กิ-แป๋ง HAVE YOU HEARD? กับภารกิจเนรมิต Maho Rasop ให้เป็นหนึ่งในหมุดหมายเฟสติวัลในฝัน

by Montipa Virojpan
1.6K views
Maho Rasop Ki Pang Have You Heard interview

หลังจาก Maho Rasop Festival 2023 ประกาศ ก็ได้เวลาที่เราจะเตรียมนับถอยหลังต้อนรับการกลับมาของเฟสติวัลประจำปีที่หลายคนรอคอย ที่ปีนี้ได้ Interpol และอีกหลายชื่อใน batch แรกที่กำลังจะมาในเร็ววันนี้ ก็ทำเราตื่นเต้นที่จะได้ดูสด ๆ แล้ว

COSMOS Creature ตอนพิเศษเลยขอชวน แป๋ง—พิมพ์พร เมธชนัน และ กิ—กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ที่ต่างคนต่างเป็นศิลปินคลุกคลีอยู่ในซีนดนตรีมาเป็นเวลานาน และในฐานะผู้จัดคอนเสิร์ต HAVE YOU HEARD? ก็นำวงอินดี้ต่างประเทศมาให้ชาวไทยได้เปิดโลกทางเสียงเพลงกันตลอดสิบปี มาพูดคุยถึงเบื้องหลังการจัดเฟสติวัล การคัดเลือกไลน์อัพ ไปจนถึงความคาดหวังที่อยากให้ทั้งคนดูและเฟสติวัลเติบโตไปพร้อม ๆ กัน และแบ่งปันมุมที่มองแวดวงเทศกาลดนตรีในประเทศเพื่อนบ้านที่คึกคักมากกว่าแต่ก่อน เลื่อนลงมาอ่านกันได้เลย

กิ—กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร และ แป๋ง—พิมพ์พร เมธชนัน ผู้ก่อตั้ง Have You Heard? 
หนึ่งในสามปาร์ตี้ของ Maho Rasop Festival
กิ—กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร และ แป๋ง—พิมพ์พร เมธชนัน ผู้ก่อตั้ง Have You Heard?
หนึ่งในสามปาร์ตี้ของ Maho Rasop Festival

ในฐานะที่จัดคอนเสิร์ตมานาน เห็นความเปลี่ยนแปลงในซีนดนตรีระดับภูมิภาคยังไงบ้าง

แป๋ง: ถ้าย้อนไปสิบปีที่แล้ว อะไรที่ happening จะอยู่ที่สิงคโปร์ เขาก็จะมี Laneway แล้วเหมือนประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีโชว์อะไรเลยตอนนู้น น้อยมาก พวก gig หรือ club show จะยังไม่ค่อยเห็น แล้วก็จะมีแต่วงไทย วงอินเตอร์จะยังไม่ค่อยมี แล้วจะมีเป็นโชว์สเกลใหญ่ เป็นอารีนา แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนไป

ถ้ามองทั้งภูมิภาคก็จะเห็นว่าแต่ละประเทศเริ่มมีเฟสติวัลของตัวเอง มีการแลกเปลี่ยนกันในเรื่องวัฒนธรรมหรือดนตรีมากขึ้น มีวงที่ร้องเพลงภาษาอังกฤษในภูมิภาคเยอะมาก ไทยเองก็เหมือนจะเยอะสุดเลย แต่ถ้าพูดในแง่ผู้บริโภคในกรุงเทพ ฯ เราก็ไม่แน่ใจว่าใหญ่พอหรือเปล่านะ ดูยังเกาะ ๆ กันอยู่ แต่ว่าถ้าในมุมผู้จัดอะ เยอะ คึกคัก อย่างในอินโดนีเซียก็จะมีบาหลี ซีนเขาใหญ่มาก เท่าที่ไปงานที่บาหลีก็สเกลใหญ่กว่าเราเยอะมาก พูดในแง่ของธุรกิจแล้วเขาดูเป็นไปได้กว่าเรา เมืองไทยยังอยู่ในขาที่ต้องไต่อยู่ แต่อินโดคือทะยานไปเลย ตลาดมันเอื้ออำนวย

เล่าให้ฟังหน่อยว่าซีนที่อินโดนีเซียเป็นประมาณไหน

แป๋ง: ที่เคยไปก็จะมีหลาย ๆ แนวในงานเดียวกัน เขาจะมีคนท้องถิ่นเยอะ มีซาวด์พื้นบ้าน คือเขามีความเป็นชาวเกาะก็จะนำเสนอว่า คนมาจากเกาะนี้ คาแรกเตอร์ก็จะแบบนึง ใส่วัฒนธรรมของตัวเองเข้าไปในเพลงเยอะ แล้วเขาก็อินเพลงกัน ฟังเพลงหลากหลายมาก มีคลับซีน เหมือนการไปดูคอนเสิร์ตหรือเฟสติวัลสำหรับคนอินโดมันเป็นไลฟ์สไตล์ที่เบสิกมากเหมือนเป็นงานกาชาด (หัวเราะ) เป็นกิจกรรมที่เขาจะไปรวมตัวกัน มีเพื่อนคนนึงเคยบอกว่าอยากจัดเฟสติวัลที่บาหลี คือถ้ามีเสาร์อาทิตย์นี้ แล้วอีกเสาร์อาทิตย์นึงมีเหมือนกัน ยังไงก็มีคนไป คือไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีคน

พูดถึงซาวด์พื้นบ้านจริง ๆ ของไทยเองก็มีเหมือนกัน

แป๋ง: เราก็มี Tontrakul ที่เคยมาเล่น เขาก็ผสมอิเล็กทรอนิกกับดนตรีไทย หรืออย่าง Rasmee ที่เอาโซล หมอลำ เพลงเขมรมาผสมกัน อย่างวงอินดี้ที่มาจากอีสานเขาจะมีสำเนียงถิ่นของเขา มันก็มีเสน่ห์ดี หรือฝรั่งที่รู้จักแดนซ์ฮอล หมอลำเยอะ เขาก็มักจะได้แรงบันดาลใจมาจากตรงนี้ แต่ถ้าพูดตรง ๆ ก็คือน้อยกว่าอินโดเยอะแหละ แล้วคนกรุงเทพ ฯ เองก็ไม่ค่อยมีรากเพลงอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ส่วนมากก็มาจากอีสานเหนือหรือภาคอื่น ๆ หรืออย่างเราให้ไปทำเพลงลูกทุ่งก็คงงงเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้เกิดมากับสิ่งนี้ มันไม่ใช่รากของเรา

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งคนไทยอาจจะมี mindset ที่พยายามจะหนีรากของตัวเอง เหมือนมองความเป็นไทยเชย ดูโบราณ เราคิดว่าคนไม่ได้ด้อยค่าว่าไม่ดี แต่ไม่ได้ให้คุณค่าเพียงพอ ไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพราะถ้าเรานึกถึงศิลปินเอเชียที่เราให้เขาไปอีกเลเวล ก็จะเป็นเกาหลีกับญี่ปุ่นซะเยอะ แล้วเราก็เลือกที่จะชื่นชมประเทศที่ดูศิวิไลซ์กว่าเรา แต่ถ้าเราดูรอบ ๆ ก็จะเจออินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เราว่า คนแถว ๆ นี้มัน colour เดียวกัน แบบเมื่อสิบปีที่แล้วเราหนีความเป็น colour ของเราทั้งที่จริง ๆ แล้วแถวบ้านมันมีเสน่ห์อีกแบบนึง เรายอมจ่ายให้อีกสิ่งนึงที่แพงกว่า เหมือนกินอาหารญี่ปุ่นเรายอมจ่ายแพง แต่อาหารไทยถ้าต้องจ่ายแพงเราก็จะแบบ ‘อุ๊ย ทำไมแพง’ แต่เราก็ชอบกินอาหารไทยนะ ก็ยังอร่อยอยู่

Maho Rasop อยากจะมีพื้นที่ให้อะไรแบบนี้เหมือนกันนะ ถึงเวลาที่จะเห็นคุณค่าของสิ่งที่มันใกล้ตัวเรามากขึ้น เราไปเล่นที่อินโดแล้วเจอวงมุสลิม เป็นผู้หญิงล้วนเล่นเครื่องดนตรี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผิดกับศาสนาเขาหรือเปล่า เหมือนเป็นคณะลูกทุ่งของเขา มีมา 3 เจเนอเรชัน เล่นเพลงมีความเป็นแดนซ์ฮอล แล้วโคตรเจ๋งเลยเอามาเล่นในเฟสติวัลที่เป็นอินดี้ แล้วก็มีอีกวงที่เป็นวงโฟล์กมาจากเกาะชวา แต่ซาวด์มีความอินเตอร์มากแต่ในขณะเดียวกันก็มีความพื้นบ้านมาก ก็เจ๋งดี ไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้ในกรุงเทพ ฯ

คิดว่ารสนิยมคนไทยเปลี่ยนไปไหม

แป๋ง: เราว่าคนมา Maho Rasop ค่อนข้างเปิด เหมือนปีที่แล้วมี rEmPiT g0dDe$$, Buddha Beat มาจากมาเลเซีย เราเชื่อว่าพวกนี้เวลาอยู่ในไลน์อัพอาจจะไม่มีใครพูดถึง บางทีก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาดูขนาดนั้น เพราะไม่มีคนรู้จักไง แต่พอมาดูที่งานมันก็เป็นประสบการณ์อื่นที่เพิ่มเข้ามา เป็นซาวด์ที่ไม่ใช่ popular music ไม่ได้คุ้นเคยมาก หน้าที่ของ Maho Rasop ก็คือการแนะนำให้คนรู้จัก หาสิ่งที่น่าสนใจจากตรงนั้นมา แล้วคนก็ต้องชอบด้วย

Say So Neon ใน Maho Rasop Festival 2022
Say So Neon ใน Maho Rasop Festival 2022

ทำยังไงให้ซาวด์แบบ South East Asia ไปอยู่ในระดับเกาหลี-ญี่ปุ่นได้ เพราะคนยังทรีตเราเป็น world music อยู่เลย

แป๋ง: ถ้าเราลองฟัง composition เขา มันดูไม่ world music เลยเนอะ มันดูอินเตอร์ อย่าง world music มันจะมีความรากเหง้า afro beat มีความชาวป่าอะไรแบบเนี้ย เหมือนตอนนี้ศิลปินไทยที่ดัง ๆ คนที่ breakthrough ไปในเลเวลแบบนั้นได้ส่วนใหญ่ก็จะร้องเพลงภาษาอังกฤษ ซึ่งทุกคนก็ซาวด์อินเตอร์ด้วยนะ แบบฟังเผิน ๆ ไม่รู้ว่ามาจากประเทศไหน แต่คนไม่ค่อยแคร์ขนาดนั้นมั้งว่าวงมาจากประเทศไทย ถ้าไม่ใช่ญี่ปุ่นหรือเกาหลี เหมือนสองประเทศนั้นจะมีป้ายปักประมาณนึง

แต่คนไทยเราไม่แน่ใจว่าคนอื่นเขามองกลับมายังไง แต่คิดว่าในภาพรวมประเทศไทยตอนนี้ดูคูลขึ้น ถ้ามองในเชิงการเติบโตในระดับภูมิภาค หรือระดับโลกก็ได้ในอนาคต เราต้องเริ่มแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามัน belong กัน อย่างการทำให้ Maho Rasop มีวงจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มันก็เป็นการ marketing ให้กับตัวงานอย่างนึงด้วยว่า เอ๊ย เราเป็นเพื่อนกันนะ เหมือนเราเอาวงเขามา เขาเอาวงเราไป มันเกิดการสร้างคอนเน็กชัน

คิดว่าเฟสติวัลที่ดีควรจะเป็นยังไง และ Maho Rasop ไปถึงจุดนั้นแล้วหรือยัง

กิ: เราว่าคำจำกัดความมันก็ไม่เหมือนกันสำหรับทุกคน แต่สำหรับเราก็คงคิดว่า อยากให้มันเป็นพื้นที่ให้คนได้มาค้นพบอะไรนั่นนี่แหละ ถามว่าถึงจุดนั้นหรือยัง ก็คิดว่าระดับนึงนะ แต่ก็มีอะไรที่เราอยากจะเพิ่มเข้าไปให้ประสบการณ์ของคนมางานมันได้รอบด้านมากขึ้น ก็ต้องอาศัยเงินทุน ถ้าเฟสติวัลโตขึ้น มีคนมาร่วมงานมากขึ้น ยั่งยืนในตัวเองมากขึ้น

ถ้าอย่างนั้น อะไรทำให้ไม่เลือกวงที่คนเห็นชื่อแล้วซื้อบัตรมางานชัวร์ ๆ มาอยู่ในไลน์อัพ

กิ: เราว่ามันมาจาก position ที่เรามองงานนี้ตั้งแต่แรกด้วยว่าไม่ได้อยากเป็นเฟสติวัลที่มี headliner แบบ Coachella เหมือนคนที่ไปงานนั้นเขาจะรู้เลยว่าสิ่งที่เขาคาดหวังได้จากงานก็คือ super big name ที่เขามีทัวร์ของปีนั้น แต่ด้วยความที่เป็นพวกเรา หมายถึงทั้ง Fungjai, Scene Seen Space, HAVE YOU HEARD? เอง เราก็เลือกทำงานกับวงที่มันนอกกระแสนิดนึงอยู่แล้ว พอมาทำเป็นเฟสติวัลเราก็ยังมี identity ตรงนั้น แล้วมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะทำไปในทิศทางที่อยากเอาเงินไปฟาดฟัน ไปทุ่มไปทำอะไรอย่างนั้น มันก็ไม่ใช่เวย์ของเรา

แล้วเราก็อยากให้ Maho Rasop เป็นเฟสติวัลที่คนได้มาค้นพบเพลงใหม่ ๆ ศิลปินใหม่ ๆ มองว่าทุกคนที่มางานแล้วเขาจะได้เซอร์ไพรส์ ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ทุกปี มันก็เลยทำให้เราอยากจะคัดสรรให้ไลน์อัพเรามีทั้งวงที่โนเนมเลย วงอินดี้ที่ดังขึ้นนิดนึง หรือวงเก่า ๆ ที่คนไม่ได้ดูนานแล้ว พยายามให้ส่วนผสมมันลงตัวในเวย์นั้นมากกว่าที่จะหยิบแค่ big name headliner มา

แป๋ง: เราไม่ได้อยากให้มันฮาร์ดคอร์ขึ้น แต่อยากให้มันสำหรับทุกคนมากขึ้น เพราะถ้าเรายิ่งเฉพาะกลุ่มมากขึ้นเราว่าเราเองจะลำบาก จะไปต่อไม่ได้ อยากให้มันสากลมากขึ้น แบบ เฮ้ย ชอบเพลงแนวไหนก็มาจอยได้ อยากให้มันเป็นมิตรในเวย์ของเรา ในที่นี้คือคนก็ต้องเปิดมากขึ้น เหมือนโตไปด้วยกัน เขามางานเราด้วยตัวเขาเอง แล้วไปชวนเพื่อนต่อ ทุกคนเน็ตเวิร์กปากต่อปากไปเรื่อย ๆ

อะไรที่ทำให้เริ่มเอาดีเจเข้ามาในเฟสติวัล

แป๋ง: เหมือนปีที่สองสถานที่มันอำนวยนิดนึง แล้ว HAVE YOU HEARD? ตอนนั้นก็เริ่มทำ HUH? ก็คืองานฝั่งดีเจ ศิลปินอิเล็กทรอนิก ก็เริ่มมีคอนเน็กชันบ้าง แล้วก็เริ่มเห็นว่าตลาดมีการข้ามสายกัน หลาย ๆ คนที่ดูไลฟ์ก็เริ่มไปจอย club music มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังจอยไลฟ์อยู่ ปีที่สองที่เราเริ่มเอาดีเจมามันก็มีความเป็นการทดลองนิดนึง แล้วก็ยังไม่ได้เป็น pure electronic เป็นไลฟ์เซ็ตนิดหน่อย เพราะเราว่าหลายคนที่ตั้งใจมาดูไลฟ์ก็อาจจะไม่ได้เข้าห้องนั้นเลยก็มี เพราะห้องก็ไม่ได้ใหญ่ด้วย แล้วก็มีความเป็นห้องไว้ตากแอร์ (หัวเราะ) ก็มีคนแวะ ๆ มา

เรามองว่าตอนนี้เด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คนโตมากับความหลากหลายในทุกมิติ ทั้งเพลง ทั้งเพศ และอื่น ๆ เราว่ามันก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้ครบทุกอย่างแหละ เราก็คิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ ถ้าคนที่ชอบเพลง มันก็พอจะครอสกันไปมาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นที่รู้สึกได้ คือเราว่ามีหลายคนที่ไม่เคยไป Wonderfruit หรือมีประสบการณ์ club music ขนาดนั้น งานเราเขาก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาด้วยนะ แต่เขาก็ยังแวะมาแบบไหนลองดูซิ แล้วก็มีคนสายคลับเลยซื้อบัตรมาจะดู Boiler Room อย่างเดียว หรือบางคนก็ไม่แวะเลยเพราะมองว่าตรงนั้นหนวกหูมาก (หัวเราะ) มันก็มีหลายแบบ

ตอนนี้เราก็เห็นว่าเฟสติวัลหลาย ๆ อันก็เริ่มจะเป็นแบบนี้ เราก็เหมือนจะผสมไลฟ์แบนด์ อิเล็กทรอนิก อันเดอร์กราวด์ เข้ามาอยู่ด้วยกัน เมื่อก่อนมันดูจะเป็นไลฟ์กับดีเจแยกกัน Coachella ก็มี Primavera ก็มีพื้นที่สำหรับตรงนี้ มันก็เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมาได้จากเด็ก ๆ เนี่ยแหละ

เวที Boiler Room ใน Maho Rasop Festival 2022
เวที Boiler Room ใน Maho Rasop Festival 2022

ส่วนใหญ่คนที่มางานเป็น expat ในไทยกับประเทศรอบ ๆ ไม่ก็คนฟังเพลงจริงจัง มีวิธียังไงจะทำให้คนกลุ่มอื่น ๆ ออกจากเซฟโซนมากขึ้น

กิ: ก็ต้องใช้เวลา

แป๋ง: ต้องมีตัวล่อ ๆ มานิดนึง แบบ คนนี้เล่นดี น่าสนใจ แล้วก็มีแฟนเบสในระดับนึง ในขณะเดียวกันเราก็แบบ เอ้ย เดี๋ยวเขามาดูวงนี้ งั้นขอให้อีกวงที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเล่นก่อนหน้านี้ที่เวทีเดียวกันหน่อยละกัน หาอะไรมาสนุก ๆ มาเหมือนเป็นการจัดไลน์อัพหาส่วนผสม จริง ๆ ก็คิดว่าคนมาเฟสติวัลบางทีเขาก็ซื้อตั๋วมาดูสัก 3-4 วงที่เขาชอบ ที่เหลืออาจจะไม่รู้จักเลยก็ได้ หรืออยากลองทำความรู้จัก ซึ่งเราอาจจะต้องหา grouping ของมันว่า เรามีตัวกลาง ๆ หรือยัง มีตัวยาก ๆ หรือยัง หรือความหลากหลายของแนวเพลงเป็นยังไง อย่างตอนนี้จัดไลน์อัพแล้วขาดตรงนั้นตรงนี้ ต้องคอยถอยออกมาดูตลอดว่า เฮ้ย ไม่มีวงป๊อป ๆ ง่าย ๆ เลยว่ะ มีแต่วงร็อกหมดเลย คอนเฟิร์มไปคอนเฟิร์มมาตอนนี้เทไปทางไหน ก็ต้องบาลานซ์ เพราะเราไม่ได้อยากเป็นเฟสติวัลที่หนักไปอย่างใดอย่างนึง

แต่เราก็ไม่อยากไปปิดกั้นคนที่ฟังเพลงป๊อปหรือเพลงที่อยู่ในกระแสตอนนี้จะมางานเราไม่ได้เลย จะเด๋อ งงไปเลย ก็ไม่ใช่ เราก็อยากชวนเขามา ก็ขอบคุณนะหลาย ๆ ตอนเขามาเขียนคอมเมนต์ว่ารู้จักแค่วงสองวง แต่ตัดสินใจมาด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เพื่อนมา หรืออยากลองเอง เขาก็ได้ impression บางอย่าง เขาอาจจะได้วงที่เขาชอบด้วย แล้วก็ได้ใช้เวลาในเฟสติวัลจริง ๆ ไม่ได้มาดูแค่วงที่ตัวเองชอบแล้วกลับเลย

มองว่าเป็นอุปสรรคไหมที่เฟสติวัลใกล้บ้านก็มีไลน์อัพคล้าย ๆ เรา แต่ตัวที่ทำให้คนตัดสินใจไปงานนั้น ๆ ส่วนใหญ่ก็คือ headliner

แป๋ง: เราว่ามันเป็นเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจและเศรษฐกิจเหมือนกัน ถ้าเรามองมันเหมือนเป็นการ support local business อย่างถ้าคุณหารอะไรออกมาไม่รู้แล้วคุณรู้สึกว่ามันคุ้มที่จะบินไปดู มันก็ได้ แต่ว่าการ support local business มันคือแนวคิดของการใช้เงิน แบบอยากเอาเงินที่มีอยู่ไปจ่ายให้กับอะไรแล้วคิดว่ามันเกิดความยั่งยืน เหมือนบางทีเราไม่ต้องซื้อของที่ถูกที่สุดแล้วคุ้มที่สุดก็ได้ ซึ่งเราคิดว่า เราอยากเชิญชวนทุกคนว่า สิ่งนี้มันเกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นี่ คนไทยสร้างเฟสติวัลนี้ขึ้นมา แล้วถ้ามองความคุ้ม เราไม่สามารถบอกได้ว่ามา Maho Rasop แล้วคุ้มที่สุด เพราะนั่นไม่ใช่จุดขายอยู่แล้ว แต่มันคือการสนับสนุนสิ่งที่ Maho Rasop ทำ แล้วคุณอยากให้สิ่งนี้มีต่อไหม หรือคุณอยากให้มันโตเท่าเฟสติวัลที่คุณชอบไปอันนั้นมั้ย

ทุกบาทคือความยั่งยืนของธุรกิจที่เราต้องการคนสนับสนุน เราไม่สามารถบอกว่า เอ้ย เรายังทำไม่ได้เท่าเฟสติวัลอันนั้น เรายังมีเงินทุนไม่พอ ตลาดยังไม่โตพอให้เราตั้งราคาบัตรแบบที่ประเทศนั้นทำ คนไทยจ่ายไม่ไหว มันมีหลาย ๆ อย่างที่เราต้องมองทั้งทุนของทีมและคนดูด้วยว่าเขาจ่ายไหวหรือเปล่า กลายเป็นว่าพอทุกคนบอกว่า ‘ฉันอยากดูอันนี้ อันนั้น อันนู้น’ มันไม่ได้เป็นไปได้ทุกอันอะ เพราะมันยังทำไม่ได้ มันยังไม่พร้อมหลาย ๆ ด้าน ถ้าอยากบอกทุกคน ก็คำนี้แหละ ‘support local business’ มันเป็นเรื่องของ ecosystem ของธุรกิจที่ดี ถ้าจะมีเฟสติวัลอีก 5 อันในกรุงเทพ ฯ ก็มีไป เราอยากสนับสนุนทุกเจ้าอยู่แล้ว แต่ว่าจะทำยังไงให้มันยั่งยืน ก็พยายามไม่จัดในอาทิตย์เดียวกันไหม ไดเร็กชันที่แตกต่างกันหรืออะไรก็แล้วแต่ รอดไปด้วยกันมันดีกว่า ไม่ได้ต้องดูแบบคนนี้รอด คนนั้นเจ๊ง มันไม่ใช่สิ่งที่ดี

ความยากและความง่ายที่เจอในการจัดงานมาเป็นปีที่ 4

แป๋ง: มันมีเรื่องที่ง่ายขึ้น บางเรื่องแบบรู้ละ สิ่งที่ชาเลนจ์มีแค่ปีนี้มีอะไรที่ใหม่ต่างจากปีที่แล้ว ปีที่แล้วว่าสนุกแล้ว ปีนี้คนก็อยากรู้ว่ามีอะไรใหม่บ้าง เพราะถ้าเป็นเหมือนเดิม คนเดาได้ มันก็น่าเบื่อเนาะ เอาจริงอันนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่ค่อยมีเวลาคิดกันเลย รู้สึกเหมือนกันว่าความเป็นเฟสติวัลมันต้อง offer อะไรที่เป็นวันพิเศษ ตอนนี้ดนตรีมันนำอยู่อะเนาะ ก็ดูว่าเราจะสามารถสร้างกิจกรรมหรือประสบการณ์อะไรอื่น ๆ ในงานได้อีกบ้าง ก็เป็นสเต็ปอีกอันของทีมที่ต้องหากัน ปีแรก ปีสอง ปีสาม มีการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ละปีค่อย ๆ โตขึ้น เรื่องสเปซ เรื่อง performance ของวง ของเวที หรืออย่างเรื่องความยั่งยืน เรื่องขยะเราก็ยังไม่ได้โฟกัสขนาดนั้น มันก็เป็นความรับผิดชอบเล็ก ๆ น้อย ๆ อันนี้ที่ เฮ้ย เราจะเอาคนมา 5,000 คน เราจะมีกำลังในการจัดการ หรือลดขยะอะไรต่าง ๆ หรือทำให้มันดีขึ้นได้ยังไง แบบ CSR ก็เป็น next step เหมือนกัน

อะไรทำให้ Maho Rasop เป็นเฟสติวัลที่คนต้องมาดู

แป๋ง: เราตั้งใจกันว่ามันจะเป็นที่ที่คนจะมาเที่ยวเมืองไทยปีละครั้ง มาเที่ยว Maho Rasop อะไรแบบเนี้ย อย่างไลน์อัพประเทศรอบ ๆ มันก็แชร์ ๆ กัน แต่มันก็จะมีส่วนผสมอะไรที่ต่างกันอยู่ดี เราก็ไปเฟสติวัลมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้เยอะมากแบบไปทุกที่ แต่ก็ไประดับโลกไปจนถึงโลคัล เราว่า Maho Rasop พยายามจะให้มันแตะมาตรฐานระดับโลกให้ได้ ไม่ว่าจะในแง่ของเสียง หรือการจัดการ การอำนวยความสะดวกในงาน เราพยายามทำให้มั่นใจได้ว่าประสบการณ์ของคนที่มางาน ตั้งแต่มาถึงจนจบกลับบ้านมันเรียบร้อยดี ทุกคนมีช่วงเวลาที่ดี ได้ดูวงที่เขาชอบ ปลอดภัย การจัดตารางเวลา ในทีมเราก็จะคิดนั่นคิดนี่ตลอดเวลา คิดกันหนักมากเพื่ออุดรูรั่ว เพราะว่าการทำงานนี้มันก็มาจากประสบการณ์ของทุกทีมที่จัดงานต่าง ๆ มา หรือไปนู่นไปนี่มาแล้วประทับใจ ก็อยากให้มันเกิดขึ้นกับที่นี่ เราใส่ใจทุกรายละเอียดกับตรงนั้น อะไรที่พลาดเราก็พยายามปรับปรุง

อย่างเรื่องเสียงตีกันเงี้ย ปีแรกตีกันนิดนึง ปีสองไม่ค่อยตีกันแล้ว พยายามคิดหาโครงสร้างอะไรมากั้น ปีที่สามตอนแรกก็คุยกันแล้วว่ามันไม่ตีกันแล้วนะ ลองวัดที่อะไรกันมา ปรากฏว่าวันจริงก็ตีกันอีก ปีนี้ก็ต้องลองเลื่อนให้ไกลกว่าเดิม เอาจริงปีนึงมันมีเวลาทดลองแค่ครั้งเดียว จะได้แก้ตัวอีกทีต้องรอปีหน้า ก็ต้องหาทางแก้ไข เอาให้มัน meet standard ให้ได้


‘Maho Rasop Festival 2023’ เปิดด้วยเฮดไลเนอร์อย่าง Interpol วงร็อกจากอเมริกาที่หลายคนรอคอย พร้อมปล่อยไลน์อัพ Batch แรกเร็ว ๆ นี้พร้อมเพิ่มราคาบัตร จับจองประสบการณ์ระดับโลกด้วยบัตร Early Bird ในราคา 3,990 บาท ซึ่งถูกที่สุดแล้วตอนนี้ ซื้อได้ที่ https://cutt.ly/9wtP89Rg

และติดตามข่าวสารของงานได้ที่ Facebook และ Instagram

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy