AIR play Moon Safari ผลงานเพลงไร้กาลเวลาที่พิสูจน์การกลับมามีชีวิตชีวาของดูโอ้ชาวฝรั่งเศส

by Nattha.C
662 views
AIR play Moon Safari

และโอกาสของแฟนคลับชาวไทยก็เดินทางมาถึง นอกจากการประกาศไลน์อัพแรกที่ยังเป็นไฮไลต์หลักของ Maho Rasop Festival 2024 จนทำให้เราต้องกลับไปเปิดฟังอัลบั้มนี้ซ้ำอีกครั้งแล้ว เรื่องราวที่ทุกคนจะได้อ่านต่อจากนี้ก็เหมือนเป็นการได้ทำความรู้จัก Nicolas Godin และ Jean-Benoît Dunckel สองหนุ่มอีกหน ผ่านเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ชาวคอสมอสขอหยิบมาให้อ่านกันเพลิน ๆ

Jean-Benoît Dunckel และ Nicolas Godin อิเล็กทรอนิกส์ดูโอ้ชาวฝรั่งเศส

AIR ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 ภายหลังที่พวกเขาแยกย้ายกับเพื่อนฝูงในคณะอินดี้ชื่อ Orange นิโคลัสก็หันมาทำงานเดี่ยวด้วยการรีมิกซ์เพลงให้ศิลปินคนอื่น ๆ พอถึงเวลาอันเหมาะเจาะ เขาและคู่ซี้ ณ็อง-เบอนัวต์ ได้ตัดสินใจเริ่มทำงานร่วมกัน โดยคลอดอีพีอัลบั้มชุดแรกอย่าง Premiers Symptômes ที่ชูโรงผ่านซาวด์สังเคราะห์กลิ่นอายเฮ้าส์เป็นหลัก แน่นอนว่าชื่อเสียงในช่วงแรกของพวกเขาไม่ถึงขั้นหนาหู แต่เรื่องที่นับเป็นความโชคดีคือการอาศัยอยู่ในยุคสมัยที่วงการเพลงบ้านเกิดกำลังเปลี่ยนผ่านจากป๊อปสู่อิเล็กทรอนิกส์มิวสิกเต็มตัว

ก่อนอัลบั้ม Moon Safari จะถูกส่งมายังโลกดนตรี ภายในปี 1997 ผลงานเดบิวต์อย่าง Homework ของเจ้าพ่อเทคโนแดนซ์สวมหมวกโรบอทอย่าง Daft Punk ก็ได้ถือกำเนิด วางรากฐาน และกลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่เปลี่ยนมุมมองผู้คนต่อแนวเพลงอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงปีที่อุตสาหกรรมดนตรีในประเทศยังก้ำกึ่ง ระหว่างเพลงป๊อปร็อกที่ไม่เชิงเป็นกระแสหลักแบบฝั่งอเมริกาหรืออังกฤษ จนกระทั่งแดนซ์มิวสิกได้เข้ามามีบทบาทกับคนฝรั่งเศสจริง ๆ

อัลบั้ม ‘Moon Safari’ ผลงานปี 1998 ที่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล

ห้วงรัก จินตนาการ และความฝัน

AIR มีที่มาจากคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศส “Amour, Imagination, Rêve” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Love, Imaginative, Dream หรือในอีกความหมายหนึ่งที่พวกเขาเลือกใช้ชื่อ แอร์ เพราะอยากให้ลักษณะเพลงมีความ “Airy” หรือเบาบาง โปร่งสบาย กระทั่งลอยละล่องอย่างไร้แรงโน้มถ่วงเหมือนอยู่ในอวกาศ

สำหรับใครที่ได้ทดลองฟังหลากหลายผลงานของ AIR ก็อาจพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันมอบอารมณ์ความรู้สึกดั่ง “รักแรก” ทั้งความไร้เดียงสาและวันวานแห่งเยาว์วัยที่ถ่ายทอดออกมาอย่างซื่อตรง ทำนองดนตรีที่ฟุ้งฝัน ผสานวิธีการเรียบเรียงแบบเรียบง่าย ทว่าล้ำสมัยด้วยสัดส่วนของเอเลเมนต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอัลบั้ม Moon Safari (1998) ผลงานที่สามารถฟังได้อย่างเพลิดเพลินตั้งแต่ต้นยันจบแทร็กสุดท้าย

พวกเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเพียงชั่วครู่หรือถูกเปิดตามคลื่นวิทยุแค่ไม่กี่ปี แต่อัลบั้มนี้ยังพา นิโคลัส โกดิน และ ฌ็อง-เบอนัวต์ ขึ้นยาน เดินทางไปไกลกว่าที่สองหนุ่มจะจินตนาการถึง

อย่างซิงเกิ้ล Sexy Boy ที่ถูกนำไปเปิดในฉากหนึ่งของหนังรอมคอมเรื่อง ‘10 Things I Hate About You’ จนกลายเป็นเพลงชาติชาวเควียร์ ได้ประกอบโฆษณาโคโลญจ์ อีกทั้งยังไปเข้าหูไดเร็กเตอร์สาว Sofia Coppola เธอเคยเปิดอัลบั้มนี้รันยาวตอนเขียนบน ก่อนจะเอ่ยปากชวนมาทำซาวด์แทร็กประกอบภาพยนตร์ดราม่าเรื่อง ‘The Virgin Suicides’ หนังเรื่องแรกของโซเฟีย ซึ่งพวกเขาก็ได้ไปต่อกับเรื่อง ‘Lost In Translation’ (2003) ในเพลง Alone in Kyoto และ ‘Marie Antoinette’ (2006) ในเพลง ll Secondo Giorno” (instrumental)

การแสดงสดเพลง ‘Playground Love’ ร่วมกับเพื่อนศิลปิน Thomas Mars (Gordon Tracks) จากวงดนตรี Phoenix

การเดินทางข้ามเวลาพร้อมผลงานสุดไอคอนนิกที่พิสูจน์ว่า “AIR is alive again”
ภาคดนตรีส่วนใหญ่ของ AIR ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดนตรีอิเล็กทรอนิกส์-แอมเบียนต์ยุค 1970s ของเยอรมันและอังกฤษ Kraftwerk, Cluster, Brian Eno บวกการประพันธ์เพลงฉบับ Serge Gainsbourg ที่มีบรรยากาศความซีเนมาติกสูง ยกเว้นทางคอร์ดหรือโครงสร้างที่ใช้กลับค่อนข้าง simple แต่เห็นได้ชัดว่ามันเป็นจุดแข็งที่กุมพื้นที่หัวใจคนฟังแบบโคตรปัง

ในอัลบั้ม Moon Safari พวกเขาปรุงแต่งจานหลักของตัวเองด้วยกลิ่นอายเพลงสเปซป๊อป โพรเกรสซิฟร็อก ดาวน์เทมโป ชิลเอาท์ มันคือบรรดาบทเพลงที่คุณจะหยิบขึ้นมาฟังในเช้าวันหยุดหลังปาร์ตี้อย่างหนักหน่วง โดยทุกแทร็คล้วนสร้างจากเครื่องดนตรีที่ไม่ได้หวือหวาอย่างเบส กีตาร์ กลองชุด พร้อมซินธิไซเซอร์ยี่ห้อ Moog โมเดลเก่า Korg MS-20, Wurlitzers และ Vocoders ในราคาที่เอื้อมถึง ผลลัพธ์ที่ได้จึงมีความพิเศษเฉพาะตัว

อย่างไรก็ตาม กว่าพวกเขาจะยอมรับได้ว่าไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรมัน ในช่วงหลายสิบปีแห่งการพยายามออกตามหาอะไรใหม่ ๆ AIR ก็ตระหนักรู้ว่าพวกเขาได้ทำผลงานนี้อย่างเต็มที่ แล้วมันดันเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดที่ตลาดเพลงเคยมี แถมพาออกไปเจอประสบการณ์ อิสรภาพ และพบปะผู้คนที่คอยสนับสนุนมาตลอดอีกด้วย

“It’s no longer belong to us, It belongs to the audience”

Air perform ‘Moon Safari’ at London Coliseum, 2024 © Harry Elletson

สเตจดีไซน์ ศิลปะการจัดวาง และแสงไฟที่คืนชีพให้ดนตรีของพวกเขา
สำหรับทัวร์ AIR play Moon Safari ประจำปี 2024 ก็ถูกเนรมิตโปรดักชั่นโดย Antoine Jorel และ Pierre Claude ดีไซน์เนอร์ที่เคยออกแบบแสงสีให้คณะ The Strokes, Phoenix และล่าสุด Disiz แร็ปเปอร์ชาวฝรั่งเศสที่ลงทุนยกขั้นบันไดยักษ์มาวางบนเวที ซึ่งเราคาดว่าอินสไปร์มาจากฉากจบในหนังเรื่อง ‘The Truman Show’ (1998)

คอนเซ็ปต์ Jet Age จากอาร์ตไดเร็กชั่นในอัลบั้ม 10 000 Hz Legend (2001) **กล่องเวที และชุดสีขาวมินิมอล ทั้งคู่ครีเอทมันขึ้นผ่านการเซ็ตมู้ดแอนด์โทนที่ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ ‘2001: A Space Odyssee’ และซีนใน ‘A Clockwork Orange’ ผลงานปี 1972 ของสแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) แม้มองตาเปล่าแบบผิวเผินจะดูธรรมดาทั่วไป แต่ในทางเทคนิคจริงมันก็ซับซ้อนเช่นกัน

ทั้งความตระการตาที่ค่อย ๆ บิวด์อารมณ์ร่วมผ่านแสงไฟระยิบระยับ สะท้อนคู่ผนังกระจกที่เต้นรำเหมือนอยู่บนแดนซ์ฟลอร์ ตบท้ายด้วยวิชวลที่หลุดล่องไปยังอีกมิติกับการอิมโพรไวส์จากเค้าโครงเดิม สู่จุดพีคของเพลงแต่ละเพลงในอัลบั้มที่สนองโสตเราอย่างเอิบอิ่ม ทุกคนอย่าลืมมาสัมผัสประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจได้แล้วที่มหรสพเฟสติวัล วันที่ 23-24 พฤศจิกายนปีนี้นะ

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy