Bangkok Design Week มีไปทำไม? ตอบชัด ๆ โดยตัวกลางผู้จัด CEA

by The COSMOS
1.7K views
Bangkok Design Week

อันที่จริงแล้ว The COSMOS ตั้งใจจะนำเสนอเรื่องราวของโครงการล่าสุดของ CEA อย่าง ‘Music Exchange’ ที่เฟ้นหาศิลปินไทยน่าจับตามองมาโชว์เคสสลับกับศิลปินจากเกาหลีและไต้หวัน โดยปล่อยไปบ้างแล้วทั้งบทสัมภาษณ์ของศิลปินต่าง ๆ กลุ่มคนสร้างสรรค์ รวมถึงวิดีโอบรรยากาศ ซึ่งทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้นในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ ฯ หรือ Bangkok Design Week ปีล่าสุด

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้โครงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนดนตรีเห็นจะไม่พ้นเสียงตอบรับจากหลายภาคส่วนที่ปีนี้จะเผ็ดร้อนกว่าทุก ๆ ปี มีหลายเสียงที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อันที่เดือดสุดเห็นจะเป็นต้นโพสต์ที่เปิดมาด้วยย่อหน้านี้

“งาน Bangkok Design Week สำหรับเรามันมีปัญหามาตั้งแต่แรกเริ่ม ตั้งคำถามมาตลอด ว่างานนี้มันจัดทำไม จัดเพื่อใคร จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคืออะไร มันดูเป็น Solution looking for a problem ตลอดเวลา”

COSMOS Creature คอลัมน์ที่ให้โอกาสคนเบื้องหลังเจ้าของมันสมองและฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ลงมือทำเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสำหรับทุกวงการสร้างสรรค์ มาบอกเล่าเบื้องหลังการทำงาน และอุปสรรคที่พวกเขาต้องเจอ และสำหรับงานนี้คนที่จะให้คำตอบทั้งหมดทั้งมวลกับเราได้ก็คือ ทีมงานจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่เป็นตัวกลางการจัดงานนี้ขึ้นมา และเราก็ยกทุกคำถามมาให้พวกเขาตอบแล้วในบทความนี้

“จัดทำไม?”

Bangkok Design Week (BKKDW) นำเสนองานออกแบบและงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของกรุงเทพ ฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านงานตั้งแต่ผลงานทดลองไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและเพื่อสังคม จัดแสดงผ่านการใช้งานพื้นที่ในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่ โดยมีแนวคิดหลักครอบคลุมทั้งสามมิติ ได้แก่ อยู่ดี (City & Living) กินดี (Well-Being & Gastronomy) และธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business)

“จัดเพื่อใคร?”

เพื่อนำเสนอศักยภาพสำคัญของนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ไปจนถึงหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ มีกิจกรรมสร้างสีสันและประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าจดจำให้กับชาวเมือง และดึงดูดให้ชาวต่างชาติให้มาเห็นมุมมองใหม่ ๆ ของกรุงเทพ ฯ

“จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคืออะไร?”

BKKDW เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการผลักดันให้กรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network) ในสาขาด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design)

และปีนี้เขาก็เล็งเห็นว่า กรุงเทพ ฯ เป็นเมือง ‘น่าเที่ยว’ อันดับต้น ๆ แต่ยัง ‘น่าอยู่’ ในอันดับท้าย ๆ ของโลก เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ซึ่งทุกคนต่างประสบปัญหานี้ดี และเขาเลยเริ่มขยับขยายและชวนย่านต่าง ๆ มาร่วมกันมากขึ้นจนงานนี้มีกว่า 500 โปรแกรมทั่วกรุงเทพ ฯ รวม 14 ย่าน ตามคอนเซ็ปต์ ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’

“สิ่งเหล่านี้มันเป็นแค่สิ่งเติมแต่ง แต่มันต้องให้คนสัมผัสได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำยังไงให้ป้ายรถเมล์มันเข้าใจง่ายขึ้น หาง่ายขึ้น”

เมื่อปี 2018 หนึ่งในโปรเจกต์พัฒนาย่าน creative district ที่เข้าร่วมกับดีไซน์วีคและได้นำมาใช้จริง คือการทำป้ายรถเมล์ของกลุ่มนักออกแบบ MAYDAY! ที่อยู่เบื้องหลัง ได้เอาจุดที่เป็นปัญหาอย่างเช่น คนไม่รู้จะขึ้นสายไหน ไปลงที่ไหน ซึ่งทดลองทำที่เจริญกรุง ฯ ที่แรก ก่อนที่กรุงเทพ ฯ จะเอาไปร่วมพัฒนาต่อใช้เวลา 3 ปีจนได้รับการอนุมัติและติดตั้งทั่วกรุงเทพ ฯ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ปีต่อ ๆ มาก็เริ่มทำป้ายท่าเรือเริ่มที่เจริญกรุงเช่นเดียวกัน ท่าเรือเป็นเหมือนด่านปราบเซียนอีกอันเพราะจะมีก็แต่คนขึ้นลงเรือประจำเท่านั้นที่รู้ แต่นักท่องเที่ยวไม่รู้ ต้องถามเพราะมันไม่มีบอกอะไรเลย แต่ระหว่างการพัฒนาก็พบคอนฟลิกต์กับหลาย ๆ ส่วนจึงทำให้ค่อนข้างยากที่จะนำไปพัฒนาต่อ (to be continued)

ปีล่าสุดพวกเขาทดลองทำการขนส่งขนาดเล็ก Go Go Bus! กรุงเทพ ฯ มีปัญหาเรื่องการจราจร พวกเขาจึงอยากทดลองเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถ ทำรถขนส่งขนาดเล็กเชื่อมย่าน เข้าไปในพื้นที่ที่รถเมล์หลักเข้าไม่ถึง เพื่อทดลองว่าจะทำให้การจราจรเบาบางลงได้ไหมโดยวิ่งระหว่างสถานที่จัดดีไซน์วีคหลักไปตามจุดต่าง ๆ ให้ทั้งผู้ชมงานและคนสัญจรทั่วไปได้ลองใช้ และยังจับมือกับกลุ่ม บัสซิ่ง ทรานสิท สตาร์ทอัพที่ขอนแก่นทำระบบเสียงในรถบัส ทำ AI บอกเส้นทาง หรือแจ้งว่ารถจะมาถึงในกี่นาที

“หรือเส้นและป้ายบอกทางถนนที่วางไม่เคลียร์ ไม่ชัด ทำให้คนหลงง่าย จะแก้ไขการวางมันยังไง ออกแบบมันใหม่ยังไง”

ฝั่งกราฟิกดีไซเนอร์ conscious ที่ชอบขี่จักรยานอยู่แล้ว ในปีนี้ก็เข้าร่วมกับโครงการ Bikeable Bangkok ของ กทม. ที่พยายามทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ขี่จักรยานได้ปลอดภัย แต่ตอนนี้เส้นทางจักรยานไม่สามารถขับได้ทั้งหมด ต้องมีการขึ้นทางเท้า แล้วทางเท้าก็ไม่เท่ากัน ป้ายต่าง ๆ ก็ติดตั้งไม่เท่ากันเพราะระดับพื้นที่ไม่ได้ ต้องหลบเข้าซอย ยิ่งทำกับนักท่องเที่ยวต้องทำเส้นทางนำชมเป็นกิจลักษณะหรือมีจุดจอดใด ๆ ซึ่งทีมงานก็ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทดลองทั้งหมด มีคนร่วมกิจกรรมทั้งที่เอาจักรยานมาเอง หรือใช้จักรยานของโครงการและใช้ระบบนำทางของเขา 

ย่านใหม่ที่เข้าร่วมดีไซน์วีคอย่างเกษตร-บางบัว มีเส้นเลือดใหญ่ของการจราจรเป็นวินมอเตอร์ไซค์ จึงออกแบบจุดขึ้นวินมอเตอร์ไซค์และมีป้ายบอกทางให้จัดการง่ายขึ้นในพื้นที่ของเขา เป็นการร่วมพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยศรีปทุม มันอาจจะดูเล็กน้อยสำหรับฟังก์ชันนี้ แต่มันอาจจะดีถ้ามันสร้างความสะดวกให้กับนักเรียน นักศึกษา ประชากรในพื้นที่นั้น ๆ (ใช่ จากใจคนแถวนี้โรงเรียนและมหาลัยเยอะมาก)

“หรือการทำสวนสาธารณะที่คนใช้ได้จริง เป็น public space จริง”

กทม. มีแผนเปลี่ยนพื้นที่ราชการเป็นพื้นที่ของพลเมืองในเวลานอกราชการ ปกติสถานที่ราชการจะไม่ให้คนเข้าอยู่แล้ว แล้วปิดตั้งแต่ 4 โมงเย็นทำไมถึงไม่ลองให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่ ช่วง Bangkok Design Week ก็ได้ทดลองให้ 9 วันจัดงานนี้มีประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่ตรงกลางที่เป็นสนาม ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดตั้งศูนย์มิตรเมือง (Urban Ally) จัดทำ People Pavilion ให้คนแถวนั้นได้ใช้ มีฟังก์ชันเพิ่มร่มเงา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ traffic นักศึกษาเข้ามาใช้พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ แม่ค้า คนทั่วไปมานั่งนอนหลบแดดกัน หลังจากที่ช่วงเทศกาลก็เข้าได้เลย 11 โมงถึง 3 ทุ่ม และเร็ว ๆ นี้ทางผู้ว่า ฯ มีแผนจะย้ายจากศาลาว่าการเดิมออกไปอยู่ดินแดง แปลว่าตัวตึกจะไม่ได้ใช้งาน ตอนนี้มีข้อมูลว่าในอนาคตอาคารจะถูกทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ทาง CEA เองก็เริ่มดีลกับหน่วยงานภาครัฐสำหรับใช้พื้นที่รองรับการแสดง ดนตรี ศิลปะ เฟสติวัลแล้ว จะเห็นผลคงใช้เวลาอีกระยะประมาณนึง

“ตกลงนี่ design หรือ decorate?”

มีการทำ public furniture ทดลองในพื้นที่ของลานอาคารไปรษณีย์และการประปาแม้นศรี เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถอดแล้วยกไปประกอบได้ ใช้งานง่ายและตอบโจทย์ความแข็งแนง ปัจจุบันทาง กทม. เอาไปติดตั้งจริงที่ย่านหัวลำโพง เทเวศน์ พระนคร มีการนำไปดูแลต่อ ทำนุบำรุงต้นไม้ต่อ เป็นการแสดงให้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะสามารถสร้างร่มเงาไปในตัวได้ด้วย

CEA ไม่ได้ทำงาน Bangkok Design Week คนเดียว และไม่สามารถเป็นโฮสต์ของทุกพื้นที่ได้ เพราะกำลังแรงไม่พอ ปีนี้มีความร่วมมือกันกว่า 14 ย่านทั่วกรุงเทพ ฯ โดยที่พวกเขาทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวกลางประสานงาน แต่ละย่านมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป และการจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างทั่วถึงก็เกิดจากคนที่อยู่อาศัยในละแวกนั้นรู้ว่าต้องแก้ที่ตรงไหน CEA จะช่วยแนะนำกลุ่มนักออกแบบที่พัฒนาเรื่องนั้น ๆ โดยเฉพาะ หรือนำเสนอหน่วยงานที่สามารถรับช่วงต่อไปพัฒนาย่านต่าง ๆ ได้ตรงจุด

อย่างไรก็ดีการทำงานกับหลาย ๆ ปาร์ตี้มีมายเซ็ตที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ด้วยการพยายามบอกเขา (หน่วยงานรัฐ ประชาชน นักออกแบบ) ไปเรื่อย ๆ ว่าสิ่งนี้มันทำให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง Bangkok Design Week เริ่มทำมาได้แค่ 7 ปี ถือว่าสั้นมากสำหรับการเป็นแพลตฟอร์มทางความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้เกิดโปรเจกต์จริงไปปรับใช้ในพื้นที่เมืองได้ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ‘กรุงเทพ ฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว’ ไม่มีอยู่จริง โครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมมาให้ ทางนักออกแบบจึงเกิดความท้าทายกับแวดล้อม และยังต้องมีคนที่จัดสรรงบประมาณที่เข้าใจความจำเป็นของการพัฒนาในส่วนต่าง ๆ ของเมือง ไม่ได้ง่ายเหมือนหลาย ๆ ประเทศที่ทั้งโครงสร้างหรือมายเซ็ตพร้อมที่จะให้ทำต่อเพื่อประชาชนจริง ๆ 

“การทำงานของ CEA ตอนนี้เหมือนทำขนานไปกับ กทม. หรือรัฐบาล ที่ต้องมีการพัฒนาพื้นฐานของสิ่งที่รับผิดชอบไปพร้อม ๆ กัน มันก็มีบางโปรเจกต์ที่ทำได้จริง บางอันก็ใช้เวลากลั่นกรองทางความคิด กว่าจะเห็นตรงกัน กว่าจะเชื่อมกันได้”

CEA

สิ่งที่ยากจริง ๆ คือปรับตัวกับคนในชุมชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ นักออกแบบไม่สามารถดูแลผลงานนั้นไปได้ตลอด ต้องมีการถ่ายโอนให้คนที่มารับช่วงต่อ ดูแลสิ่งที่เขาออกแบบมา มันอาจจะเวิร์ก 3 ปีนี้ อีก 3 ปีไม่ได้หมายความว่าจะเวิร์ก เพราะมันเปลี่ยนไปตามบริบทของพื้นที่หรือเมือง การออกแบบเพื่อเมืองต้องปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

“คุณเอาเวลามานั่งโฟกัสการทำ UI ทั้งเมือง ในขณะที่ UX มันพัง สร้างค่านิยมผิด ๆ ให้กับเยาวชนในเรื่องการออกแบบเมือง แถมมีส่วนกับการ gentrification ในทุกย่านที่พวกคุณไปจัด ให้คนในพื้นที่โดนนายทุนขับไล่”

“ถ้าบอกว่าเทศกาลทำให้เกิด gentrification มันอาจจะใจร้ายไปหน่อย เป็นเรื่องที่ทุกประเทศเกิดขึ้นเวลาที่เมืองขยับขยาย คนถ่ายเท การขยับขยายของพื้นที่ทางเศรษฐกิจมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าเทศกาลจะมีอยู่หรือไม่มีอยู่ มันจะเกิดขึ้นแบบที่อารีย์ที่เป็นย่านราชการมาก่อน อยู่ดี ๆ กลายเป็นย่านฮิป สยาม ราชเทวี ก็เป็นมาก่อนแล้ว ถ้าลองถอยออกมาแล้วมองภาพใหญ่มันไม่ได้เกี่ยวกับเทศกาลโดยตรง เทศกาลดนตรี แฟชัน ภาพยนตร์ มันก็ทำในบางพื้นที่ แต่เทศกาลเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะพื้นที่เหล่านั้นมันมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ gentrification เป็นเรื่องที่ลื่นไหล เกิดขึ้นแน่ ๆ และเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ แต่จะทำยังไงให้คนที่ยังอยู่ในนั้นยังอยู่ได้ หรือใช้ชีวิตดำรงอยู่ได้ อันนั้นเป็นสิ่งที่ CEA ทำไม่ได้”

“งานนี้ผลกระทบและผลเสียมันมากกว่าผลดีด้วยซ้ำ ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย จัดมา 6 ปีแล้วมีอะไรดีขึ้นบ้าง? นอกจากมีคาเฟ่เปิดใหม่ กับมีแท่งกั้นถนนหน้าไปรษณีย์กลางเพิ่ม อ่อ แล้วก็มีโปสเตอร์กับกราฟิตี้ฮิป ๆ แปะตามซอย กับตึกเก่าที่ถูกทุบทิ้งไปเพิ่มอีก ฟุตบาทก็ยังเน่าเหมือนเดิม (ในขณะที่สีลมสวยแล้ว)

“เทศกาลทำให้ย่านเจริญกรุงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนจาก 5 ปีก่อนหน้าที่ค่อนข้างจะซบเซา มันเป็นพื้นที่ค้าขายปกติ มีตึกที่ไม่ได้ใช้งานค่อนข้างเยอะ และเคยเป็นเซียงกงมาก่อน มีแค่คนในชุมชนหรือคนที่คุ้นชินเท่านั้นที่จะแวะเวียนมา จนพื้นที่นี้มีคนรู้จักมากขึ้น มีกลุ่มคนใหม่ ๆ เข้ามาขับเคลื่อนพื้นที่ กลุ่มเดิมเองที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานก็เข้ามาสานต่อที่พ่อแม่เขาทำไว้ หรือร่วมทำกิจกรรมบางอย่างกับคนในพื้นที่ หรือว่าตั้งสมาคม ตั้งชุมชนขึ้นมา ก็เลยเป็นเหตุผลในการทำให้พื้นที่อื่น ๆ มีแรงขับเคลื่อนเห็นศักยภาพ แล้วเอาสิ่งเหล่านี้ไปทำในย่านเขาต่อ มันช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนแน่ ๆ”

การจัดงานนี้เป็นปัญหาจริงไหม? ผู้เขียนมองว่าเรื่องนี้สามารถมองได้หลายมุมมาก ๆ แต่การที่ไม่มีงานนี้เกิดขึ้นเลยเราอาจจะไม่มีสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ ใครจะไปรู้ว่าเรามีวัสดุทดแทนที่สามารถมาใช้ในการก่อสร้าง การนำขยะมาทำเป็นภาชนะย่อยสลายได้ เราคงไม่รู้ว่าในตลาดน้อยมีตรอกซอกซอยเล็ก ๆ ที่มีเสน่ห์และนักออกแบบพยายามทำให้สิ่งใหม่สามารถอยู่ร่วมไปได้อย่างกลมกลืนกับสิ่งเก่าที่มีเสน่ห์และมีคุณค่า หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการ—ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เอง—ยังมีความคิดเห็นต่างกัน ต่างกรรมต่างวาระ

“เราเดินไปเจอคุณป้าตรงศาลเจ้าตลาดน้อย แกขายซาลาเปาหมั่นโถวรูปลูกท้อ แกแฮปปี้สุดแถมสามารถบอกได้ว่า กิจกรรม design week ในตรอกนี้มีอะไร แล้วบอกให้เราเข้าไปดู

วันก่อนกินร้านอินเดียข้างตึกไปรษณีย์ ถามเค้าว่า ‘เดี๋ยวดีไซน์วีคแล้วนะคะ เตรียมของรึยัง’ เค้ายิ้มใหญ่เลย สรุปว่างานช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแถวนั้นดีมากๆ และทั่วถึง”

“วันนี้ไปกินร้านอาหารจีนท้องถิ่นแถวออฟฟิศ ถามเฮียเจ้าของร้านอาหารว่า Bangkok Design Week มีผลกระทบต่อชุมชนไหม? เฮียเจ้าของร้านอายุรุ่นพ่อบอกประมาณว่า  ‘ก็กระทบนะ คนทะลัก เสี่ยงต่อการโดนด่าว่ารอนาน คุณภาพก็ต้องควบคุมให้มาตรฐาน ก็ลำบากหน่อยช่วงนี้’ ตัดภาพไป เคยถามลูกเฮียที่เป็นคนดูแลการเก็บเงิน แกบอกว่าอยากให้มีงานนี้ทุกๆ เดือนจัง”

“คิดว่าบางเจ้าอาจจะไม่ได้เตรียมตัวว่าจะมีเทศกาลในช่วงเวลานี้ อาจจะต้องมีการลงพื้นที่คุยกับชุมชน/ร้านค้าท้องถิ่นล่วงหน้าสักนิด”

“สุดท้ายแล้ว งานของคุณมันเป็นแค่ playground ให้ผู้ใหญ่ และศิลปินตัวใหญ่ มาเก็บเครดิตสร้างหน้าตา​โดยที่ใช้ศิลปินเป็นแค่ขั้นบันไดใช่หรือไม่?”

“เทศกาลเหมือนเป็นการโชว์ของ เราทำได้แค่นี้ CEA ไม่สามารถผลิตป้ายรถเมล์แล้วแจกจ่ายทั่วกรุงเทพ ฯ ได้ เราเป็นเหมือนแพลตฟอร์มทางความคิด จากงบประมาณที่เราได้ ภารกิจเราทำได้แค่นี้ เทศกาลให้คนมาช็อปปิ้งได้ ทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องพัฒนาเมือง เราเชิญคุณมาดู เอาไปทำต่อในสิ่งที่เป็นภาคกิจหรือความรับผิดชอบของคุณ”

“ในระยะ 9 วัน สิ่งที่ทำให้เห็นศักยภาพความเป็นไปได้ว่าถ้าเขาอยากทดลองทำอะไรบางอย่างขึ้นมา เทศกาลมันเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถจะทำได้ เพราะการออกแบบหรือการทำอะไรเพื่อเมืองโดยตรงทั้งหมด หน่วยงานจริง ๆ คือหน่วยงานของรัฐบาล แล้วเชื่อมต่อด้วยหน่วยงานภาคการศึกษา แล้วก็มีหน่วยงานเอกชนเข้ามาช่วยเหลืออีกทาง นี่คือภารกิจที่เราช่วยเชื่อมได้”

CEA

CEA เดิมคือ TCDC ที่เน้นทำเรื่องศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ แต่ต่อมาได้ยกระดับให้พัฒนากลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 12+3 สาขา ทั้งงานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ การแพร่ภาพและกระจายเสียง การพิมพ์ ซอฟต์แวร์ การโฆษณา การออกแบบ การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม แฟชั่น อาหารไทย การแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และในอนาคตจะมีการทำงานที่ลงลึกมากขึ้นกับ THACCA มีภารกิจเพื่อดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยตรงอีกด้วย

เดิมที่ยังเป็น TCDC กิจกรรมต่าง ๆ จะมีการดึงดนตรีเข้ามาตลอดเพื่อเป็นความบันเทิงสำหรับผู้ร่วมงาน แต่ภายหลังเมื่อเปลี่ยนเป็น CEA ก็ได้เห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สมัยก่อนไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่อง pop music มีแต่ดนตรีเชิงวัฒนธรรม ตอนนี้ก็พยายามผลักดันในส่วนนี้ โดยกิจกรรมที่ผ่าน ๆ มามีทั้ง

การร่วมสนับสนุน Bangkok Music City ที่นำเสนอศิลปินที่น่าจับตามองของไทย โดยมีการให้ delegate ต่างประเทศเข้ามารับชม

Sound of the City โครงการช่วยเหลือนักดนตรีที่ไม่มีงานแสดงช่วงที่ล็อกดาวน์โควิด โดยให้งบในการสร้างสรรค์ผลงานที่สื่อถึงความเป็นย่านต่าง ๆ ของทั่วกรุงเทพ ฯ ปริมณฑล และจังหวัดต่าง ๆ 

มีการจัดทำอีบุ๊กให้ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์ดนตรีโดยจับมือกับหน่วยงานกฎหมายอย่าง MCT 

The Future of Thai Music Industry ชวนคนในวงการทั้งจากค่ายใหญ่ ศิลปินอิสระ คนเบื้องหลังทุกภาคส่วน มาเวิร์กช็อปเก็บข้อมูลมาเป็นรายงานแบบเน้น ๆ อ่านได้ที่นี่

และโครงการล่าสุด Music Exchange ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ศิลปินไปสู่ผู้ฟังมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และยังช่วยเหลือเรื่องความยุ่งยากในการจัดการเอกสารต่าง ๆ เช่นวีซ่าเพื่อไปแสดงที่ประเทศนั้น ๆ โดยเน้นการ ‘push & pull’ พุชคือพาศิลปินไปข้างนอก พูลคือดึง delegate เข้ามาช็อปปิ้งศิลปินไปต่อยอดโอกาสทางอาชีพ ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ก็มีงานสัมมนา และเวิร์กช็อป ส่วนงานที่ Soft Pine, Wadfah, Ford Trio, ANDR (TW), Puzzleman (TW) และ THE FIX (KR) ไปร่วมที่ Bangkok Design Week ที่ผ่านมาเป็นการ kick off เปิดตัวโครงการเท่านั้น

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSd1t9tYZ8bBLi_QKmwooxwvUKaFIlfoB1nwaBoddK3u8MMJDQ/viewform

ด้านบนน่าจะตอบคำถามได้อย่างครบถ้วนประมาณนึง ส่วนเรื่อง pollution หรือ infrastructure ต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นหลักกันต่อไป อันที่จริงก็เป็นเรื่องดีที่เราตั้งข้อสงสัย เพราะส่วนหนึ่งก็ช่วยเป็นการตรวจสอบหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบในส่วนนี้ไปพร้อม ๆ กัน เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็มีความหวังดีอยากจะเห็นเมืองที่ดีขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงคงไม่สามารถเห็นได้ในทันตา เราจะรอดู

อ่านต่อ
ส่องคอนเซปต์ THACCA โมเดลสนับสนุนซีนดนตรีจากทีมนโยบายพรรคเพื่อไทย

Website |  + posts

We are aliens who travel between galaxies to find the music we love across the universe.🛸💫

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy