ทำอยู่กี่ปี กว่าจะได้เลื่อนเป็นผู้จัดการ
ผมทำงานที่แรกที่ Shelter ตอนอายุ 19 ปี ใช้เวลาประมาณ 4 ปีก็ได้เป็นผู้จัดการตอนอายุ 23 ปี เพราะเมเนเจอร์ที่เคยรับผมเข้าทำงาน part-time ต้องย้ายไปทำงานที่ส่วนอื่นของบริษัท ซึ่ง Shelter เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทใหญ่ที่ดูแล Live House หลาย ๆ แห่ง ผมเลยยกมือว่าอยากเป็นเมเนเจอร์ครับ ก็เลยได้เป็นครับ (ยิ้ม)
พอเป็นผู้จัดการต้องรู้เรื่องซาวด์ไหม
ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องระดับ Sound Engineer ครับ แต่ต้องคุยกับ Sound Engineer ทุกวันว่าวันนี้วงนี้มาเล่น ซาวด์จะต้องออกมาเป็นยังไง
หน้าที่หลัก ๆ ของผู้จัดการคืออะไร
ลองนึกภาพสามเหลี่ยมที่แต่ละด้านที่มีไลฟ์เฮ้าส์ ศิลปินและคนดู หน้าที่ของผู้จัดการคือดูแลทั้งสามด้านของสามเหลี่ยมให้มันสมดุลกัน ทั้งเรื่องโชว์และเรื่องหลังบ้าน ต้องทำให้แฟร์ต่อกันมากที่สุด
ทำไมถึงเลือกมาเปิด Live House ของตัวเอง
ตอนที่ผมเป็นผู้จัดการ Shelter บริษัทก็จะคอยถามว่า อยากไปทำงานตรงส่วนอื่นดูบ้างมั้ย ซึ่งบริษัทมองว่าอายุผมที่มากขึ้นก็ต้องรับผิดชอบงานมากขึ้นไปด้วย แต่ผมชอบงานที่ Shelter มาก เลยออกมาสร้าง Live House ของตัวเองดีกว่า
วงแรกที่เอามาเล่นที่นี่คือวงอะไร
ช่วง soft open ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวงเพื่อน ๆ กันครับ ก็ชวน Moles วง lo-fi สามชิ้นมาเล่น ส่วนตอนที่เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ก็ได้ 200MPH กับ Lostage มา
Live House ส่วนใหญ่ศิลปินจะต้องซื้อบัตรมาขายต่อเพื่อเป็นค่าตัว แต่การแบ่งค่าบัตรที่ FEVER ไม่เหมือนใคร
Live House ทุกที่ในญี่ปุ่นจะแบ่งเป็นวันธรรมดากับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็จะได้เรทต่างกัน ถ้ามีคนมาดูเยอะศิลปินก็จะยิ่งได้ส่วนแบ่งเยอะ ซึ่งเป็นขั้นบันไดไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 30% จนไปถึง 60%-70% ซึ่งศิลปินไม่ต้องไปขายบัตรเอง
จริง ๆ ในโตเกียวเองก็มีหลายระบบ ระบบขายบัตรให้ศิลปินไปขายต่อเองก็ยังมีใช้อยู่สำหรับ Live House ที่เล็กหรือความจุน้อย ซึ่งถ้าไม่ใช้วิธีนี้เขาก็จะอยู่ไม่ได้ หรือศิลปินอยากจัดงานเองแต่ไม่มีเงินเช่า ที่ FEVER เองก็ยังปรับเปลี่ยนระบบตามความต้องการของศิลปินด้วย ว่าระบบไหนโอเคกับศิลปินที่สุด
สำหรับนิชิมุระซัง การจะทำให้ Live House อยู่ได้นาน ๆ ต้องทำยังไง
เรื่องเงินเรื่องกำไรยังไงก็จำเป็นอยู่แล้ว แต่อย่างแรกก็ต้องมีศิลปินดี ๆ มาที่ Live House ของเราก่อน แล้วคนดูจะตามมาเอง ถ้า Live House ให้บรรยากาศการดูโชว์ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร เดี๋ยวเรื่องเงินเรื่องกำไรก็จะตามมาเอง
มีศิลปินคนไหนที่มาเล่นที่นี่ตั้งแต่ยังไม่มีชื่อเสียงจนตอนนี้ดังแล้ว
ถ้าวงที่มาเล่นตั้งแต่ไม่มีชื่อเสียงจนดังแล้วก็ Suchmos จริง ๆ เขามาจากจังหวัดคานากาวะ แต่คนที่โยโกฮาม่าแนะนำให้ผม ซึ่งตอนมาเล่นก็มีคนมาดูแค่ 5-10 คนเอง แต่ตอนนี้น่าจะไปอารีน่าได้แล้ว (ยิ้ม)
ประสบการณ์การทำ Live House มาหลายสิบปี บอกอะไรเราบ้าง
เราต้องมีระยะห่างกับศิลปินให้พอดี ไม่ทำตัวอยู่เหนือกว่าศิลปิน แต่ต้องปฎิบัติกับเขาเหมือนเป็นคนเท่ากัน Live House ไม่ได้ใหญ่กว่าศิลปิน มีศิลปินหลายคนที่ขอคำแนะนำกับผมก็ต้องสื่อสารออกไปอย่างระวัง
วิธีแนะนำศิลปินสไตล์นิชิมูระซัง
เวลาแนะนำจะคิดเสมอว่าเราไม่ได้ถูกต้องทุกอย่าง ผมจะบอกก่อนเสมอว่านี่คือความคิดส่วนตัวของผม แต่ไม่ได้บอกว่าทุกคนคิดแบบเดียวกับผม
เหตุการณ์ใน Live House ที่นิชิมุระซังประทับใจที่สุด
หลังจากเพิ่งทำ FEVER ก็มีวงโปรดของผมชื่อ Hi-Standard ซึ่งเขายุบวงไปแล้ว แต่มือกีตาร์ Ken Yokoyama มาเล่นที่ FEVER ซึ่งเป็นวันแรกที่คนเข้ามาดูเต็ม 300 คน ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ท่อน้ำเสียแตก ออฟฟิศซึ่งอยู่ชั้นล่างก็เต็มไปด้วยของเสีย (หัวเราะ) ซึ่งผมชอบเค็นซังมาก ก็ขอสตาฟขึ้นไปดูซักเพลงหนึ่งละกัน จังหวะที่ขึ้นไปเค็นซังก็กำลังแจ้งคนดูเรื่องห้องน้ำอยู่ แต่พอเห็นผมเขาก็บอกว่า “นิชิมุระซังสู้ ๆ นะ” เป็นเรื่องดีในเรื่องร้ายครับ (ยิ้ม)
ช่วงโรคระบาดที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับทุกคนมาก ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ตอนช่วงแรก ๆ ที่ทั่วโลกเข้าใจแล้วว่าโรคระบาดครั้งนี้คือเรื่องใหญ่ ซึ่งในญี่ปุ่นเนี่ย จุดที่เริ่มระบาดเยอะ ๆ คือเริ่มมาจาก Live House แห่งนึง แล้วสื่อก็เอาข่าวนี้มาลงทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจดนตรีก็เริ่มมองว่า Live House เนี่ยแหละทำให้โรคแพร่กระจาย รัฐบาลญี่ปุ่นก็สั่งปิดหมดเลย ทำให้ FEVER ต้องปิดสามเดือน ตารางโชว์ก็หายไปเลย ต่อมารัฐบาลบังคับให้ Social Distance คนต้องห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร แล้ว FEVER มีแคปแค่ 300 คน ทำให้เข้าได้แค่ 20 คน แน่นอนไม่มีกำไร (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ผ่อนคลายให้คนเข้าได้ 30% 40% 50% ตามลำดับ
แต่เราคิดไว้แล้วว่าเหตุการณ์นี้น่าจะอีกยาว เลยเปิดช่องยูทูปเพื่อรับบริจาคเงินผ่าน Live Session (ในไทยไม่มี) แต่ช่องยูทูปนั้นต้องมีคนติดตามอย่างน้อยหนึ่งพันคน ซึ่งช่องของเรามีไม่ถึง ผมจึงออกแถลงการขอความช่วยเหลือ แล้วก็มีคนมากดติดตามสองหมื่นคนทันทีภายในเวลาไม่นาน (ยิ้ม) จึงรับบริจาคได้
และรายได้อีกทางหนึ่งก็คือ ทำ Merch ของร้านขายเพื่อให้แฟน ๆ ช่วยกันอุดหนุนเพื่อให้ Live House ยังอยู่ต่อไปได้ ลงทุนซื้อเครื่องทำเสื้ออิ๊งเจ็ทเพื่อทำเสื้อขายด้วย
ธุรกิจ Live House ในญี่ปุ่นเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนหลังโรคระบาด
ในความรู้สึกผมไม่ค่อยแตกต่างครับ ที่ญี่ปุ่นมี Live House อยู่เยอะมาก แต่ไม่มีความเป็นคอมมูนิตี้ ทำให้รวมตัวกันไปคุยกับภาครัฐได้ยาก Live House แต่ละแห่งก็ต่างคนต่างอยู่กัน ซึ่งข้อดีคือแต่ละที่ก็จะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่พอต้องการเรียกร้องอะไรก็จะไม่มีกำลังมากพอให้นักการเมืองรับฟัง
FEVER มีวิธีคัดศิลปินมาเล่นที่ร้านยังไงบ้าง
งานที่เราจัดเองจะไม่ค่อยมีเกณฑ์อะไรมาก แต่อย่างที่บอกว่าก็ต้องเลือกวงดี ๆ ไว้ก่อน ผมจะดูแค่ว่างานวันนี้ดีหรือไม่ดี น่าสนใจหรือไม่น่าสนใจ
นิชิมุระซัง ฟังเพลงของวงไทยวงไหนอยู่บ้าง
ช่วงนี้ผมฟัง Soft Pine เพราะพวกเขาเพิ่งมาเล่นครับ (หัวเราะ) จริง ๆ ผมมีร้านกาแฟใกล้ ๆ ชื่อ RR ก็เปิดเพลงไทยวนไปเรื่อย ๆ เพลงที่เปิดบ่อย ๆ ก็จะเป็นของ Stoondio ครับ
ถ้าอยากไปเล่น Live House ที่ญี่ปุ่นต้องทำยังไง
ถ้าอยากมาเล่นที่นี่น่าจะไม่ยาก อยากเล่นที่ Live House ไหนให้ติดต่อไปเลย ถ้าที่นั่นไม่ได้ใหญ่มากก็อาจจะได้รับคำตอบรับง่ายกว่า ถ้าอยากเล่นต่อหน้าคนเยอะ ๆ และอยากให้ได้ผลลัพต์ที่ดี ก็ต้องมีวงญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมาโชว์ด้วย ศิลปินก็ต้องติดต่อวงญี่ปุ่นที่อยากให้มาเล่นโชว์ด้วย ก็จะยิ่งเรียกคนมาดูได้เยอะ
มีคำแนะนำอะไรให้คนที่อยากจะเปิด Live House ของตัวเองบ้าง
การสร้าง Live House ที่ญี่ปุ่นกับที่ไทยก็อาจจะแตกต่างกันนิดหน่อย แต่มันจะลำบากมาก ๆ เหนื่อยมาก ๆ แต่คำแนะนำของผมคือยังไงก็ต้องมี passion แรง ๆ ตอนที่ผมสร้างที่นี่ขึ้นมาก็กู้เงินทั้งธนาคารและรัฐบาลด้วย ประมาณ 96 ล้านเยน (ตีเป็นเงินไทยประมาณ 24 ล้านบาท) ถ้ามี passion ยังไงก็ทำได้ครับ (ยิ้ม) ดีที่ยังไม่ถึง 100 ล้านเยนนะ (หัวเราะ)
Live House FEVER อยู่ตรงข้ามสถานี Shindaita สามารถติดตามไลน์อัพที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ที่ fever-popo.com
หรือติดตามพวกเขาได้บน Facebook, Instagram และ Twitter
ขอบคุณ Ginn (dessin the world, Faustus) ในฐานะล่ามด้วยครับ
สามารถติดตามจินซังได้ที่ dessin the world ที่ Facebook และ Instagram
และวงร็อกสามชิ้น Faustus ได้ที่ Facebook และ Instagram
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา