After Effect Market ตลาดนัดนักดนตรี เพื่อนักดนตรี และคนที่รักดนตรี กลับมาอีกครั้งในปีนี้ และไม่น่าเชื่อว่างานขายอุปกรณ์ดนตรีและอื่น ๆ ที่ Brownstone จะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจนจัดมาเป็นครั้งที่ 7 แล้ว!
สำหรับใครที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยถึงการมีอยู่ของงานนี้ COSMOS Creature ก็จะอาสาพาทุกคนไปรู้จักกับผู้จัดเบื้องหลัง และกิจกรรมทั้งหมดทั้งมวลภายในงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม ที่ Brownstone จากบทความนี้เลย
แม้ในสมัยนี้ที่ e-commerce และ online marketplace เป็นที่นิยมแพร่หลายและค่อนข้างตรวจสอบได้ในระดับนึง แต่บางทีเวลาซื้อของออนไลน์ก็ยังเกิดคำถามและความไม่มั่นใจเต็มไปหมด โดยเฉพาะกับเครื่องดนตรีหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ว่ามันจะได้ตรงปกไหมนะ เสียงมันจะดีอย่างในคลิปตัวอย่างของผู้ขายหรือเปล่า ของจะหายระหว่างขนส่งไหม จะโดนย้อมแมวไหม (บางคนได้ก้อนหินกลับมาแทนก้อนเอฟเฟกต์) ส่วนคนขายเองก็ประสบปัญหาโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่อัลกอริธึมปั่นป่วนสุด ๆ ว่าจะขายออกไหม ต้องตั้งโพสต์ยังไงคนถึงจะเห็น มีเมสเสจตกหล่นหรือเปล่า จะส่งยังไงดี ฯลฯ
Tommy Hanson หรือที่หลายคนรู้จักเขาในฐานะหนึ่งในสมาชิก Srirajah Rockers และบางคนรู้ว่าเขาเป็นศิลปินอิเล็กทรอนิกทดลองที่เล่นอนาล็อกโมดูลาร์ รวมถึงเป็นเจ้าของ TMM Studio ข้างหลัง Brownstone นี่เอง ในฐานะนักสะสม นักช็อป และนักขาย เขาก็เลยเป็นคนนึงที่พบอุปสรรครอบด้านอย่างที่กล่าวมาด้านบน เขาเลยตัดสินใจเป็นตัวตั้งตัวตีจัด After Effect Market นี้ขึ้นมาร่วมกับ ฮอน Hope the Flowers ที่ประสบปัญหาเดียวกัน ชวนเพื่อน ๆ พ่อค้าแม่ค้าอุปกรณ์ดนตรี คนทำเครื่องดนตรี รวมถึงนักดนตรีมาเปิดร้านขายของกันจะได้เป็นการพบปะกันของคอมมิวนิตีแบบย่อม ๆ ไปด้วย
“เรามีความทรงจำเยอะมากเกี่ยวกับการไปดูของเก่าในบ้านคนอื่น ตอนเด็ก ๆ เราอยู่ที่อเมริกา พ่อจะพาเราไปดู yard sale ที่แต่ละบ้านจะเอาของมาวางขายหน้าบ้าน แล้วก็ลงในหนังสือพิมพ์ว่าวันนี้มีของขายที่บ้านนี้ ๆ นะ หรือก่อนหน้านี้เราจะขับรถไปโกดังหรือไปร้านเครื่องดนตรีเพื่อดูของเอง ก็คิดว่าอยากมี studio sale ที่ Browstone” ทอมมี่เล่า
การซื้อขายของในออนไลน์มาระยะหนึ่งทำให้ทอมมี่ได้รู้จักกับผู้ขายจำนวนนึง ซึ่งแต่ละคนก็มีคอมมิวนิตีที่เหนียวแน่น การแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในกลุ่มออนไลน์มีทั้งระหว่างนักดนตรีด้วยกันเองที่มีเครื่องดนตรีที่ไม่ได้ใช้แล้วเอามาส่งต่อ แล้วก็มีคนที่เป็น ‘นักล่าของเก่า’ มืออาชีพที่ไปตลาดขายของมือสองหรือโกดังบ่อยจนรู้ว่าอะไรที่กำลังฮิตและกำลังจะเอาต์ และหลาย ๆ ครั้งคนเหล่านี้ก็จะรู้ว่าลูกค้าชอบหรือกำลังตามหาอะไรอยู่ จนสามารถเอาของแบบที่เรากำลังมองหามาเสนอได้ถูกใจอย่างน่าอัศจรรย์ แต่จะดีกว่าไหมถ้าสามารถชวนให้คนเหล่านี้มาเจอกันได้แบบตัวต่อตัว ได้พูดคุยกัน และได้จับ ได้ทดลองเล่นเครื่องดนตรีกันจริง ๆ
“บางคนอยากลองแต่เวลาไปซื้อจะไม่ค่อยได้ลอง เราก็ให้ทุกคนมาอยู่ที่นี่ มีจุดตั้งตู้แอมป์ มีห้องสำหรับลองของที่อยากจะลองตรงนั้นได้เลย” ฮอนเสริม
งานปีแรกของพวกเขาจัดขึ้นตอน 2018 เป็นการชวนปากต่อปากให้เพื่อน ๆ นักดนตรีและพ่อค้าแม่ค้ามาลองดูกันก่อน ก็ได้บรรยากาศที่อบอุ่นกันเอง จนปีต่อมาพวกเขาลองขยับขยายเอาตลาดไปรวมกับงานแสดงดนตรี Post Loop เมื่อปี 2020 เผื่อจะมีคนให้ความสนใจมากขึ้น แต่พบว่าคนดูก็เน้นจะมาดูดนตรี (มี 5 เวที 60 กว่าศิลปิน!) ตลาดก็เลยเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งไปคนไม่ค่อยได้ให้ความสนใจเท่าไหร่ ปีต่อมาพวกเขาเลยตั้งใจแยกตัวตลาดออกมาอีกครั้ง และก็ดูเหมือนว่าจะมีคนที่ให้ความสนใจมากขึ้นและเริ่มเข้าใจถึงฟังก์ชันของตลาดนี้มากขึ้น
ในตลาดนี้ทอมมี่เล่าว่ามี sellers เจ้าประจำที่มักจะมีของเจ๋ง ๆ ในราคาดี แล้วก็มีของพีค ๆ แรร์ ๆ หายากโผล่มาทุกครั้ง
“รู้สึกว่ามีดีลที่ดีกว่าออนไลน์ ออนไลน์เราไม่รู้ว่าใครจะซื้อเรา เราก็อยากได้ตังก็เลยตั้งราคาแบบที่มันดูแฟร์ ให้มันขายได้ แต่พอเป็นตลาดมันก็บรรยากาศอีกแบบ เราเจอกันแล้วรู้ว่าใครเป็นคนขาย คุยได้ แล้วทุกคนก็ได้เป็นเพื่อนกันมากกว่าซื้อขายของ จริง ๆ ใครเปนแฟนคลับวงดนตรีไทยอันเดอร์กราวด์ก็อาจจะได้เครื่องดนตรีจากไอดอล ใครที่ชอบ Desktop Error ก็ได้กีตาร์จากเขาเลย”
“เราได้ของที่แรร์ที่สุดจากพี่เบิร์ด Desktop Error มา เหมือนแกไม่ได้มาขายจริงจัง ขายได้ก็ดี ขายไม่ได้ก็เอากลับไปเล่น ปรากฏว่าแกขายได้เกือบหมดเลย พอรู้จักกันแล้วคิดว่าคนนี้ไม่ค่อยมีตังหรือเปล่า ก็ช่วยกัน แบ่งปันกันเล่น มันก็กลายเป็นเรื่องที่ดีที่นักดนตรีบางคนไม่เคยคิดขายของ พอมาลองตั้งเล่น ๆ ปรากฏว่าก็ขายได้” ฮอนเล่า
“ตอนนั้นงานครั้งแรกมีลุงแกรี่เป็นเพื่อนเราที่หัวหิน เป็นเอนจิเนียร์ค่อนข้างสำคัญของเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิก เขาเป็นดีไซเนอร์ แล้วก็สะสมของเยอะ แกก็เอาของในสตูดิโอมาขายหลายชิ้นมาก ของเด็ด ของดี ของแพง แกมาตอน 10 โมงมั้ง ประมาณ 11 โมงคือขายเกือบหมดแล้ว เพราะเหมือนมีคนที่รู้ก็ตั้งใจมาซื้อเลย พวกคนที่อินกับเครื่องดนตรีมาก ๆ ซาวด์เอน มิกเซอร์ที่ดัง ๆ ในไทยกวาดไปหมด” ทอมมี่เล่า “มีคนพูดกันเยอะมากว่า ‘เฮ่ย คนนั้นได้ของนั้นไป ได้ยังไง ราคาดีมาก’ เราคนที่จัดงานเองก็ซื้อไม่ทัน เดินไปถามลุงว่าอันนี้เท่าไหร่ หมื่นเดียว!? ถูกมาก คิดว่าจะเอา อีกไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เดินกลับมา แกขายไปแล้ว รู้สึก FOMO มาก (หัวเราะ)”
After Effect Market ไม่ได้มีแค่เอฟเฟกต์!
แต่อย่าเพิ่งตกใจไปว่าตลาดนี้มีแต่เพดัลเอฟเฟกต์มาขายเพียงอย่างเดียว มันเป็นแค่โลโก้ที่ทำให้ทุกคนจำได้และเข้าใจง่าย ทอมมี่มองว่าเอฟเฟกต์กีตาร์เป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนมีแพชชัน เราอาจจะไม่ได้เล่นเองแค่เป็นแฟนของมือกีตาร์คนนึง บางทีพอเห็นรูปก็อาจจะรู้เลยว่าก้อนนี้ใครเป็นคนเล่น ซึ่งในงานมีของสำหรับทุกคน ทั้งก้อนเอฟเฟกต์ เครื่องดนตรี แผ่นเสียง หรือใครที่เป็นนักดนตรีไม่มีอุปกรณ์จะขาย แต่มีซีดีวงตัวเอง เสื้อมือสอง หรือนาฬิกา งานศิลปะ คราฟต์ DIY ต่าง ๆ ก็เอามาขายได้
สิ่งที่น่ารักอีกอย่างนึงของการมีตลาดนัดนักดนตรีคือทุกคนที่มาได้กลายเป็นเพื่อนกันจริง ๆ จากเดิมที่แค่ถามตอบข้อมูลเท่าที่จำเป็น การได้มาพบปะกันบางทีพวกเขาถูกคอและคุยลากยาวกันไปเป็นชั่วโมงก็มี ต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยมีที่ออฟไลน์ไว้แฮงเอาต์แลกเปลี่ยนตอนกลางวันสำหรับคนที่อินเรื่องดนตรีเหมือนกันอะเนอะ
นอกจากนี้ทอมมี่ยังมองว่าหลายคนชอบสอบถามเขาว่าควรจะซื้อเครื่องดนตรีอะไรดี เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้ว่ามีเครื่องดนตรีใหม่ขายในห้างร้านเท่านั้น แต่บ่อยครั้งเราสามารถพบเครื่องดนตรีที่คุณภาพดีกว่า คงทนกว่า และยังใช้งานได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก ๆ ในตลาดของมือสอง เพียงแต่เราต้องหาให้เจอเพื่อที่มันจะได้ถูกส่งต่อไปให้ถูกคน เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ซ้ำและสร้างวัฏจักรที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามแต่อันที่จริงมันส่งผลกระทบกับชีวิตของเราในระยะยาวเช่นเดียวกัน
“มีโอกาสแลกกันด้วย เพราะเอาจริง ๆ นักดนตรีก็ไม่ได้มีตัง (หัวเราะ) บางคนไม่มีตังแต่มีเครื่องดนตรีที่ไม่ได้ใช้ แล้วตลาดแบบนี้ ทุกคนเห็นของของกันและกันแล้วอยากแลกกันไหม มันง่ายกว่าออนไลน์ อันนั้นต้องมีตังแล้วก็ต้องไว้ใจกับคนนี้คนนั้น”
และที่น่าสนใจคือพวกเขาอยากจะทำให้ตลาดกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนจะได้สำรวจเครื่องดนตรีในประเทศไทย การที่ทอมมี่เป็นคนที่เล่นโมดูลาร์เองก็พบว่าคอมมิวนิตีตอนนี้กำลังค่อย ๆ ขยาย มีคนให้ความสนใจมากขึ้นและเชื่อว่านี่จะเป็นเครื่องดนตรีของอนาคต เขาก็เปิดโอกาสให้คนนำโมดูลาร์ที่ไม่ใช้แล้วมาขายหรือมาเล่นให้ดูกันสด ๆ อีกทั้งบางคนประกอบโมดูลาร์มือหนึ่งหรือเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเอง เขาก็มองว่านี่จะเป็นการให้คนได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วในไทยก็มีคนที่ทำเครื่องดนตรีเอง มีตั้งแต่ DIY เอฟเฟกต์ ดรัมแพด ซินธิไซเซอร์ กลอง กีตาร์ และแน่นอนว่ามีเจ้าที่กำลังเป็นที่จับตามองทั้ง Siam Modular และ Vox Machina มาจำหน่าย ในอนาคตอาจจะมีการชวนคนทำเครื่องดนตรีพื้นเมืองอื่น ๆ อย่างแคนหรือพิณมาร่วมด้วย
After Effect Market เปิดกว้างสำหรับทุกคน เพราะที่นี่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินนักดนตรีเอาเครื่องดนตรีและอื่น ๆ เข้ามาขายได้ฟรีโดยไม่เสียค่าเช่าพื้นที่ ไม่เสียเปอร์เซ็นต์ พวกเขาตั้งใจทำให้ตลาดนี้เป็นการซัพพอร์ตคอมมิวนิตีอย่างแท้จริง แต่ในอนาคตถ้าพื้นที่ถูกจับจองจนเต็มก็อาจจะต้องมีการให้ลงทะเบียนเพื่อจัดสรรพื้นที่และอาจจะมีการเก็บค่าพื้นที่บำรุงสถานที่กันต่อไป
“ปีล่าสุดมีฝรั่งแก่ ๆ วอล์กอินพาเมียมาด้วย เขาบอกว่าเนี่ย เมียเขาชอบไล่ให้เอาแผ่นเสียงเก่า ๆ ไปทิ้งให้หมดเลย เกะกะบ้าน ก็มาถามตลอดเลยว่าจะมีอีกเมื่อไหร่ จะได้เอามาขาย” ฮอนเล่าติดตลก
สำหรับในปีนี้ หากใครสนใจนำของมาขายที่ตลาดก็ลองทักไปที่ Brownstone หรือ TMM Studio ผู้จัด แจ้งว่าจะเอาอะไรมาขายบ้าง หากมีของขายไม่เยอะก็สามารถเอามาวางขายรวมกับโต๊ะของทางงานได้ ในงานยังจะมีการแสดงของศิลปินเดี่ยว หรือวงดนตรีทดลองชิ้นเล็กมาร่วมด้วย จะมีการประกาศไลน์อัพเร็ว ๆ นี้ ส่วนใครที่เล่นดนตรีคนเดียวที่บ้าน มีของแปลก ๆ อยากนำมาแสดงแต่กลัวคนไม่เก็ต ที่นี่ก็ยินดีมาก ๆ ให้ทุกคนมาปล่อยของได้เต็มที่ ส่วนใกล้ ๆ พื้นที่ในงานก็มีร้านเครื่องดื่มดับกระหาย Ageha Cafe (กาแฟ), Kokomary (โกโก้) และ ตั่วซง (น้ำเต้าหู้) ให้จิบไปดูอุปกรณ์กันไปเพลิน ๆ ด้วย
แล้วพบกันที่ After Effect Market 10 มีนาคมนี้ เวลา 13.00-20.00 น. ที่ Brownstone อ่อนนุช หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านต่อ
ทำไมซีนดนตรีนอกกระแสถึงไม่ค่อยเติบโตในต่างจังหวัด?
อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ