Phum Viphurit น่าจะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก Paul Vibhavadi กันไปแล้ว จากซิงเกิล The Other Side ที่ฉีกทุกแนวดนตรีและภาพเก่า ๆ ที่เราคุ้นเคยในสไตล์ดนตรีของภูมิไปจนหมดสิ้น ซึ่งเปิดเผยตามมาว่ามันคือ EP ใหม่ล่าสุดของเขาในชื่อว่า Paul Vibhavadi Vol.1 ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของ house music, techno และการทดลองทางดนตรีที่แตกต่างจากงานก่อนหน้าของเขาแบบสุดขั้ว แต่สิ่งที่ได้รับความสนใจจากทุกคนมากที่สุด คือเหตุผลที่ภูมิสร้างคุณพอลขึ้นมา
ใน Transmission วันนี้ ภูมิจะมานั่งพูดคุยกับเราถึงที่มาที่ไปของคุณพอล และ EP ใหม่ล่าสุดของเขา และความสนุกในการต่อยอดงานดนตรีของตัวเองไปสู่อะไรใหม่ ๆ ที่ตัวเองอยากไป มารู้จักกับทั้งสองคนให้มากขึ้นเพื่อเตรียมตัวก่อนจะไปเจอเซ็ตลิสต์ใหม่ของเขาที่งาน Starnest Music Festival Thailand ในวันที่ 5 เมษายนนี้กัน

ปีก่อน ๆ เราคุยกับภูมิก็มีการเกริ่นมาหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของทิศทางของเพลงที่อยากทำเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิก รวมถึงเรื่องของคาแรกเตอร์สล็อต สุดท้ายมันก็กลายเป็นคุณ Paul Vibhavadi เราตื่นเต้นมาก พอภูมิได้ทำออกมาจริง ๆ แล้ว รู้สึกยังไงบ้าง
ผมรู้สึกสนุกมากกับโปรเจกต์นี้ครับ เพราะโดยส่วนตัวแล้วอยากทำอะไรที่มัน purely conceptual มาก ๆ แล้วก็สนใจศิลปินที่มี authority ในสายนี้มานานมากแล้ว รู้สึกว่ามันเป็นการ break จากตัวเอง แม้ว่าจะยังคงเป็นตัวเองอยู่ แต่ว่ามันช่วยให้ได้มุมมองใหม่ ๆ และสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ จริง ๆ แล้วก็ดีใจครับ ที่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาเป็นรูปเป็นร่างสักที
การที่เราสร้างคาแรกเตอร์ Paul Vibhavadi ขึ้นมา มันช่วยปลดล็อกทางด้านดนตรีของภูมิยังไงบ้าง
ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนชอบฟัง techno และฟัง house music มาสักพักใหญ่แล้ว แต่คิดว่าอยากมีโปรเจกต์ที่สามารถทดลองไอเดียออกมาในแนวทางที่ใกล้เคียงครับ แล้วก็การปล่อยของ มันคือการปล่อยพลังงานที่ดีที่สุดแล้วในแบบที่ผมอยากทำ อย่าง John Cage ก็เป็นแรงบันดาลใจนึง แล้วพอเข้าใจตัวละครนี้มากขึ้น ผมก็มองว่ามันเป็นเหมือนการ satire ตัวเอง มันเป็น modern dimension ที่ต้องทำตัวเป็น influencer ด้วย มันคล้าย ๆ เป็น social commentary เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแฟนเพลงกับศิลปิน หรือคนที่มีชื่อเสียงด้วย เลยรู้สึกว่ามันช่วยรวบรวมหลายอย่างที่เราคิดเอาไว้
พอเราปล่อย Paul Vibhavadi ออกมาในรูปแบบที่เป็น persona หรือคาแรกเตอร์แบบนี้ กระแสตอบรับเป็นยังไงบ้าง
ก็ต้องบอกว่าคนที่ get ก็ get ไปเลยครับ คนที่เข้าใจก็จะเข้าใจว่า “fun is fun” แต่บางคนก็จะมีมุมมองว่า “นี่มันคืออะไร?” มันมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษคำหนึ่งที่ใช้เรียกคาแรกเตอร์ที่ดูเหมือนมนุษย์จริง ๆ แต่ก็ยังคงเป็น fictional อยู่ มันเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่าง reality กับความ surreal ซึ่งเขาเรียกว่าสภาวะ uncanny valley ที่พอคนมองแล้วจะรู้สึก uncomfortable หรืออย่างฟีดแบ็กจากเพื่อนหลายคนก็บอกว่า “เฮ้ย กูชอบเพลงใหม่นะ แต่ว่าไอ้คาแรกเตอร์ตัวนี้แม่งน่ากลัวว่ะ ดูแล้วรู้สึกแปลก ๆ” (หัวเราะ) ซึ่งผมชอบนะ ผมชอบที่มันทำให้เกิด reaction แบบนี้ขึ้นมา เพราะมันตรงกับ concept ที่เราตั้งใจไว้อยู่แล้ว
เอาจริง ๆ ตอนที่เห็น Paul Vibhavadi โผล่ออกมา เรายังคุยกันว่า “เฮ้ย แบบนี้เลยคอนเสิร์ตจะเป็นยังไง?” มันก็เป็นอะไรที่น่าสนุกดีนะ
ภูมิเองก็สงสัยเหมือนกันครับ ว่ามันจะไปอยู่บน stage ได้ยังไง แต่รู้สึกว่ามันเป็นคาแรกเตอร์ที่จะอยู่ใน universe ของการทำดนตรีของภูมิไปอีกนานเลย อาจจะไม่ได้มีแค่ volume 1, 2, 3 ติดกันรวดเดียว แต่มันเป็นอะไรที่เราอยากจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ แน่นอนว่าความรู้สึกของภูมิต่อ Paul Vibhavadi มันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตาม perspective ที่เรามีในชีวิตหรือในช่วงเวลาต่าง ๆ ของการแต่งเพลง
เราพยายามจะลดบทบาทของการเป็น “Phum Viphurit” ลงเลยรึเปล่า
ก็คงไม่ถึงขนาดนั้นครับ แต่ผมรู้สึกว่ามันมีช่วงหนึ่งที่ผมคิดถึงสิ่งนี้อยู่ ผมไม่แน่ใจว่าภาษาไทยเรียกว่ายังไง แต่มันคือ parasocial relationship ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนที่เราติดตาม ไม่ว่าจะเป็นดารา อินฟลูเอนเซอร์ หรือบุคคลสาธารณะอื่น ๆ มันคือความสัมพันธ์ที่พวกเขารู้จักแทบทุกดีเทลเกี่ยวกับเรา แต่ในขณะที่เราเองกลับไม่ได้รู้จักพวกเขาแบบเดียวกันเลย มันเหมือนเป็น one-sided relationship ซึ่งศิลปินหรือบุคคลที่ถูกจับตามองมักถูกยกขึ้นแท่น คือมันเปลี่ยน sensationalization ไปเรื่อย ๆ ผมเลยสนใจประเด็นนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2018-2019
เลยอยากทำโปรเจกต์ที่พูดถึงเรื่องนี้ว่าความสัมพันธ์แบบ parasocial มันคืออะไรกันแน่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่สร้างคาแรกเตอร์ Paul Vibhavadi ขึ้นมา บางคนอาจมองว่ามันเป็นการหนีจาก Phum Viphurit แต่สำหรับผม มันคือการพูดถึง The cost of fame หรือ the consequence of being famous ครับ จริง ๆ แล้วใน MV แรก คาแรกเตอร์นี้พยายามจะหนีจากสิ่งนี้พยายามหนีจากความวุ่นวายในเมือง จินตนาการว่าสลอธตัวนี้หลุดเข้ามาในเมืองที่มัน overwhelming ไปหมด แม้จะพยายามหนีออกไปไกลแค่ไหน สุดท้ายแล้วเขาก็หนีไม่พ้น มันสะท้อนว่า เมื่อคุณได้รับ attention มากขึ้น คุณก็กลับไปเป็นทาสของมันเอง ผมเลยอยากจะ display แนวคิดนี้ และผมก็ไม่ได้อยากให้คาแรกเตอร์นี้ถูกจำกัดอยู่แค่ตรงนี้ ผมรู้สึกว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรบางอย่างที่ทำให้ผมอยากสร้าง Paul Vibhavadi ขึ้นมา
แต่ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าความสัมพันธ์แบบ parasocial ระหว่างแฟนคลับกับศิลปินเป็นเรื่องผิด หรือว่ามันไม่ดี เพียงแต่อยากยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดว่ามันคืออะไร มันมีมิติอะไรบ้าง

ถ้าให้อธิบายสั้น ๆ คอนเซปต์ของ EP นี้ Paul Vibhavadi Vol.1 มันคืออะไร
ผมจะเล่าให้เหมือนนิทานนะครับ Paul Vibhavadi เป็นสลอธที่เคลื่อนที่เร็วที่สุดในโลก และเป็นสัตว์ที่พูดได้สองภาษาเพียงตัวเดียว เขาออกเดินทางเพื่อตามหาความสงบ และเขาเชื่อว่าถ้าไปถึงป่าหิมพานต์เขาจะได้พบสถานที่ที่เป็นของเขาเอง แต่สิ่งที่เจอระหว่างทางกลับไม่ใช่อย่างที่คิด
พอทำไปเรื่อย ๆ ผมก็รู้สึกว่าเนื้อเรื่องมันสามารถแตกแขนงออกไปได้อีกเยอะ เหมือนเวลานักเขียนบท หรือคนแต่งนิยายคิดโครงเรื่องไปเรื่อย ๆ พอมาถึงจุดหนึ่งก็จะพบว่า “ตรงนี้มันน่าแวะ” หรือ “ตรงนี้ควรจะมีอะไรบางอย่างเพิ่ม” แล้วเนื้อเรื่องมันก็จะขยายตัวไปเรื่อย ๆ ไม่ถึงจุดสิ้นสุดของมัน
ปกอันนี้ยังทำงานกับ กอล์ฟ—สราวุฒิ (คนออกแบบปกอัลบั้ม The Greng Jai Piece) อยู่มั้ย
ไม่ใช่พี่กอล์ฟครับ คราวนี้เป็นน้องชื่อบอม sahapap_bomp ไปเจองานของน้องที่ River City แล้วเราชอบมาก มันมีความเป็นศิลปะยุคเรเนซองส์ผสมกับบาโรก แต่มีความเป็น animation graphic ผมรู้สึกว่างานของเขามีความตลกร้ายอะไรบางอย่าง ซึ่งมันเหมาะกับตัว Paul Vibhavadi ที่พูดถึงเรื่องความเป็นความตาย การมีอยู่และการจากไป คาแรกเตอร์ตัวนี้อยากเดินทางไปป่าหิมพานต์ ซึ่งบางคนก็มองว่าป่าหิมพานต์เป็นเหมือนสวรรค์ พอมาอยู่ในอาร์ตสไตล์ของน้องบอมมันเลยเข้ากันได้ดีมาก ผมก็ดีใจที่ได้ร่วมงานกับน้อง
ก่อนหน้านี้เราพูดถึง house music แล้วแรงบันดาลใจดนตรีในอัลบั้มนี้เราหยิบมาจากไหนบ้าง?
ช่วงนั้นฟัง The Chemical Brothers แล้วก็กลับไปย้อนฟัง Daft Punk กับ Justice รวมถึง Ladytron, Modjo หรือพวก Sandstorm อะไรแบบนั้น พวก Y2K house แล้วผมก็ limit ตัวเองโดยที่ไม่ได้เลือกตัวอย่างเสียงแบบสุ่ม ๆ คือเลือก sample มา แต่พอเลือกบีทและโครงสร้างขึ้นมาแล้ว ผมจะใช้แค่อันนั้นทั้งเพลง เพื่อให้มัน fix อยู่ที่ tempo เดียวกัน แล้วพยายามไม่ layer อะไรเยอะมาก เป็นการทำงานที่สนุกดี เพราะเราจำกัดตัวเองว่า โอเค เพลงนี้บีทเป็นแบบนี้แล้ว ก็จะใช้เครื่องดนตรีที่เล่นสดได้มาผสมให้เข้ากับสไตล์
เซ็ต Live Session ที่ปล่อยออกมาตอนที่ปล่อยอีพี ดูเหมือนว่า Past Light เป็นเพลงที่คนชอบมากที่สุดเลย อยากรู้ว่ามุมมองของภูมิคิดว่าอะไรที่ทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยมมากกว่าทุกเพลง?
ผมว่าอย่างแรกคือได้พี่ Tang Bad Voice มาแจมด้วยครับ เราคุยกันมาหลายปีแล้วว่าอยากทำงานร่วมกัน แล้วพอมีโปรเจกต์นี้ก็ได้โอกาสมารวมตัวกันพอดี เพลงนี้มันค่อนข้างเรียบง่าย ผมพยายามเล่นกับ elements ของ motif ที่มัน repetitive เพื่อให้เกิด effect บางอย่างเวลาคนฟัง house music ผมลองใช้แค่สองคอร์ดทั้งเพลง แล้วก็ให้เบสกับบีทมันวนไปเรื่อย ๆ มันเลยมีความต่อเนื่องที่ฟังเพลิน ๆ
นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่เพลงที่ตั้งมาเขียนไรม์เป็นภาษาอังกฤษด้วย เบื้องหลังมีอะไรน่าสนใจไหม?
ผมบรีฟพี่ตั้งแค่ว่า โอเค อันนี้คือเพลงใน EP ตอนนี้ Paul Vibhavadi มาถึงจุดที่เขาเจอกับ Cults ในป่า แต่ยังไม่ถึงป่าหิมพานต์จริง ๆ เขาหนีออกมาได้แล้ว และตอนนี้เหมือนเพิ่งบินขึ้นไปบนท้องฟ้า มันเหมือนเป็นฉากที่เขา free fall อยู่ แล้วมี teaser scene ที่เผยให้เห็นว่า มันเป็น monologue ในหัวของ Paul Vibhavadi เป็นครั้งแรกที่เขาจำได้ว่า เฮ้ย ในชาติก่อนเขาเคยเป็นมนุษย์รึเปล่า? หรือเคยเป็น “ภูมิ วิภูริศ” หรือเปล่า? แล้วเขาคิดอะไรอยู่? สิ่งที่เราเคยทำมันถูกต้องไหม? มันผิดรึเปล่า? เราเคย regret อะไรบ้าง? ถ้าเราได้เกิดใหม่ เราอยากทำอะไร?
นี่คือทุกอย่างที่อยู่ในหัว Paul Vibhavadi ประมาณนั้น แล้วอยากทำอะไรเขียนเนื้อแบบ Feel Flow เป็นภาษาอังกฤษล้วน หรือแทรกไทยไปด้วยก็ได้ แล้วแต่เลย แค่อยากให้พี่สนุกกับมัน แล้วพี่ตั้งก็เขียนออกมาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งมันค่อนข้างหาได้ยากนะ ที่เขียนแร็พภาษาอังกฤษแล้วสื่อสารได้เหมือนภาษาไทยมันเลย แล้ว Flow ของภาษาอังกฤษมันลื่นไหลมาก ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นแค่การเอาภาษาอังกฤษมาแทนคำไทย มันยังเป็นตัวเขาอยู่ เลยดีใจมากที่ได้ร่วมงานกับพี่ตั้ง
อย่างที่ภูมิอธิบายว่า Paul Vibhavadi เคยตั้งคำถามว่าชาติก่อนเขาเคยเป็นภูมิรึเปล่า แล้ว Paul Vibhavadi เหมือนหรือแตกต่างจาก Phum Viphurit ยังไงบ้าง
ผมพยายามแยก character ให้ชัดเจนครับ ความแตกต่างหลัก ๆ คือ Paul Vibhavadi ไม่ได้สื่อสารผ่านการพูด เขาไม่ให้สัมภาษณ์หรือแสดงออกแบบที่ผมทำ มันเป็น fictional character ที่อยู่ในโลกของมันเอง แต่สิ่งที่เขาคิด หรือสิ่งที่เขาสื่อสาร มันก็ยังสะท้อนถึงจิตใต้สำนึกบางอย่างอยู่ เพียงแต่เพลงของภูมิในอดีตอาจจะเป็น band music ที่ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่มากกว่า แต่พอสร้างโปรเจกต์นี้ขึ้นมา Paul Vibhavadi สามารถ transcend ไปสู่สิ่งที่มีความ symbolized มากขึ้น และทำให้มัน complex ได้โดยไม่ต้องอิงกับกรอบเดิม ๆ
อีกอย่างที่ตื่นเต้นมากคือเราอยากเห็นโชว์ใหม่ของภูมิ เราต้องทำการบ้านเยอะไหมในการบาลานซ์เซ็ตเก่า แล้วจะได้เห็น Paul Vibhavadi ในโชว์มั้ย
ทำการบ้านอยู่ครับ (หัวเราะ) แต่โชคดีที่นักดนตรีในวงเก่งกันทุกคน ทุกคนช่วยกันคิดและแชร์ไอเดีย เราช่วยกันออกแบบโชว์ให้มันมี transition ที่ทำให้คนดูเห็นเลยว่า “โอเค ตอนนี้ภูมิเปลี่ยนเป็น Paul Vibhavadi แล้ว” อยากให้รอดูครับ

โชว์ที่ Starnest Music Festival ก็จะเป็นเซ็ตใหม่เลยใช่มั้ย มีเซอร์ไพรส์อะไรในโชว์นี้เตรียมไว้บ้าง?
แน่นอนครับ ได้เจอเพลงจาก Paul Vibhavadi แบบเต็มแม็กซ์แน่ ๆ แล้วก็มีหลายเพลงที่เคยเล่นมาแล้ว เอามาเรียบเรียงให้มัน transition เข้ากับเซ็ตใหม่ได้ลื่นไหลขึ้น อยากให้เซ็ตนี้มี movement ที่ต่อเนื่องกัน เป็น concept show ที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น อยากให้มาดูเองครับ คิดว่าน่าจะเป็นประสบการณ์ที่สนุกแน่นอน
แล้วในสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ครูก็บอกว่าภูมิเองก็มีโปรเจกต์อีกเยอะมาก เรามีวางแผนไว้ไหมว่า Paul Vibhavadi อาจจะก้าวออกไปในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่ดนตรีด้วย?
คิดอยู่ครับ ล่าสุดเพิ่งมีโอกาสเมื่อเดือนที่แล้ว Paul Vibhavadi ได้ไปโผล่ใน Sunset Town มันเป็นเฟสติวัลในไต้หวันที่จัดโดยรัฐบาลไต้หวันร่วมกับ Sunset Rollercoaster แล้วตัว Paul Vibhavadi ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์กราฟิกจากหนึ่งในเพลงของผม ก็จะไปปรากฏอยู่ใน virtual fresh floor ของทางงาน รู้สึกว่าคาแรกเตอร์ตัวนี้มี intellectual property หรือกลายเป็นมีมที่สามารถไปโผล่ในหลายที่ได้ ซึ่งเขายังไม่ได้มีชื่อเสียงมากพอที่จะได้รับเครดิตว่าเป็นศิลปินเอง มันยังต้องถูกนำเสนอผ่าน Phum Viphurit อยู่ แต่ผมก็ดีใจนะครับที่มันเริ่มมีชีวิตของมันเอง และมีคนอยากเห็นตัวละครตัวนี้ไปโลดแล่นในที่อื่น ๆ ต่อ รู้สึกว่ามันเป็น concept ที่สามารถพัฒนาไปได้อีกนานเลย และก็ดีใจที่ได้ execute ออกมาในก้าวแรกแล้ว
แอบเอาใจช่วยมาก ๆ เพราะรู้สึกว่าภูมิอาจจะเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ลองทำอะไรแบบนี้ ซึ่งไม่ง่ายเลยทั้งในแง่ PR และการสื่อสารกับแฟน ๆ ชาวไทย
มันก็เป็นเรื่องปกติที่พอเราทำอะไรใหม่ ๆ แล้วจะมี mixed review อยู่แล้ว ตอนนี้ภูมิอยู่ในช่วงที่รู้สึกโอเคกับการทำอะไรที่มัน challenging และไม่ได้แค่ทำตาม trend หรือพยายามจะรักษาฐานเดิมของตัวเอง เรามีเวลา มี resources และมีโอกาสที่จะทำสิ่งนี้ ถ้าจะทำแล้วก็อยากทำให้สุดไปเลย
แล้วผมก็ชอบนะ เวลาคนถามว่า “ทำไม?” “ทำไมอยู่ดี ๆ เปลี่ยนคอนเซปต์ไปเป็นสล็อต?” หรือ “ทำไมถึงลบทุกอย่างแล้วเป็น Paul Vibhavadi” ผมชอบ reaction แบบนี้ มันทำให้คนสงสัย มันทำให้คนตั้งคำถาม และนั่นคือสิ่งที่ผมอยากเห็น
เราในฐานะคนฟังก็รู้สึกว่าภูมิเองก็โชคดีมาก ที่ยังมีแฟนเพลงที่ฟังอยู่ ทุกเพลงที่ปล่อยออกมายังมีคนคอยคอมเมนต์ คอยสนับสนุน คอยติดตามตลอด เราเองก็ดีใจมากที่ได้เห็นศิลปินที่กล้าทำอะไรขนาดนี้ และยังมีคนที่อยากฟังมันอยู่
ขอบคุณครับ ผมรู้สึกว่าถ้าเราอยู่ใน comfort zone นานเกินไป ความคิดสร้างสรรค์มันจะตัน แล้วเราอาจมองเห็นแม้กระทั่ง “จุดจบ” ในเส้นทางดนตรีของตัวเองเลย ลองนึกภาพว่าถ้าผมยังทำเพลงอินดี้โฟล์กไปเรื่อย ๆ อัลบั้มหน้า อาจเป็นเพลงเร็วขึ้นนิดหนึ่ง วุ่นวายขึ้นนิดหนึ่ง แล้วปีต่อไปก็วนซ้ำ ๆ ไปแบบนี้ บางคนก็อาจจะคิดว่าดีอยู่แล้วหนิ บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่โง่นะ (หัวเราะ) ทำทำไมวะ ทิ้งเส้นทางที่ง่ายและมั่นคงขนาดนั้น
แต่สำหรับผม พออายุใกล้ 30 ผมเริ่มคิดถึงอะไรที่ท้าทายและสดใหม่ ศิลปินที่ผมอยากเป็น คือศิลปินที่พัฒนาไปเรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วทุกอัลบั้ม แต่ต้องมี growth มี concept ที่พัฒนา ไม่ใช่แค่ทำตามความคุ้นชิน สุดท้ายแล้วมันก็เป็นเรื่องของ willingness ด้วยครับ เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยน และกล้าที่จะเผชิญ reaction ที่จะตามมา ผมอยากให้สิ่งที่ทำ เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นกล้าลองอะไรใหม่ ๆ
เมื่อกี้ภูมิพูดถึงว่าใกล้จะ 30 แล้ว ในเน็ตมีคำถามยอดฮิตว่า “ก่อนอายุ 30 ควรมีอะไร” หรือควรใช้ชีวิตยังไง ภูมิคิดว่าตัวเองจะตอบอะไร
ผมว่าก่อนอายุ 30 เราควรลองทำทุกอย่างที่อยากลอง มันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ แต่ลองทำสิ่งที่เคยคิดไว้แล้วไม่เคยลงมือทำจริง ๆ ช่วงอายุ 20+ เหมือนเป็นช่วงที่เรายังมีไฟ ในการทำงาน การออกทัวร์ หรือการสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง เพราะงั้นก่อนอายุ 30 ผมว่าควรจะลองลงมือทำอะไรที่เราเคย conceptualize ไว้ แต่ยังไม่ได้ทำจริง พออายุ 30 แล้ว เราจะมี experience พอที่จะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เวิร์กสำหรับเรา อะไรที่เราไม่ชอบ และอะไรที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ โชคดีที่อาชีพนักดนตรีทำให้ผมได้ออกทัวร์ ได้เจออะไรใหม่ ๆ ซึ่งมันช่วยให้ผมได้สำรวจตัวเองอยู่ตลอด “โอเค เราทำสิ่งนี้มานานแล้ว เราอยากไปทางไหนต่อ?” ซึ่งมันอาจไม่ได้ตรงกับสิ่งที่คนฟังคาดหวังไว้ แล้วเราโอเคมั้ย แต่โชคดีที่แฟนเพลงก็ยังเปิดรับสิ่งที่ภูมิทำอยู่เสมอ

สลอธยังเป็นตัวแทนของภูมิได้อยู่อีกหรอ ขยันขนาดนี้
(หัวเราะ) ภูมิชอบตรงที่มัน contrast มาก ๆ ตอนแรกที่เลือกสลอธมาเป็นสัญลักษณ์ มันเหมือนเป็นตัวแทนของภูมิในยุคโควิด ช่วงนั้นนักดนตรีแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย เล่นสดก็ไม่ได้ ทุกอย่างหยุดนิ่ง เราเลยได้แต่นั่งและมองดูโลกไปเรื่อย ๆ ผมเก็บเอาความรู้สึก ความวิตกกังวลจากช่วงเวลานั้นมาทำเพลง แต่พอเวลาผ่านไป โลกเริ่มกลับมาหมุนอีกครั้ง ผมรู้สึกว่าตัวเองยังติดกับ mindset ของการใช้ชีวิตแบบช้า ๆ มาจากยุคนั้น การเป็นสลอธมันเลยสะท้อนสิ่งนั้นได้ดี แต่ในขณะเดียวกัน คาแรกเตอร์ของ Paul Vibhavadi กลับเป็นอะไรที่ hyper มาก เต็มไปด้วยพลังงาน ดู trippy หน่อย ๆ เหมือนอยู่ในภาวะแบบ ketamine trip มันเลยกลายเป็น duality ที่ดูเหมือนไม่เข้ากัน แต่ก็ make sense ในแบบของมันเอง สุดท้ายแล้ว ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ execute ออกมาได้ลงตัว
แล้วหลังจาก Volume 1 ก้าวต่อไปของภูมิจะเป็นยังไง?
Volume 2 มันคงมาแน่นอนครับ อาจจะไม่ได้เร็วมาก เพราะตอนนี้ผมเบรกมารับงานแต่งเพลงให้ศิลปินคนอื่น แล้วก็แต่งเพลงในแบบที่เป็น concept ของตัวเองไปด้วย รู้สึกว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าทำ Paul Vibhavadi แล้วเบรกสักพัก ไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยกลับมา มันจะทำให้ตัวละครนี้ยังคงมี progression และยังมี freshness ของมันเอง ผมอยากให้มันเป็น open space สำหรับตัวเอง ให้มันเป็น safe creative zone ที่สามารถทดลองอะไรที่ extreme หรือ weird ขึ้นไปได้อีก
ฝากอะไรถึงคนที่อาจจะยังไม่ได้ฟัง Paul Vibhavadi Vol.1 หน่อย
ปลายปีที่แล้ว ผมเพิ่งปล่อย EP ที่ชื่อว่า Paul Vibhavadi Vol.1 เป็น EP 4 เพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก house music, techno แล้วก็มีองค์ประกอบของ loop-based composition ใครที่ไม่เคยฟัง electronic music มาก่อน ลองฟังดูครับ เผื่อจะได้เจออะไรใหม่ ๆ ทั้งในแง่ของดนตรีและการนำคาแรกเตอร์มาใช้ครับ
Starnest Music Festival Thailand 2025 🚀 เทศกาลดนตรีที่รวมดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งวงการดนตรีนอกกระแสไทยไว้มากที่สุดบนเวทีเดียวกัน!🌞 มาสนุกไปกับไลน์อัพระดับจักรวาลที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ปักวันไว้เลย 5 เมษายน 2568 Union Hall, Bangkok จับจองบัตรได้เลย https://www.ticketmelon.com/starnestmusic/starnest2025
ติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว ฟังเพลงใหม่ของ Phum Viphurit ก่อนใครได้ที่ Facebook, Instagram และไปตามคุณ Paul Vibhavadi ได้ที่ Instagram


ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา