คุยกับ ท้อป—ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Maho Rasop Festival ที่อยากให้มิวสิกเฟสไทยเป็นมากกว่า ‘งานรื่นเริง’

by Nattha.C
2.1K views

“เราจำได้เลยว่าพอกดส่งอีเมลไปหา Booking Agent หรือเมเนเจอร์วงปุ๊ป เขาหายวับไปเลย” – ท็อปเล่าถึงความยากลำบากในช่วงปีแรกพร้อมน้ำเสียงขบขันเล็กน้อย แต่ภายในระยะเวลา 3-5 ปีให้หลัง Maho Rasop Festival ก็เริ่มเติบโตในฐานะเฟสติวัลที่ใครหลายคนต่างปรบมือต้อนรับ

COSMOS Creature เชิญชวน ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ก่อตั้ง Fungjai มาพูดคุยเกี่ยวกับเทศกาลดนตรีนอกกระแสสัญชาติไทยที่พวกเขาหมายมั่นปั้นมือว่า ‘มหรสพ’ จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของคนรักเสียงเพลงทั่วโลก โดยแปรรูปและมอบประสบการณ์ที่มากกว่าคำว่า ‘งานรื่นเริง’ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจในการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ผ่านบทสัมภาษณ์นี้

ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ก่อตั้ง Fungjai และหนึ่งในสามปาร์ตี้ของ Maho Rasop

มาตรฐานการจัดเฟสติวัล

เราไม่ถึงกับพยายามเซ็ตมาตรฐานใหม่ให้กับวงการเฟสติวัลในเมืองไทยขนาดนั้นครับ แต่ผมอยากให้มองว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องทำออกมาให้ดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะการจัดเฟสติวัลขึ้นมาสักงานหนึ่ง มันคือการลงแรงระยะยาว เหมือนการวิ่งมาราธอนและต้องทำแบบต่อเนื่อง

ทั้ง 3 โปรโมเตอร์ก็มีสไตล์งานและมาตรฐานของตัวเอง รวมถึงประสบการณ์ในการจัดคอนเสิร์ตศิลปินต่างชาติมาก่อนบ้าง แต่เนื่องจาก ‘มหรสพ’ เป็น International Music Festival คราวนี้ถือเป็นชาเลนจ์ของจริงเลย ด้วยสเกลงาน ความใหญ่ของวงดนตรี ข้อจำกัดต่าง ๆ ไปจนถึงเรื่องคุณภาพเครื่องเสียง เวที ไลท์ติ้ง และประสบการณ์ของคนดูที่เรายึดเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก

โดยวัตถุประสงค์หลักของมหรสพคือการดีไซน์ประสบการณ์ และการเปิดมุมมองคนฟังไปพร้อมกับการมอบโอกาสให้วงดนตรี ศิลปินหลายคนในที่นี้อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่มีเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ดี มีแนวดนตรีที่น่าสนใจ เราก็อยากนำเสนอพวกเขา หรือวงต่างประเทศวงไหนที่สามารถดึงมาเล่นในเฟสติวัลบ้านเราได้บ้าง โดยคนดูไม่ต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรมที่พัก หรือก้มหน้ารับบัตรที่ราคาแพงเกินความเป็นจริง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีกำลังทรัพย์หรือ priviledge พอจะบินไปดูถึงเมืองนอกได้

แน่นอนว่าความคาดหวังล้วนมาจากชื่อเสียงของทั้งสามโปรโมเตอร์ โดยเฉพาะปีแรกที่เปิดขายบัตร Blind Ticket แบบไม่เผยชื่อไลน์อัพหรือลงดีเทลอะไรเลย บอกแค่ว่าเป็นเฟสติวัลที่ Have You Heard?, SeenSceneSpace และ Fungjai รวมตัวกันจัด ตอนนั้นถือว่าเสี่ยงมากนะ (หัวเราะ) แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งซื้อบัตรเราด้วยความเชื่อใจ เท่ากับว่ามาตรฐานต้องไม่ต่ำกว่าสิ่งที่เราเคยทำไว้ เขาเลือกเราแล้ว เราก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุดและดีขึ้นในทุกปีครับ

‘มหรสพ’ กับการเป็นสื่อกลางที่ช่วยผลักดันศิลปินไทยขึ้นสู่เวทีโลก

เรียกว่าเป็นสะพานต่อยอดที่ช่วยผลักดันศิลปินที่เรามองเห็นศักยภาพ ความพิเศษหรือความเฉพาะตัวบางอย่างผ่านพื้นที่การแสดงสดละกันครับ แต่มหรสพไม่สามารถการันตีได้ในทันทีว่าศิลปินหรือวงดนตรีจะประสบความสำเร็จในแพลตฟอร์มของเราไหม 

เพราะฉะนั้นเวลาเราเลือกศิลปินไทยมาเล่นในงานมหรสพก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่เราต้องดูเทรนด์หรือส่วนผสมของไลน์อัพในแต่ละปี เช่นเดียวกับศิลปินต่างประเทศ บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่ายังขาดแนวเพลงประเภทนี้อยู่หรือบางวงอาจไม่ได้ตอบโจทย์ในปีนั้นสักทีเดียว เราก็จะใช้วิธีขยับขยายไปปีอื่น ๆ เท่าที่ทำได้

และงานในแต่ละปีจะมีเปอร์เซ็นต์ของชาวต่างชาติเข้ามาประมาณ 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ที่คละกันระหว่างคนดู โปรโมเตอร์ บางคนก็เป็นสื่อในวงการดนตรีที่ทีมมหรสพติดต่อเชิญมา เราก็คาดหวังว่าเมื่อเขาได้มาดูเพอร์ฟอร์แมนซ์ของ Local Artists ก็อาจเห็นอะไรบางอย่างและพาพวกเขาออกไปเล่นนอกประเทศ สุดท้ายจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผมมองว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งผลงานเพลง การโปรโมทผ่านสื่อมีเดีย และการซัพพอร์ตจากกลุ่มผู้ฟังด้วยครับ

DIIV จาก Maho Rasop 2022

ความยากง่ายระหว่างการจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวกับเฟสติวัลที่พ่วงด้วยชื่อศิลปินไม่คุ้นหู

บางวงก็เป็นไปได้ยากมากที่จะทำโชว์เดี่ยวให้ถึงจุดที่คุ้มทุนหรือไม่เข้าเนื้อ การสร้างแพลต์ฟอร์มในรูปแบบเฟสติวัลเลยตอบโจทย์กว่าในแง่ของโอกาสที่เปิดให้วงดนตรีเหล่านี้เข้ามาเล่นเพื่อต่อยอด สร้างฐานแฟนคลับและกลับไปอย่างแฮปปี้ ทีมมหรสพก็เชื่อมั่นว่าหลายวงที่เลือกมามีศักยภาพพอจะมัดใจชาวไทยและชาวต่างชาติได้ อย่าง Oddisee, CHAI, Haru Nemuri ก็เป็นศิลปินที่หลายคนรีเควสให้กลับมาทำโชว์เดี่ยวในประเทศไทย หรือกระทั่งวงที่ประสบความสำเร็จหลังจากมาเล่นในงานแบบ Deafheaven และ Matt Maltese เขาก็กลับมามีคอนเสิร์ตของตัวเอง นับเป็นที่เรื่องน่ายินดีไม่น้อยครับ

เทศกาลดนตรีที่ถูกยอมรับจากเสียงของคนดูและสื่อต่างประเทศ

ถ้านับตั้งแต่ปีแรก สื่อช่วยเราเยอะมากจริง ๆ อย่างปีล่าสุด NME ก็เข้ามานั่งคุยในออฟฟิศกับทีมมหรสพแล้วบอกว่า “คุณแม่งบ้ามากที่กล้าจัดไลน์อัพแบบนี้ เป็นอะไรโคตรที่เพี้ยน” (หัวเราะ) คือถ้าลองกดเข้าไปอ่านบทความรีวิวบนเว็บไซต์ เขาก็จะอธิบายไว้ว่า ไม่ค่อยมีเทศกาลหน้าใหม่ที่กล้าเสิร์ฟไลน์อัพด้วยแนวดนตรีที่ค่อนข้างฉีกและลงลึก หรือท้าทายด้วยชื่อศิลปินแปลก ๆ บนใบประกาศ

เพราะเท่าที่เขาเห็นในตลาดเฟสติวัล โดยเฉพาะเทรนด์ของฝั่งเอเชีย ทิศทางการจับไลน์อัพและแลนด์สเคปของเฟสติวัลมันดูเหมือนกันไปหมด ซึ่งวงที่เราเลือกมามักมีฐานหรือกลุ่มผู้ฟังเฉพาะทาง เช่นเฮดไลน์เนอร์อย่าง Yussef Dayes เขาก็รู้สึกเซอร์ไพร์สและดีใจที่มหรสพยังยืนหยัดในความเป็นตัวตนของเรา เราก็ดีใจที่มีคนเห็นความพยายาม ณ ตรงนี้

ทำไมถึงย้ายสถานที่จัดจาก Live Park Rama9 มาเป็น ESC Park Rangsit ?

ย้ายด้วยความจำเป็นครับ ทั้งปัจจัยในเรื่องเสียงรบกวนและการเจรจาระหว่างเขตกับตำรวจ การหาเวนิวใหม่จึงเป็นเรื่องที่ทีมเราปวดหัวมากในช่วงแรก แน่นอนว่าข้อดีของ Live Park Rama9 คือโลเคชั่นที่เดินทางสะดวก แต่ด้วยความเป็นคอนกรีต มันกลับร้อน และรู้สึกไม่ค่อยผ่อนคลายเท่าไหร่สำหรับ Concert-goers

โจทย์ใหม่คือเราอยากได้พื้นที่สีเขียวเลยมาลงตัวที่ ESC Park Rangsit ทางสถานที่เองก็มีความตั้งใจที่อยากทำให้เวนิวของเขาเป็นสถานที่จัดงาน ในตัวพื้นที่ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงแรม เวคปาร์ค ลานกิจกรรม การเข้าถึงตัวงานก็ถือว่าไม่ไกลจากฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต แต่เรายอมรับว่ามันยังมีจุดอ่อนอยู่เยอะ โดยเฉพาะทางเข้าออกและขากลับจากงานก็ค่อนข้างลำบาก

ภายในปีนี้เราจะพยายามครอบคลุมเรื่องการเดินทางของคนที่ไม่มีรถขับหรือกลุ่มที่เดินทางโดยรถสาธารณะผ่านบริการและแพ็คเกจ Official Maho Rasop Festival Shuttle-Bus เพื่อให้ทุกคนสามารถกลับออกไปได้โดยที่ไม่โดนวินมอ’ไซ หรือแท็กซี่โขกสับค่ามิตเตอร์ รวมถึงขยับวันจัดงานไปเดือนธันวาคมเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องสภาพภูมิอากาศ ผมอยากให้ทุกคนเห็นศักยภาพหรือบรรยากาศของเอสปาร์ค โดยรู้สึกว่ามันคุ้มค่าที่จะเดินทางมาและเข้าใจว่าทำไมเราถึงเลือกพื้นที่ตรงนี้ครับ

Festival and Sustainability

เรื่องความยั่งยืนก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เรานำมาพิจารณาตลอดในแง่ที่ว่าภาพรวมของงานไม่ค่อย Eco Friendly สร้างขยะก็ค่อนข้างเยอะ อย่างเรื่องของน้ำดื่มที่ปกติจัดจำหน่ายเป็นขวด อาจปรับเปลี่ยนให้คนพกแก้วส่วนตัวเข้ามาได้ ผมคิดว่าปีนี้เราค่อนข้างมีเวลาเตรียมตัวกว่าปีก่อน ๆ เหมือนสองปีแรกที่เราเคยหยิบสิ่งของเหลือใช้มารีไซเคิลเป็น Decoration อาจจะไม่ถึงจุดที่ Wonderfruit ตั้งมาตรฐานเอาไว้ แต่ถ้ามหรสพได้เริ่มทำอะไรบางอย่างก็น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีครับ

รัฐบาลไทยกับ Soft Power ด้านอุตสาหกรรมดนตรี

หากเขายังนิยามว่า Phum Viphurit หรือ MILLI ไม่ใช่ดนตรีไทย กระดุมเม็ดแรกที่สำคัญที่สุดก็อาจเป็นการเปลี่ยนตัวบุคคลในหน่วยงานกระทรวงวัฒนธรรมและมุมมองที่เขามีต่อดนตรีร่วมสมัยในบ้านเรา เพราะปัญหาที่ตามมาคือศิลปินเหล่านี้ไม่สามารถยื่นเอกสารขอทุนเพื่อออกไปเล่นต่างประเทศได้ หรือไม่รู้ว่าใครเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงบ้าง เผลอ ๆ พวกเขาโดนปัดตกตั้งแต่แรกและต้องมานั่งจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อแลกกับโอกาสเอง

รองลงมาคือการจัดตั้งคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของแต่ละอุตสาหกรรมและกองทุนรวมเพื่อต่อยอดไปยังการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงการสนับสนุนเฟสติวัลที่เข้าข่ายในการมีศักยภาพ ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือคนในแวดวงดนตรีทั้งบุ๊คกิ้งเอเจนซี่ มิวสิคโปรโมเตอร์ ทีมสื่อข่าว มีเดีย เพื่อให้เขาสามารถอยู่รอดและยืนระยะได้ อย่าง Rolling Loud เป็นเคสที่ชัดเจนมาก แน่นอนว่าการลงทุนมีความสุ่มเสี่ยง แต่ผลลัพธ์ในระยะยาวที่ได้กลับมามันมากกว่านั้นหลายเท่า แถมยังสร้าง Economic Value ให้กับประเทศแบบมหาศาล

เราเองก็แอบคาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ประมาณนึง ทั้งการปลดล็อคพื้นที่ในกรุงเทพฯ ข้อจำกัดของการจัดอีเวนต์ พร้อมกฎหมายที่ส่งเสริมกันอย่างถูกต้องและไร้ช่องโหว่ด้านการคอร์รัปชัน แต่ทีมเราหรืออีเวนต์ออแกไนซ์เซอร์ในหลาย ๆ เจ้าไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลต้องจัดสรรทุกอย่างนะครับ ขอแค่ปรับกฏระเบียบในเรื่องการจัด event ให้มีกฏหมายที่ทันสมัยมาครอบคลุม เพื่อลดปัญหาเรื่องส่วย หรือปรับรูปแบบการขอวีซ่าให้ศิลปินเข้ามาแสดงได้ง่ายขึ้น ฯลฯ เท่านี้ก็ช่วยพวกเราได้มากแล้วครับ

Cornelious จาก Maho Rasop 2022

ฟีดแบ็คของคนดู ศิลปิน และทีมผู้จัดจากปีก่อน

ความท้าทายอย่างหนึ่งของปี 2022 คือเขาโดนเปรียบเทียบกับปี 2019 ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในแง่ของไลน์อัพ เพราะปีนั้นผสมผสานทั้งวงที่ต่างคนต่างรอคอย วงหน้าใหม่ และวงรุ่นใหญ่ที่ไม่เคยมาเล่นในเมืองไทยเลย พอหนึ่งปีหลังประกาศปลดล็อคโควิด บางวงที่เราอยากได้ก็ดันติดคิวที่บุ๊คไว้ก่อนหน้า เขามีความจำเป็นต้องทยอยกลับมาเดินสายเล่นตามงานต่าง ๆ หลายวงเลือกที่จะทัวร์อยู่ในโซนยุโรป-อเมริกาก่อน กลุ่ม Audience ที่เป็นชาวต่างชาติก็น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการคอมเพลนสถานที่จัด การประกาศไลน์อัพช้าที่ช้ากว่ากำหนด และช่วงเวลาการขายบัตรที่ทีมเรายอมรับจริง ๆ ว่ามันมีหลายสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเยอะ

ความน่าตื่นเต้นของการเข้าสู่ขวบปีที่ 4

การเปิดเฮดไลน์ด้วย Interpol ถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่มหรสพเชื่อว่าทุกคนจะแฮปปี้กับไลน์อัพในปีนี้มากขึ้นครับ ทางเราจะพยายามเกลี่ยให้มีความหลากหลายและกลมกล่อมเหมือนเดิม โดยโฟกัสไปที่ตัวงานหลักเพื่อให้หลาย ๆ อย่างโฟลวและเต็มอิ่มกว่าเคย สำหรับคอมเมนต์ต่าง ๆ จากแบบสอบถามกว่าพันชุด เรารับรองว่าจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นทีละสเต็ปตามที่คนดูฟีดแบ็คเข้ามา ขอกระซิบนิดนึงว่ารายชื่อศิลปินชุดแรกที่จะประกาศปลายเดือนมิถุนายน มีหลายวงที่เคยรีเควสหรือตั้งหน้าตั้งตารอคอยกันโผล่มาเซอร์ไพร์สแน่นอน

และสำหรับคนที่เคยมาแล้ว เราก็อยากให้คุณกลับมาอีก หรือใครที่ยังไม่เคยมาสัมผัส ลองเปิดใจและให้โอกาสพวกเราสักนิดนะครับ (ยิ้ม) ผมอยากให้ทุกคนมองว่า Maho Rasop Festival เสมือนเป็นจุดนัดพบที่คนรักดนตรีกลับมาเจอกัน รับประกันความสนุกปลายปีนี้แน่นอน เจอกัน 2-3 ธันวาคมนี้นะครับ

‘Maho Rasop Festival 2023’ เปิดด้วยเฮดไลเนอร์อย่าง Interpol วงร็อกจากอเมริกาที่หลายคนรอคอย พร้อมปล่อยไลน์อัพ Batch แรกเร็ว ๆ นี้พร้อมเพิ่มราคาบัตร จับจองประสบการณ์ระดับโลกด้วยบัตร Early Bird ในราคา 3,990 บาท ซึ่งถูกที่สุดแล้วตอนนี้ ซื้อได้ที่ https://cutt.ly/9wtP89Rg

และติดตามข่าวสารของงานได้ที่ Facebook และ Instagram

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy