บางกอก POST เฟสติวัลที่กำลังกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายของซีนร็อกทางเลือก

by McKee and Nattha.C
360 views
บางกอก POST
Shadow Colonies

13 กรกฎาคม 2567

เปิดเวทีด้วย Shadow Colonies วงน้องใหม่สุดในงานนี้ เพิ่งเคยดูพวกเขาเป็นครั้งแรกเหมือนกัน ซาวด์ดำ ๆ ทะมึน ๆ แบบ dark wave ที่ผสมเสียงสังเคราะห์เย็นชา ๆ ให้คอนทราสกับเสียงหวานลึบลับน่าหลงใหลของนักร้องนำราวกับแม่มด ประเดิมด้วยสองซิงเกิลแรกอย่าง Divided และ Fast Asleep ที่เน้นใช้ซินธ์ในการสร้างบรรยากาศหวานขม ดรัมแมชชีนอันเยือกเย็น กีตาร์รีเวิร์บที่ดูขลัง กับเสียงน้ำร้องนำที่หวานเยิ้มราวกับเคลือบยาพิษไว้

ต่อด้วย Tide ที่มีลูกเล่นของการใช้กลองจริงเข้ามาผสมยกระดับดนตรีให้หนักหน่วงขึ้น และ In The Wide ซึ่งช่วงท้ายมีความ shoegaze เข้ามาด้วยให้เพลงดูสนุกขึ้น ไม่แน่ใจว่านี่คืองานแรกของวงรึเปล่า แต่แอบรู้สึกว่ามีส่วนที่ยังพัฒนาได้อีกเยอะมาก ส่วนหนึ่งรู้สึกว่าวงใช้ data เยอะ ๆ แล้วรู้สึกว่าวงไม่ค่อยมีแรงกระแทกกับคนดูเท่าไหร่ ถ้าวงหันมาใช้ซินธ์อะไรไปเรื่อยอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปมาก

The Biirthday Party

ต่อด้วย The Biirthday Party ที่เป็นขวัญใจของเราอยู่แล้ว เรียกว่าตัวตึงสายดรีมป๊อปอยู่แล้ว ไม่แปลกใจเลยที่จะได้อยู่ในไลน์อัพวันนี้ด้วย โชว์ของพวกเขาก็เน้นการบาลานซ์ความนุ่มนวลของซาวด์หวาน ๆ รีเวิร์บสวย ๆ พร้อมเนื้อเพลงพร่ำบ่นเบา ๆ ถึงความรักและความผิดหวัง ก่อนจะสาดซัดด้วยดนตรีมัน ๆ ในตอนท้าย สลับไปมาด้วยเทคนิคเท่ ๆ มากมาย สองเพลงที่เราชอบมากอย่าง ใครแอบพาเธอไปนะ? ก็มีไลน์กีตาร์มัน ๆ ที่พาทุกคนทะยานไปพร้อมจังหวะกลองเร่งเร้าอย่างมัน ยิ่งท่อนสุดท้ายที่ใส่กันเต็มเหนี่ยวคือโคตรวิ่ง และ แค่รองเท้าของเธอยังถอดไว้อยู่ที่ระเบียงอยู่เลย ก็เป็นอีกเพลงที่ครึ่งหลังเอาเรื่องสุด ๆ เหมือนกัน

Ziriphon Fireking

Ziriphon Fireking อารัมภบทด้วยเพลงแรกผ่านเสียงแอมเบียนต์อันมืดหม่นและลึกลับที่สร้างบรรยากาศราวกำลังอยู่ในพิธีกรรมที่มีเสียงสวดคล้าย ‘Sarduakar Chant’ ซาวด์แทร็กประกอบภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง Dune แต่สำหรับเวอร์ชั่นนี้ พวกเขาโทนดาวน์ความน่าเกรงขามหรือหลอนประสาทลงมาให้เหลือเพียงเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น แล้วจึงค่อย ๆ เติมแต่งและแผ่ขยายออกไป

ต่อด้วยเพลงสองที่เราถือว่าค่อนข้างสวยงามและสามารถสัมผัสได้ถึงความหวังเหมือนฟ้าหลังฝน พวกเขาคอยขับกล่อมเราอย่างผ่อนคลาย จากท่วงทำนองและซาวด์ของคีย์บอร์ดที่บรรจงเล่นคล้ายเสียงหยดน้ำเวลาร่วงหล่น หนึ่งหยดต่อหนึ่งโน๊ต ไลน์กีตาร์ที่สอดประสานพร้อมริทึ่มของเบสและการรัวกลอง มีพลังมากพอที่ส่งให้เสียงสุดท้ายของคีย์บอร์ดตอนจบ ทิ้งทวนกันไปอย่างพร่างพราวเหมือนเพลง lullaby

มาถึงช่วงพักสักเล็กน้อยหลังทุกคนเริ่มไฮป์ ทางวงก็เงยหน้าขึ้นมาทักทายคนดู “สวัสดีครับ พวกเราสิริพรไฟกิ่งจาก Newlights Production ดีใจที่ทุกคนชอบซีนโพสต์ร็อกนะครับ” ยิ่งจบประโยคก็ได้เสียงเชียร์ยกใหญ่ ทันทีที่เพลงสามถูกปลุกผ่านกีตาร์แล้วดรอปเหลือเพียงท่อนบรรเลงแบบเบาบาง ก่อนโหมความร้อนแรงที่คุกรุ่นอยู่ในตัวเรา วงก็ไม่รีรอที่จะดับฟืนไฟและมอบความอบอุ่นในเมโลดี้ที่ดีไซน์มาอย่างดิบดีของ Fireking ซึ่งระหว่างเพลงยังเสริมโทนที่ทั้งเข้มข้นและใกล้เคียงสภาวะเจียนตาย ประหนึ่งนกฟีนิกซ์ผู้ตื่นมาโผบินจากเถ้าธุลี

เช่นเดียวกับเพลงสุดท้ายที่สิริพรไฟกิ่งเลือกปิดโชว์ด้วย A Night On Westeros ดนตรีสุดแผดเผาและเยือกเย็นที่เสริมจังหวะชวนโยกหัวแบบโพสต์เมทัล ซึ่งอธิบายมิติและทัศนียภาพของพวกเขาที่กว้างขวางแต่ลุ่มลึกได้ จนเราแอบคิดว่าเป็นเพลงที่ทำให้ใครหลายคนในงานประทับใจไปไม่น้อยเหมือนกัน

TORRAYOT

TORRAYOT แม้พวกเขาจะเป็นวงคู่ขนานของ อู๋-ยศทร ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลักเพียงสามชิ้นเท่านั้น ทว่าเพื่อนสมาชิกอย่าง เซ้นส์ และ กั๊ง ที่รับตำแหน่งกระดูกสันหลังในส่วนของริทึ่มเบสกับกลอง ยิ่งทำให้เราหรือใครก็ต่างประหลาดใจต่อแรงซัดที่จิก ข่วน หวดอย่างไม่ยั้งมือ ความมันหลากหลายอารมณ์ถูกส่งต่อผ่านลิสต์ที่วงหยิบจาก ‘Facing Death By Now’ มาเล่น จนถึงเพลงในผลงานลำดับถัดไปอย่าง ‘Feed You With Mourn’

อาทิ อย่างที่เธอต้องการ กับช่วงเบรคดาวน์ตอนจบเพลงที่วงนำเสียงเตือนภัยกับไฟสีแดงหวือหวา สื่อถึงอันตรายที่เริ่มย่างกรายเข้ามา ก่อนส่ง สะกด ที่สร้างความฮือฮาและล้อมทุกคนไว้ด้วยทางคอร์ดกับซาวด์กีตาร์ เจือบรรยากาศล่องลอยแบบดนตรีชูเกซในห้วงสุดท้าย สักพักมีคนด้านหลังตะโกนว่า “เล่นดี เล่นดี!” (ขอไม่ปฏิเสธ) เสร็จสรรพพวกเขาก็จับเราขังไว้ในกำแพงเสียงจากแทร็กที่ไม่มีบนสตริมมิงไหน

ถัดมาเป็น รอยมืดดำ ที่พวกเขาขุดดินแล้วฝังกลบคนดูไว้จุดลึกที่สุด จากความหม่นหมองทางอารมณ์และซาวด์เอฟเฟกต์ที่พาหัวหมุนไร้สติ แล้วประกบด้วยการคัฟเวอร์เพลง Change (in the house of flies) ของคณะ Deftones ที่ทรานสิชั่นกลับสู่เนื้อร้องช่วงท้ายของเพลงก่อน “จริงอยู่ที่ฉันไม่อาจกลับไป ลบสิ่งที่ฝังไว้กับจิตใจ สิ่งที่คงไว้…คือความเดียวดาย” นาทีนั้นรู้เลยว่าทั้งสามเอาจริงแน่ในช่วงครึ่งหลัง

โดยเฉพาะสามเพลงปิดที่เรียงจาก Beads, The Hellfire Voices และเซอร์ไพร์สที่อู๋บอกว่าต้องมอชพิทกันสนุกชัวร์ ความสั่นสะท้านของลูกกระเดื่อง ไลน์เบสที่เด้งหนึบกับริฟฟ์กีตาร์ที่ออกแบบได้เท่ถึงเครื่อง ชวนให้นึกถึงแนวโพสต์พังก์ริไววัล ดูมเมทัล นอยซ์ร็อก และซาวด์ฟัซแตกยับแบบเดียวกับวง A Place To Bury Strangers ที่ดึงผู้ชมขึ้นจากสุสานแห่งความตาย ก่อนสิ้นแรงท่ามกลางสนาม Wall of Death อีกครั้ง

Desktop Error

เสียงกีตาร์ดังขึ้นมาแบบนี้ คนก็รีบทยอยเข้าฮอลล์ทันทีเพราะรู้กันว่า Desktop Error พร้อมแล้ว เสียงกีตาร์สองตัวที่คำรามล้อเล่นไปด้วยกันอย่างนุ่มนวล distortion ขยี้ให้มันหนักหน่วงงดงามอย่างประหลาด ถึงปีนี้อาจจะได้ดูโชว์ของพี่ ๆ ตามงานหลายรอบแล้ว แต่ยังไงเซ็ตเต็ม ๆ แอมป์แน่น ๆ บนเวทีใหญ่ ๆ แบบนี้ ก็ยังทำให้โชว์ของพี่ ๆ เต็มอิ่มกว่าครั้งไหน ๆ แน่นอน

เซ็ตลิสต์ส่วนใหญ่จะมาจากอัลบั้มใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เท่าที่ดู ที่โชว์สกิลขของวงรุ่นใหญ่ เสียงกีตาร์อาละวาดที่เร้าร้อน ท่อนดรอปที่ลูบหลังเราเบา ๆ ก่อนจะกดกีตาร์อันร้อนแรงที่ทั้งสามตัวก็ส่งเสียงสอดประสานกันได้อย่าง ปัจจุบันนา ที่ขยับจังหวะให้หนักหน่วงขึ้น เนื้อเพลงที่ดุดันก็ยิ่งส่งให้ไลน์กีตาร์แม่งเท่ขึ้นไปด้วย ขอ ก็ยังทรงพลังมาก ๆ เคมีที่ลงตัวของสมาชิกทุกคนคือสร้าง wall of sound ที่โคตรไพเราะ ในความหนักหน่วงมันถูกประดับประดาไปด้วยไลน์กีตาร์อันทรงพลังและอ่อนโยน ท่อนโซโล่ที่เหมือนชั่วนิรันด์ทำให้เราเหมือนหลุดจากโลกนี้ไปเลย

ส่วนเพลงเก่า ๆ ที่เราชอบอย่าง น้ำค้าง เองก็ทรงพลังมาก ๆ ในโชว์นี้ด้วยซาวด์ที่เต็มอิ่ม กีตาร์สามตัวคือโคตรลงตัว ไม่เคยเห็นพี่ตุ้ยใส่พลังยับขนาดนี้มาก่อนด้วย วงก็ดูเอนจอยกันมาก ๆ ซึ่งส่งพลังเหล่านี้ถึงคนดูได้อย่างสะเทือนใจคนดู

Chinese Football at บางกอก POST
Chinese Football

มาถึง Headliner จากจีนอย่าง Chinese Football แม้วงจะถูกขนานนามว่าเป็นวง math rock/Emo แต่โชว์ของพวกเขาก็มีกลิ่นสนุก ๆ ของความเป็นอัลเทอร์เนทีฟร็อกด้วย ไม่ได้เน้นเทคนิคจัดจ้านหรือเดือดดาลแบบวงสายนี้ขนาดนั้น แต่ก็ยังมีลูกเล่นทางดนตรีที่น่าสนใจ มีเพลงที่พวกเขาได้ปล่อยของกันอยู่บ้าง ส่วนสไตล์ดนตรีจะมีกลิ่นออกไปทาง midwest emo ที่เท่และโดนใจชาวร็อกวัย 30+ มาก ไดนามิกก็มีจังหวะเท่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงเร็วที่ชวนโยก หรือเพลงช้าเองก็มีท่อนสลับจังหวะมัน ๆ หรือไม่ก็ท่อนโซโล่ที่มีไลน์กีตาร์เท่ ๆ และจังหวะกลองสนุก ๆ บางเพลงก็เหยียบรีเวิร์บกระจายจนกลายเป็น shoegaze ที่โคตรมัน

ชอบที่มีกิมมิกของโชว์อย่างเพลง The World is Spiltting in Two วงก็ชวนทำ wall of death เฉยเลย โดยให้แฟน ๆ แบ่งเป็นสองฟังในท่อนดรอป แฟน ๆ ชาวไทยก็จัดให้ตามคำขอ ก่อนจะโดดใส่กันเพื่อปลดปล่อยความมันในท่อนโซโล่ได้โคตรสนุก เรียกเสียงเฮได้ลั่นฮอลล์ และเพลงสุดท้ายอย่าง Flying Fish ที่มือกีตาร์อีกคนควักเมโลเดี้ยนออกมาเป่า ซึ่ง outro ในตอนท้ายทุกคนก็วางเครื่องดนตรีตัวเองไปช่วยกันตีกลองซึ่งทำให้เห็นมิตรภาพและพลังของวงได้อย่างประทับใจ ก่อนไฟบนเวทีจะดับอย่างเท่

INSPIRATIVE

ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าทำไมทางทีมผู้จัดถึงเลือกให้ INSPIRATIVE มาเล่นต่อจากเฮดไลน์รองและเล่นเปิดให้เฮดไลน์หลัก กระทั่งได้ยืนฟังความเงียบสงัดพร้อมคลื่นเสียงที่ชวนสะกดตั้งแต่ อุโมงค์เวลา, สิ่งที่เหลือไว้, พื้นที่ว่าง, Under The Mountain และ Follow The GPS เหมือนพวกเขาได้ร่ายคาถาให้ทุกคนเดินทางข้ามมิติไปยังหลุมพรางแห่งความทรงจำที่เรายินดีจะตกลงไป สมกับเป็นวงดนตรีที่หากใครมีโอกาสได้ดูอยู่บ่อยครั้ง ก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โคตรอิมแพค” ซึ่งครองใจแฟนคลับสายเคว้งมาได้หลายขวบปี

พวกเขาใช้เอเลเมนต์ในการสร้างบรรยากาศได้คุ้มค่าและครบครันทุกเครื่อง ตั้งแต่ซินธิไซเซอร์ เบส กลอง และกีตาร์สองตัว ร่วมด้วยสไตล์การร้องอันดำดิ่ง เรียบง่ายแต่บาดลึกแถมพาน้ำตาแตก หลากหลายเลเยอร์ของเสียงที่ประกอบร่างจากหนึ่งถึงร้อย สามารถทำให้เราเอิบอิ่มอย่างเนิบช้า แล้วขับเคลื่อนไปสู่จุดที่เต็มเปี่ยมได้แบบไม่ติดขัด ขอแอบชื่นชมทีมซาวด์เอนจิเนียร์ วิชวล และทีมไลท์ติ้ง เพราะส่วนตัวเราคิดว่าเป็นอีกหนึ่งโชว์ของ INSPIRATIVE ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยดูมาเลย (ไม่นับเสียงเปิดกระป๋องของพี่นพ-มือกีตาร์และคนดูรอบข้างที่เล่นเอาหิวเบียร์ตามไปด้วย) คือความรู้สึกมันเอ่อล้นจนอธิบายเป็นคำพูดไปไม่ได้มากกว่านี้ไม่ได้จริง

Deafheaven at บางกอก POST
Deafheaven กับโชว์ส่งท้ายค่ำคืนของงาน บางกอก POST ที่ Centerpoint Studio

สำหรับวงถัดไปเป็นเฮดไลน์เนอร์ที่เราตั้งตารอคอยสุด ๆ หลังคลาดไปสองครั้งถ้วนกับ Deafheaven (ใช่ค่ะ ทั้งงาน Maho Rasop Festival และคอนเสิร์ตเดี่ยวของพวกเขาในปี 2022) พอสมาชิกทั้ง 4 คน อาทิ จอร์จ คลาร์ก, เคอร์รี่ แม็คคอย, แดเนียล เทรซี และคริส จอห์นสัน พร้อมแบ็คอัพอีกหนึ่งคนที่เดินก้าวเท้าขึ้นมา ก็เรียกเสียงปรบมือแบบครึกโครม ภายในห้องยังแน่นขนัดด้วยแฟนคลับรุ่นเก่าและใหม่ที่มีจุดโฟกัสสายตาไปในทิศทางเดียวกัน

การกลับมาพร้อมโชว์ 1 ชั่วโมงเต็มนี้ เรียกได้ว่าเติมไฟและฝันให้เรากับเพื่อนข้าง ๆ เขาเล่าว่าเคยมีโอกาสได้ดูวงนี้ครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน Deafheaven ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่วัยเรียนวัยหัดฟังจนมาถึงปัจจุบัน ทางวงขนงานเพลงจาก ‘Ordinary Corrupt Human Love’, ‘Sunbather’, ‘Infinite Granite’ ควบเพลงอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าเราพลาดอัลบั้มไหนไปต้องขออภัย ตอนนั้นคือยืนอิ่มซาวด์ยิ่งกว่าชุดจุใจไปเรียบร้อย

ตั้งแต่พลังเสียงของ จอร์จ คลาร์ก (George Clark) ที่กรีดร้องด้วยโทนเล็กแหลม และการสวิงหัวที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์แบบละสายตาไม่ได้ ซาวด์กีตาร์ที่แตกพร่าทว่าไม่เสียดแทงเกิน ประกอบไลน์เบส จังหวะกลองชวนให้หน่วงหนัก ผ่านมวลความรู้สึกที่ช้อนตัวเราไปยังจุดกึ่งกลางระหว่างสวรรค์และนรก ในสัดส่วนของชูเกซอันนุ่มนวลดั่งบุปผาไร้พิษภัย ที่เติบโตท่ามกลางความแข็งกร้าวและหยาบกร้านราวคอนกรีตจากเอเลเมนต์ของเพลงแบล็คเมทัล

หันมาทางฝั่งคนดูที่กระโดดโยกตัวเพิ่มระดับความสนุกสนานไปพร้อมไดนามิกดนตรีที่กระหน่ำ กระแทก และกระทำการสูบฉีดเลือดเนื้อให้ทุกคนในโซนฟรอนต์โรลร่วมวงเซอร์เคิลพิท สเตจไดฟ์ ถวายแก่สเด็จพ่อให้ชื่นใจ เราเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่าทำไม “พวกเขาถึงเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ควรดูสดให้ได้สักครั้ง”

+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy