ฮอน—ณรงค์ฤทธิ์ อิทธิพลนาวากุล (Hon Narongrit Ittipolnavakul) อาจเป็นชื่อที่ใครหลายคนเคยได้ยิน โดยเฉพาะในฐานะฟรอนต์แมนแห่ง Hope the Flowers วงดนตรีโพสต์ร็อกที่เริ่มก่อตั้งด้วยตัวเอง ก่อนจะเบ่งบานและมีการปรับเปลี่ยนสมาชิกไปตามยุคสมัย จนปัจจุบันวงมีอายุร่วมสิบขวบแล้ว
และช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสพูดคุยกับฮอนตามคอนเสิร์ต โซเชียลมีเดีย บ้างก็ร้านกาแฟ Ageha Cafe ของเขาในยามบ่ายแก่ สิ่งที่เรามองเห็นและสัมผัสได้คือฮอนเป็นผีเสื้อหนุ่มนักผสมเกสรทางเสียงที่จับฝันมาขับเคลื่อนชีวิต และหัวใจด้วยความหวังกับทุกบทบาทของเขาในซีนดนตรีนอกกระแส
ตั้งแต่การเป็นศิลปินเดี่ยว, มือเบส, มือกลอง Pink Guns and Floyd Roses เล่นคู่กับ Tommy Hanson, โปรเจกต์เพลงลูปสไตล์แอมเบียนต์ Sounds of Hope ไปจนถึงทีมโปรดักชันอย่าง High Hope House, ผู้จัดงานภายใต้ชื่อ ASiA Sound Space 亞洲聲音收藏計畫 และเจ้าของค่ายเพลง Newlights Production ที่ตอนนี้มีเพื่อนพี่น้องศิลปินอย่าง Noisy Splash, Ziriphon Fireking, Individualist, NUMAN และ Palm Hassaphon ซึ่งบ้านหลังนี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนฮับรวมนักดนตรี เพราะเขาเชื่อว่ายังมีวงดนตรีอีกมากที่แสงสปอตไลท์ส่องไม่ถึง แต่อยากให้ทุกคนลองมอบโอกาส และเข้ามาทำความรู้จักอย่างเปิดใจ
COSMOS Creature วันนี้เราจึงมาพูดคุยเพื่อทำความรู้จักกับฮอนอีกรอบในเรื่องราวประสบการณ์ที่อยู่ทั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านและก่อกำเนิดกลายเป็นเขา ก่อนส่งแรงใจให้ฮอนและเพื่อน ๆ ชาวคณะ Hope the Flowers เดินทางไปเล่นเทศกาลดนตรีริมน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเกาสยง ประเทศไต้หวันอย่างงาน Megaport Festival 2024
อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาฟังเพลงและทำวงดนตรี หรือใครคือศิลปินเพลงกลุ่มแรกที่เราชื่นชอบ?
ส่วนตัวเราเป็นคนที่ชอบดูหนังและเคยเรียนสายภาพยนตร์มา จนได้ทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า มิวสิกสกอร์ หรือเพลงประกอบภาพยนตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์ดูมีมิติและแข็งแรงขึ้นคือเพลงที่ขับเคลื่อนไปตาม Mood & Tone ของหนังอย่างลงตัว เพราะเพลงเหล่านั้นมักไม่มีการชักจูงผ่านเนื้อร้อง และปล่อยให้ผู้ฟังได้จินตนาการความรู้สึกไปตามเมโลดี้และบรรยากาศอย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งวงไทยสายบรรเลงวงแรกที่ได้รู้จักคือ Forget Yourcase พวกเขาเป็นโพสต์ร็อกไทยยุคบุกเบิก ก่อนเรามาเจองานของ 65daysofstatic และ Mono ในภายหลังที่งานน่าสนใจเอามาก ๆ
ความพิเศษของดนตรี “บรรเลง” ที่เรามองเห็นและไม่เคยบอกใคร
ตอนที่เราได้รู้จักกับเพลงบรรเลงเป็นครั้งแรก มันเหมือนตัวเองได้นึกถึงความคิด หรือความรู้สึกบางอย่างที่ไม่เคยนึกถึงมันมาก่อน อย่างการได้หลับตาและปลดปล่อยสมอง ปลดปล่อยใจให้พักผ่อน ซึ่งความรู้สึกของการดูคอนเสิร์ตสายนี้ครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ทำให้เราตัดสินใจทันทีเลยว่าจะเปลี่ยนโรลจากการเป็นศิลปินที่ร้องเพลงมีเนื้อร้องจากวง Hold Me แล้วไปทำวงใหม่ที่เป็นวงโพสต์ร็อกชื่อ Willshare นั่นคือสิ่งที่รู้สึกกับตัวเองไปเรียบร้อยแล้วว่า เราอาจเหมาะกับเส้นทางนี้มากกว่า ด้วยเหตุผลที่เราอยากเริ่มทำงานเพลงให้มีความเป็นศิลปะอย่างอิสระมากขึ้น ศิลปะในเชิงที่ว่าใครจะสามารถตีความเป็นอะไรก็ได้
รู้สึกยังไงเวลามีคนเดินมาบอกหรือส่งข้อความมาว่าเพลงของ Hope the Flowers มอบความหวังและช่วยเยียวยาจิตใจได้
จริง ๆ ช่วงแรกเราไม่มีความมั่นใจเลยว่าเพลงของเราจะสามารถช่วยเหลือหรือเยียวยาใครนอกจากตัวเองได้ไหม เพราะตอนเริ่มทำวง มันเป็นช่วงที่เรากำลังประสบปัญหากับภาวะซึมเศร้า (Depression) และกำลังรักษามันอย่างต่อเนื่อง จึงเลือกทำเพลงจากความเศร้าในห้วงอารมณ์หม่นหมองที่สุดเพื่อเยียวยาตัวเอง รวมถึงคนที่รู้สึกโดดเดี่ยวแบบเดียวกัน แต่หลังจากทำไปได้สองถึงสามปี เรากลับได้พบข้อความจากคนที่ยืนฟังหรือส่งมาให้หลังบ้าน ซึ่งสิ่งที่น่าทึ่งคือพวกเขามักจะบอกว่าเวลาฟังเพลงของเราแล้ว รู้สึกมีอบอุ่น มีความหวัง และอยากใช้ชีวิตต่อ ตัวเราเองก็คาดไม่ถึงมาก ๆ ว่ามันมีอีกมุมมองนึงที่เราไม่เคยคิดมาก่อน หลังจากนั้นเราเลยคิดมาเสมอว่า Hope the Flowers คือความหวังของใครอีกหลายคนที่กำลังหมดหวังในการมีชีวิต
อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ฮอนกำลังทำอยู่คือ Sounds of Hope ในเพลงสไตล์ลูปแอมเบียนต์ ซึ่งขยับขยายไปถึงการซาวด์ดนตรีบำบัดร่างกาย ความคิด และจิตวิญญาณด้วยคลื่นถี่เสียงระดับต่าง ๆ คิดอย่างไรถึงสานต่อโปรเจกต์นี้?
เราเริ่มศึกษาเรื่องการทำงานคลื่นความถี่เสียงว่ามนุย์เราสามารถรู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับสบายกับคลื่นเสียงแบบไหนได้บ้าง ในช่วงเดียวกับที่เราประสบปัญหาการนอนหลับยากมาหลายปีติดต่อกัน ส่วนหนึ่งมันมาจากระบบการทำงานของเราที่ใช้สมองเป็นหลัก จนบางครั้งไม่มันสามารถเลิกคิดเรื่องงาน การครีเอทีฟ หรืออาการแพนิคที่อยู่ในหัวออกไปได้ แต่สุดท้ายเราก็เจอวิธีทำเพลงที่อยากทำให้นอนหลับ และคนที่ฟังเพลงเราอยู่นั้น สามารถนอนหลับได้เช่นกัน หรือหากพูดในเชิงจิตวิญญาณ เรากลับมองว่าสิ่งที่เรากำลังพูดคลอและเล่นอยู่นั้นไม่ได้เกิดจากการจัดวางโดยตรง แต่เกิดจาก ณ ขณะนั้น เรามีความรู้สึกอย่างไรกับตัวเองหรือสถานที่ตรงนั้น
เรามักจะเห็นสิ่งที่เรียกว่า “ความหวัง” ประกอบอยู่ในโปรเจกต์หรือเรื่องราวต่าง ๆ มากมายจากชื่อของ Hon Narongrit อยู่เสมอ แล้วมุมมองส่วนตัวของฮอนที่มีต่อสิ่งนี้มันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
เราไม่เข้าใจอย่างแน่ชัดว่า “Hope” ในตอนแรกมันคืออะไร เพราะที่ผ่านมาเรามักใช้ชีวิตแบบไร้หวังหรือบางครั้งก็คาดหวังเพียงว่าอยากให้มีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นในชีวิต แต่พอเราได้สลัดตัวตนนั้นทิ้งไป และเดินหน้าเข้าสู่หนทางแห่งแสงสว่าง ประกอบการได้เรียนรู้และสัมผัสสิ่งที่ใกล้เคียงกับความเชื่อของพระเจ้า สุดท้ายก็ค้นพบว่ามันคือสัญลักษณ์ที่สำคัญมากต่อการมีชีวิตของเรา
ไม่ว่าฮอนจะเปลี่ยนหมวกไปเป็นใคร หรือรับหน้าที่อะไรก็ตาม สิ่งนี้มันเลยกลายเป็นจุดร่วมที่ผลักดันอยากให้เราทำต่อหรือเปล่า?
เราเคยรู้สึกว่าการเป็นเป็ดที่ไม่เก่งในหมวกใบไหนสักใบ มันอาจเป็นข้อเสียและเรื่องที่ไม่ค่อยดีสำหรับตัวเอง เพราะมันทำให้เราไม่สามารถสร้างตัวตนหรือเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องนึงได้เลย จนก้าวไปสู่การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น จนวันหนึ่งเราเริ่มปลดปล่อยความคิด เหลือไว้เพียง “ความหวัง” และ “ความเชื่อ” เพราะหากเราเชื่อในสิ่งที่กำลังทำมาก ๆ มันก็จะพาเราไปสู่การที่ทำให้ทุกคนเชื่อเหมือนกับที่เราเชื่อมัน ซึ่งไม่ผิดเลย ถ้าเราอยากทำอะไรหลายอย่างเต็มไปหมด
โดยเฉพาะกับซีนโพสต์ร็อกไทยที่ฮอนได้ใช้เวลาอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของวงการดนตรี สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคืออะไร และสิ่งใดที่เราอยากเห็นมันเปลี่ยนแปลงสักที?
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ วัฒนธรรมการเสพย์ดนตรีประเภทนี้ของคนรุ่นใหม่ เรียกได้ว่าเมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่ามันเป็นซีนดนตรีเล็ก ๆ ทุกอย่างคือความเงียบนิ่งและสุขุม ทุกคนอยู่ในวงกลมและความคิดของตัวเอง แต่ถูกส่งต่อพลังให้กันอย่างคาดไม่ถึง ค่อนข้างตรงข้ามกับยุคปัจจุบันที่มันมีความกล้าแสดงออกทางความรู้สึกมากขึ้น สนุกสนาน เฮฮา อย่างการที่คนเริ่มเอนจอยกับดนตรีประเภทนี้ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น แต่เราก็ยอมรับว่ามันอาจไม่ได้แข็งแรงเท่าเมื่อก่อน ซึ่งมันเป็นบทพิสูจน์เหมือนกันว่ามันจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้จริง ๆ หรือไม่ หรือมันจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีหรือแย่ลง
นอกเหนือการเป็นศิลปินเดี่ยวและนักดนตรี ฮอนยังมีค่ายเพลงของตัวเองในชื่อ Newlights Production ที่ตอนนี้มีศิลปินประมาณ 5-6 รายชื่อแล้ว จัดการยากไหม?
การจัดการค่อนข้างยากพอสมควรครับ เพราะเราเองก็ทำทั้งฝ่ายออแกไนเซอร์ โปรดักชัน และคอนเทนต์ มันต้องแยกหัวออกมาหลายหัวมาก ว่าสิ่งใดควรทำก่อนหรือหลัง และทำเมื่อไหร่ แต่ยังมีความง่ายผสมอยู่บ้าง อย่างเช่น การที่ทุกวงในค่ายเรา ส่วนใหญ่มักทำเพลงขึ้นเดโมด้วยตัวเอง จัดการโชว์ด้วยตัวเอง ยกเว้นตัวมิวสิกวิดีโอ การทำโปรไฟล์วง หาอีเวนต์เล่น รวมถึงงานไฟนอลมิกซ์เพลง แต่โดยรวมคือแฮปปี้กับสิ่งนี้มาก เพราะมันคือดนตรีในเส้นทางเดียวกันและใกล้เคียงที่สุดเท่าที่พอรวมเป็นคอมมิวนิตี้ขึ้นมาได้
เล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนพาศิลปินในค่ายอย่าง Palm Hassaphon และ Ziriphon Fireking ไปเล่นที่ฮ่องกงเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง
ตอนนั้นเราตื่นเต้นกับทุกคนในค่ายมาก เพราะว่ามันคืองานที่จัดโดยรัฐบาลฮ่องกง ว่ากันตามตรงมันค่อนข้างใหญ่สำหรับเราตรงที่ เราไม่เคยทำงานร่วมกับรัฐบาลไหนมาก่อนเลย สิ่งที่ยากสำหรับเราคือการ Booking และจัดการเรื่องเอกสารต่าง ๆ รวมไปถึงการสื่อสารงานที่นั่น แต่พอไปถึงทุกอย่างดีมาก ตั้งแต่รถทัวร์ที่ไปรับส่งศิลปินทุกวงเพื่อเดินทางไปพร้อมกัน และการทำงานที่เป็นระบบระเบียบ เพราะมันยิ่งทำให้เราได้สานสัมพันธ์และแลกคอนแทคกับวงอื่นได้ด้วย รวมถึงมีที่พักระดับ 5 ดาว และเงินติดตัวให้ใช้ประมาณวันละ 1,000 Dollar ทั้งหมด 3 วันคือคุ้มค่า และอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ค่าอาหารและค่าครองชีพในฮ่องกงสูงมาก ซึ่งปาล์มก็ได้รับรางวัลมือกีตาร์ยอดเยี่ยมกลับมา เราต้องขอยกเครดิตให้ศิลปินในค่ายและ Vin จากวง TFAP Post-Rock จากประเทศไต้หวันที่ช่วยพาเรามาถึงที่นี่ได้
ทัวร์ไต้หวันก็ผ่านมาแล้วหนึ่งอาทิตย์ แถมสิ้นเดือนวงเราก็กำลังจะกลับไปเล่นใ Megaport Festival เทศกาลดนตรีที่เป็นเป็นหนึ่งในฝันใหญ่ ทัวร์รอบนี้จุดประกายอะไรบ้าง หรือมีเหตุการณ์โหดมันส์ฮาอะไรที่อยากเล่าให้ฟังหรือเปล่า
มีเรื่องตลกอยู่เรื่องนึงที่ชอบเล่าให้เพื่อนที่ไต้หวันฟัง คือเราเคยไปที่จิ่วเฟิ่นแล้วนอนหลับตาฝันว่าตัวเองตื่นมาเป็นคนไต้หวัน ใช้ชีวิตในไต้หวัน มันเป็นความรู้สึกว่า เราควรเกิดมาเป็นคนไต้หวัน (หัวเราะ) แล้วทุกคนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ใช่! คุณเหมือนคนไต้หวันมาก ทั้งรสนิยมการฟังเพลง การใช้ชีวิต ลักษณะนิสัยที่สัมผัสได้” โดยการมาไต้หวันรอบที่ 5 บวกกับการทัวร์เป็นรอบที่ 2 ซึ่งห่างจากครั้งแรกเมื่อ 6 ปีกว่า มันทำให้เราตกผลึกความคิดบางอย่างได้เช่น วงเรามีสไตล์เพลงที่คล้าย ๆ บ้านเขา ท้ังกลิ่นอายและบรรยากาศที่ใกล้เคียงกัน และก็ค้นพบว่าเราเติบโตขึ้นมากจากแต่ก่อน จำนวนคนดูก็เยอะจนน่าตกใจ เยอะจนเราคาดไม่ถึง และทุกคนในวงเองก็แฮปปี้มาก เหมือนเรากำลังเดินอยู่ในเส้นเรื่องของมังงะที่คอยทำเควส สะสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ ระหว่างทางก็ได้เพื่อนใหม่ๆ ตามเส้นทางที่พาไปเจอเพื่อนชาวไต้หวันเต็มไปหมด
และเรื่องโหดมันส์ฮาของการทัวร์รอบนี้ คงหนีไม่พ้นกับการที่เราไปเล่นโชว์แรกที่ Liveware House ที่เมืองเกาสยง เราทำการบ้านอย่างดีในเรื่องของการเตรียมตัวแปลงไฟ 220v มา 110 จึงได้ทำการสลับและเสียบไปยังปลั๊ก แต่! ช็อคมาก ยังไม่ได้ทันเริ่มโชว์แรก ตัวจ่ายไฟก็พังทันที เพราะด้วยความที่ต่างคนต่างหวังดี (หัวเราะ) ฝั่งเขาดันเตรียมตัวแปลงไฟจาก 110v มาเป็น 220v ให้เราแล้ว จังหวะชุลมุนสุด ๆ จนต้องเล่นเท่าที่มี (ซึ่งปกติก็เล่นประมาณนี้) โชคดีที่เพื่อนชาวไต้หวันช่วยกันตระเวนหาอะไหล่มาซ่อม จนสุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี
ส่วนเทศกาลดนตรี Megaport Festival นับเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับ Hope the Flowers คือเราไม่คาดคิดว่าจะได้รับโอกาสนั้น พูดไปก็น้ำตาคลอไป และมันยังเป็นเป้าหมายของใครหลายคนอีกด้วย ทั้งศิลปินยันคนดูที่ตั้งตารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ เพราะเมกาพอร์ตเป็นงานดนตรีงานใหญ่ประจำปีของเมืองเกาสยง บัตรเข้างาน Sold out ภายในหนึ่งชั่วโมง โรงแรมในละแวกใกล้เคียงก็ถูกจองจนเต็มภายในสามวัน เรียกได้ว่าถ้าวงดนตรีไหนได้เล่น คือสามารถไปขิงเพื่อนได้เลยว่า “เห้ย ฉันเคยไปเล่นงานนี้มาแล้วนะ” (หัวเราะ)
กลับมาที่บ้านเรา ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของงานที่ทางทีม ASiA Sound Space เคยจัด คือคอมมิวนิตี้ในตัวมันเอง ที่แม้จะเป็นกลุ่มตลาด Niches แต่มันก็ทำให้เราเห็นว่าดนตรีแนวนี้มีดี อย่างงาน Post-Loop เป็นงานสเกลใหญ่ในพื้นที่ขนาดกะทัดรัด และยังเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ฮอนคิดว่าอะไรคือ Concept และ Reward ของการได้จัดงานหรือสนับสนุนศิลปินเล็กใหญ่?
แน่นอนว่า สิ่งที่เราได้กลับมาอย่างแรกก็คือ Connection และการต่อยอดของวงดนตรีต่าง ๆ รวมไปถึงกลุ่มคนดนตรีและคนฟังที่ชอบแนวนี้ เพราะตัวเราเองก็หวังว่า ซีนดนตรัมันจะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนรวมตัวช่วยซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน คล้ายกับซีนดนตรีฮาร์ดคอร์ในบ้านเราตอนนี้ อย่างวง Whispers ที่สร้างผลงานกันมานานตรกว่ามันจะมาถึงจุดที่มีกลุ่มคนดูที่ชัดเจน จับต้องได้ และเพียงพอที่จะเลี้ยงชีพตัวเองได้บ้างกับเส้นทางสายดนตรีที่ตนเองชอบและถนัดที่สุด
อยากฝากอะไรกับคนที่กำลังเริ่มทำในสิ่งที่เราพยายามทำอยู่และทำต่อไปหรือเปล่า?
อย่าเพิ่งหมดหวังครับ จงมีความหวังในสิ่งที่ทำ สิ่งที่ลงมือ สิ่งที่ตัวเราเป็น มันอาจจะไม่ใช่เส้นทางที่เรียบง่าย สวยงามมากนัก แต่มันจะค่อย ๆ หล่อหลอมจนกลายเป็นแขนขา เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจนทำให้ตัวเองสามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน หรือถึงจะไม่แข็งแรงที่สุด มีอ่อนล้า ท้อแท้ หรือเจ็บตัวบ้าง แต่เชื่อเถอะ มันคุ้มแล้ว กับการมีชีวิตที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองชอบได้ดีที่สุด
อ่านต่อ คุยกับ VVAS ถึงการเปลี่ยนผ่านมาเป็นวง post-punk และอัลบั้มใหม่ของพวกเขา ‘Eyesore’
แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist