Rainbow Safari Polycotton คืออัลบั้มชุดที่ 4 ของสี่หนุ่ม FOLK9 วงดนตรีจากค่ายปาริณามมิวสิก ที่ลดทอนความเป็นป๊อปนุ่มละมุน จังหวะเซิร์ฟโต้คลื่นเบา ๆ และโอเรียนทอลซาวด์ที่คล้ายหลุดมาจากหนังฮ่องกง พวกเขากลับมาพร้อมผลงานที่ไม่ได้นำด้วยตัวคอนเซ็ปต์ แต่เน้นการจับคาแรกเตอร์ต่อเพลงหนึ่งเพลงเพื่อทดลองกระบวนท่าใหม่ ชนิดที่โฟล์คไนน์ไม่เคยทำมาก่อนเหมือนกัน
ภาคดนตรีส่วนใหญ่ในอัลบั้ม Rainbow Safari Polycotton ไม่ได้เจาะจงแค่แนวเพลงไซคีเดลิก พวกเขายังแต้มสีสันฉูดฉาดผ่านรายละเอียดกิ๊บเก๋ บวกการแต่งเนื้อหาคำร้องที่ค่อย ๆ เปรยอย่างเห็นภาพ จากพลังงานหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะนั้น ไม่ก็พลิกล็อกแบบที่คลิกได้ไม่ยาก รวมถึงการโปรดิวซ์และโปรดักชั่นที่มิกซ์มาสเตอร์ออกมาดีมาก ๆ ในอีกแง่หนึ่ง มันก็เป็นเรื่องปกติที่ศิลปินอยากหนีจากคำจำกัดความของดนตรี “Lo-fi” ด้วยการอัพเกรดคุณภาพซาวด์ ลงทุนเข้าห้องอัด เรียนรู้วิธีปรับซาวด์ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ฟัง
(เราขออนุญาต disclaimer ก่อนว่าแนวเพลงประเภทนี้หรืองานโปรดักชั่นที่สร้างจากโฮมสตูดิโอ ด้วยอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่ได้มีราคาแพงจนเกินไป มันไม่ได้แปลว่าคุณภาพไม่ดี ทุกคนสามารถผลิตเพลงที่มีคุณภาพได้ และมันอาจขึ้นอยู่ที่รสนิยมความชอบส่วนบุคคล ซึ่งถ้าใครอยากลุกมาทำเพลงด้วยตัวเอง เราก็เชียร์ให้ลุยโลด ไม่ต้องรอ)
สายรุ้ง สวนสัตว์ซาฟารี และความพริ้วไหวทางฮาร์โมนีที่สอดประสานไปกับโลกแฟนตาซี เสมือนเนื้อสัมผัสของผ้าโพลีคอตตอนที่วงแอบเติมคำเข้ามาบนชื่ออัลบั้มในตอนสุดท้ายแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทุกอย่างอาจจะดูไม่สมเหตุสมผล สรุปแล้วมันเกี่ยวข้องกันยังไง? ทว่า หากเราลองได้ฟังทั้งหมด 10 บทเพลงตั้งแต่ต้นจนจบ วนลูปเป็นครั้งที่สอง สาม สี่ รู้ตัวอีกทีก็ติดหนึบเรียบร้อย FOLK9 สามารถสร้างผลงานที่ฟังแล้วรู้สึกกระปรี้กระเปร่า เมามาย กระทั่งผ่อนคลายอย่างน่าเหลือเชื่อได้อย่างไร ว่าแล้วก็ไปอ่านรีวิวคร่าว ๆ พร้อมกันเลย
Mr. Rainbow Sky ปลุกเราด้วยซาวด์สังเคราะห์ การหมุน Knob เอฟเฟกต์ประหลาด ๆ จับกับโน๊ตเบสน่าฉงน สักพักมีเสียงร้องเฮือก ก่อนตัดไปท่อนกรูฟกลองที่ประกอบให้ริทึ่มในเพลงนี้เริ่มเข้ารูปรอย ระหว่างไลน์ซินธ์ยียวนที่เคล้าริฟฟ์กีตาร์คล้ายสภาวะที่พึ่งฟื้นจากการแฮงค์ ด้านทำนองและเมโลดี้ วงก็เซ็ตมู้ดให้ใกล้เคียงกับ Choco Pie เพลงกลิ่นอายสโตนเนอร์-สแลกเกอร์ร็อกคึกคัก พร้อมจังหวะหย่อง ๆ ที่โคตรน่ารักน่าหยิกแถมติดหูสุด ๆ เหมือนตอนหยุดกินขนมช็อคโกพายไม่ได้ เราไม่แน่ใจว่าล็อตนี้เขาผสมอะไรมาหรือเปล่านะ
ถัดมาเป็น Mala ที่จัดซาวด์โอเรียนทัลในแบบที่ทุกคนคิดถึง พวกเขาหยิบรสชาติและคำว่า “หม่าล่า” มาปรับลูกเล่นผ่านคำร้องที่บางครั้งได้ยินเป็น มาลา หรือการเรียกชื่อใครคนนึงโดยใส่สำเนียงเชิงปลอบประโลมบนท่อนฮุก “Mala…It’s gonna be alright” ควบการสับไฮแฮท สแนร์ และฟลอร์ทอมสไตล์แจ๊สซี่ที่ชูไดนามิกด้วยกลองซึ่งเสริมความแข็งแกร่งให้เพลง ก่อนขยับเทมโปสู่ variation ที่กระฉับกระเฉงขึ้นในเมโลดี้ที่รัญจวนหัวใจยิ่ง
หากพูดถึงจุดเด่นของโฟล์คไนน์ สำหรับเราคือการที่พวกเขานำฟังค์ชั่นของเพลงป๊อปมาใช้ได้อย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งในอัลบั้มนี้ยังมีเพลงเนื้อร้องภาษาไทยแบบ Whispering (กระซิบ), Won’t Ask (จะไม่ขอ), River ที่ค่อนข้างตอบโจทย์ในแง่ที่พอฟังไปไม่กี่ครั้ง ทุกคนต้องร้องตามได้ทันทีแน่นอน แม้ทิศทางจะดูฉีกจากผลงานยุคก่อน เช่น My Pop Dog (2016), Morning Day (2017), Chinese Banquet (2018) แต่กลายเป็นว่าผลงานชุดนี้มันอัดแน่นทั้งความลงตัวและสดใหม่ จนทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ในจุด at their best แล้วจริง
เดินทางมาหยุดพักกับสามเพลงที่เราชอบที่สุด Melancholy Man เปิดผ่านไลน์กีตาร์ที่ประคองสำเนียงซึมเซาของกราฟในกลิ่นอายชวนให้คิดถึงพี่ Connan Mockasin ผสมผสานบรรยากาศแบบชิลเอาท์ เลาจน์คอร์ ในคีย์บอร์ดที่สลับกับแพทเทิร์นเบสกลองสไตล์มินิมอล เมื่อมันแนบกายเคียงข้างท่อนคอรัสและคนพูดแว่วสะท้อนเป็นระยะที่บรรจุความเซ็กซี่เหนือฝันเอาไว้ ใครที่ได้ฟังก็ต้องอ่อนระทวยกันบ้างแหละ
Out Of Control ล้ำด้วยบีตและอิเล็กทรอกนิกส์ซาวด์ที่แวะมานวดคลึงหู กวนประสาทแบบบวม ๆ เป็นแทร็กหลุดโลกเบา ๆ ที่วงเองก็นึกครึ้มอยากเล่นสนุกเหมือนกัน ต่อด้วย Feeling So Confused? กับทำนองเพลงโทนสว่างอีกหนึ่งสเต็ป พร้อมเสียงร้องยวบยาบที่เกาะซาวด์คีย์บอร์ดและริทึ่มอย่างเนิบ ๆ แต่ไม่น่าเบื่อ สิ่งที่โดนเส้นสุดน่าจะเป็นพาร์ท bending สายกีตาร์แบบ “ตึดตึด ตือตื้ออออ” (โอเคเลย!)
Safari แทร็กแอมเบียนต์ความยาวเกือบ 6 นาทีที่มีสารดนตรีตั้งต้นจากคำว่า “Hauntology” พวกซาวด์แทร็กประกอบหนัง ทีวีซีรีส์ หรือเพลงที่เปิดคลอในห้องสมุดและโถงกลาง ฟีลหลอกหลอน ล่องลอย แต่รู้สึกสงบจิตปล่อยใจได้ในเวลาเดียวกัน พวกเขาควบรวมอิทธิพลของอัลบั้ม Music Has the Right to Children (1998) จากคณะ Boards of Canada และ Music for Psychedelic Therapy (2021) ของโปรดิวเซอร์ชาวอังกฤษนาม Jon Hopkins มาบรรจบกันเป็นธารน้ำได้อย่างลื่นไหลสวยงาม
อ่านต่อ FOLK9 พูดถึงอัลบั้มที่ 4 ‘Rainbow Safari Polycotton’ ที่ย้อนกลับไปสู่ความเป็นไซคีเดลิกนุ่มนวลล่องลอย
แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist