KIKI 5th Dimension คอนเสิร์ตใหญ่เปิดอัลบั้ม Post-existential Crisis ของวงดนตรีอิเล็กโทรป๊อป-ฟังก์กี้ กลิ่นอายอัลเทอร์เนทีฟที่จัดขึ้นโดยทีมเจ้าบ้านอย่าง Seen Scene Space จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่พวกเขาไม่คิดว่าจะมาได้ไกล ในวันนี้ KIKI (กีกี้) ก็ได้ออกเดินทาง พร้อมจับมือพาเราไปยังมิติในดินแดนแห่งโลกเวทย์มนตร์ทางเสียงเพลงกับแสงสีรวมถึงคอสตูมที่เหมือนหลุดออกมาจากอวกาศ ท่ามกลางบรรยากาศที่อัดแน่นด้วยน้ำตา รอยยิ้ม และความรู้สึกสดชื่น
7 กันยายน 2567
เราเดินทางมาถึงหน้า Lido Connect Hall 2 ประมาณหนึ่งทุ่มตรง แลกริสแบนด์เสร็จสรรพก็ยังพอมีเวลาเหลือให้ชมผลงานศิลปะของ A KID FROM YESTERDAY หรือ เปาโล—สมพล รัตนวรี เขาเป็นนักวาดภาพประกอบที่ทำปกซิงเกิ้ลรวมถึงอาร์ตเวิร์กภายในอัลบั้มล่าสุดของ KIKI ซึ่งสีสันและคอนเซ็ปต์ในหลาย ๆ ภาพวาดทั้งหมด เปาโลได้ถ่ายทอดระหว่างกึ่งกลางแห่งโลกความเป็นจริงและความเซอร์เรียล จากการฟังเพลงก่อนหยิบเนื้อหาใจความที่เขารู้สึกถึงมันมาเผยให้ทุกคนได้เห็น และเมื่อถึงเวลาหนึ่งทุ่มครึ่งเป๊ะ เราก็รีบปรี่เข้าไปในฮอลล์ ขณะเดียวกันค้นพบว่ามีผู้ชมทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศจำนวนมากที่มายืนรอดูกันตั้งแต่วงแรก
NO KNOW คืออิเล็กทรอนิกส์ดูโอ้จากค่าย Guesswhat Records ที่ปกติจะประกอบไปด้วยสองสมาชิก โบ๊ท—ธนดล ว่องประสบสุข และ นนท์—ธนญ แสงเล็ก แต่สำหรับโชว์ในครั้งนี้ นอกเหนือตัวบอร์ดคอนโทรลเลอร์ที่เป็นหัวใจหลัก โบ๊ทก็ได้ปรับเซ็ตกับเพิ่มเครื่องดนตรีอย่าง กลองบองโก เชคเกอร์ขนาดพอดีมือ รวมถึงกีตาร์ไฟฟ้าที่ได้ นัทและคริส สองหนุ่มจากโปรเจกต์ Ntfolk17 มาแจม ส่งให้บรรยากาศดูลึกลับน่าค้นหากว่าเคย
ดนตรีพื้นเมือง แอซิดเฮาส์ และซาวด์สังเคราะห์โดยรอบ ล้วนเป็นวัตถุดิบที่รังสรรค์ผ่านการเล่นแร่แปรธาตุมาอย่างกลมกล่อม ตั้งแต่การเปิดเซ็ตด้วยเพลง Muanlai ที่ใช้ไลน์กีตาร์ขับซาวด์ให้คล้ายพิณ ก่อนทรานสิชั่นเข้า Black Book สู่เพลง Bangkok to Petra หลากเลเยอร์ทางเสียงกับแบ็คกิ้งแทร็กกึ่งลูกเอื้อนหมอลำที่บิวท์อย่างราบเรียบ แต่พวกเขาก็เมคชัวร์ว่าผู้ชมที่ยืนดูอยู่จะไม่อ่อมแน่ ผ่านไดนามิกขึ้นลงที่นวดแบบต่อเนื่อง
ถัดมาในส่วนครึ่งหลังของโชว์ สามหนุ่มหันมาจัดแจงซาวด์แอมเบียนต์โดยเริ่มที่ Merry Belated Birthday งานรีมิกซ์เพลง ‘Merry Christmas, Mr.Lawrence’ เพื่อทริบิวต์แด่ ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) ต่อด้วย Bangkok Tequila และ F.T.S.H. พร้อมวิชวลสุดเมามายที่อีกนิดก็เตรียมทริปไปมิติหน้า ส่วนตัวแอบคิดว่าเซ็ตนี้สามารถนำไปเล่นบนเวที Bolier Room MHRS หรือเวนิวที่ไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะในคลับได้เลย
เวลาประมาณ 20.42 น. KIKI ก็เดินขึ้นมาพร้อมเสียงปรบมือเชียร์และเสียงแซวจากผองเพื่อนศิลปินด้านล่าง พวกเขาเปิดโชว์ด้วยการสร้างบรรยากาศผ่านดนตรีอิเล็กโทรป๊อปที่เสกให้ห้องหับกลายเป็นดินแดนเวทย์มนตร์ ก่อนจะขนบรรดาเพลงจากสองผลงานเต็มชื่อ Post-existential Crisis และ Metamorphosis: Final Stage และอีพีอัลบั้ม We’re blamed for who we are, and then we are forgotten มาเล่นในโปรดักชั่นจัดเต็ม
แม้ช่วงเริ่มต้นของ กีกี้ จะเป็นเพียงโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่ก่อตั้งด้วยสมาชิกสามคนคือ เฮเลน—เอเลน่า อะมาร็องตินิซ์ พันธุ์สุข, บอส—ภูริช พันธุ์สุข และ นนท์—ธนญ แสงเล็ก จากการทำเพลงในเบดรูมสตูดิโอที่ไม่คาดคิดว่าผลงานเหล่านั้นจะส่งให้พวกเขามาไกลขนาดนี้ มาไกลในขณะที่มีเพื่อนร่วมเดินทางจนมาถึงอีกหนึ่งโชว์ใหญ่ซึ่งรายล้อมด้วยแฟนคลับ พร้อมสมาชิกอีกหกคนหกเครื่องบนเวที อาทิ เพอร์คัสชั่น เบส กลอง ซินธิไซเซอร์ และไลน์คอรัส
ทุกซาวด์ดีไซน์ ไดนามิก และเพอร์ฟอร์แมนซ์ของพวกเขา หากเราจะขอเรียกว่าเป็นการแสดงสดของวงดนตรีไทยที่เปี่ยมชีวิตชีวาและลูกเล่นมากที่สุดอีกหนึ่งวงก็คงไม่เกินจริงไป ตั้งแต่พาร์ทหนึ่งชั่วโมงแรกใน XOXO, Don’t Forget Me, Daydream, I Am, Can You Feel My Love ที่ตะโกนร้องกันได้แบบไม่เคอะเขิน ก่อนเธอจะต้อนรับทุกคนเข้าสู่ 5th Dimension, Blue และเพลงใหม่กับน้ำเสียงเศร้าหมองกึ่งเซ็กซี่เล็กน้อย
โดยท่วงทำนองเพลงส่วนใหญ่จะดำเนินอยู่บนจังหวะกลางและเร็ว แต่เทมโปเนิบช้าในช่วงกลางโชว์ที่เบรคด้วยอะคูสติกเซ็ตของเพลง Always ที่ถูกเล่นต่อจากเสียงฝนโปรยปรายที่ช่วยปรับมู้ดให้เราได้พักผ่อน แล้วต่อที่ Run to you อย่างอ่อนไหวและทรงพลัง ต่างจากเพลงอื่น ๆ ในเซ็ตลิสต์ที่ทำเอาทุกคนเต้นยับแบบไม่หยุดหย่อน แต่ความพิเศษในค่ำคืนแห่ง KIKI 5th Dimension ไม่ได้จบลงเท่านี้
ทันทีที่สมาชิกบางส่วนเดินลับหายไป เหลือไว้เพียง นนท์ มือกีตาร์ที่เย้าแหย่ผู้ชมด้วยริฟฟ์น่ารัก ๆ แน่นอนว่ามันคือเมโลดี้ไลน์ของ Bunny House จากวงดนตรี Gym and Swim ที่ใครหลายคนคิดถึง พวกเขากลับมารวมตัวแบบเฉพาะกิจเพื่องานนี้ ก่อนส่ง Seagle Punch และ YUUWAHUU ที่ชวนกีกี้มาร้องเล่นและกระโดดโลดเต้น เป็นการเซอร์ไพร์สที่เราคาดไม่ถึงเหมือนกัน จนถึงตอนนี้เราก็ยังจำโมเมนต์สนุกสนานแถมตลกโปกฮาได้เลย
สำหรับชั่วโมงถัดมา หลากหลายเพลงในเซ็ตลิสต์ช่วงครึ่งหลังนี้จะผสมระหว่างอัลบั้มเต็มชุดแรกกับชุดสอง และมีเพลงจำนวนไม่น้อยที่เราชอบมาก ๆ เช่น Get Up, Eternal Ride, Baby, Alive, Back In The Game เพราะเกือบทุกเพลงของพวกเขานั้นถูกเรียบเรียงเอเลเมนต์เข้ามาใหม่ ซึ่งหาฟังจากออดิโอแทร็กไม่ได้แน่นอน อย่างท่อนโซโล่กีตาร์ วิธีการมิกซ์หรือ laid back ซาวด์ให้มีความยืดยาน ก่อนตบเข้าดรอปที่พอถึงช่วงทรานสิชั่นก็เล่นซะโคตรว้าว ทุกวินาทีของโชว์สามารถเติมพลังและทำให้เราเอิบอิ่มไปกับภวังค์ดนตรีได้อย่างงดงาม
สำหรับการปิดคอนเสิร์ต KIKI 5th Dimension ที่แม้ไม่มีอังกอร์ตามคำเรียกร้อง แต่ความสุดแบบไม่มีจุดสิ้นก็พุ่งต่อไปเรื่อย ๆ ในดีเจเซ็ตประกอบแสงสีสว่างวาบ (โอ๊ย สนุกเกินเบอร์จริง) ณ นาทีนั้นเริ่ม “อ๋อ” แล้วว่าทำไมชาวคลับมิวสิกถึงชอบใส่แว่นดำ อย่างไรก็ตาม ขอบคุณ KIKI ที่สร้างผลงานเพลงคุณภาพให้ทุกคนในฮอลล์ รวมถึงชาวคอสมอสได้ฟัง และมอบประสบการณ์ที่เราจะไม่มีวันลืมไปอีกนานแสนนาน
อ่านต่อ ‘Get Up’ พร้อมก้าวกระโดดไปกับ KIKI วงดนตรีที่ใครก็ฉุดไม่อยู่
แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist