Bangkok Community Radio แพลตฟอร์มที่อยากจะเห็นศิลปินในกรุงเทพ ฯ ไปได้ไกล และทำให้คอมมิวนิตีดนตรีเข้มแข็ง

by Montipa Virojpan
1.3K views
Bangkok Community Radio

ชื่อของ Bangkok Community Radio เป็นที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีสำหรับคนที่ชอบไปปาร์ตี้และคลุกคลีในซีนดนตรีอิเล็กทรอนิกของกรุงเทพ ฯ พวกเขามีเว็บไซต์ https://www.bangkokcommunityradio.com/ ที่เราสามารถเข้าไปฟังเพลงจากศิลปินขาประจำที่ส่งมิกซ์มาจากทางบ้าน รวมถึงดีเจรับเชิญจากทั้งในและต่างประเทศที่มาอัดเซ็ตถึงที่สถานีบนชั้นสองของร้าน Entertainment Project แต่ความพิเศษคือเซ็ตที่ได้ฟังกันบนแพลตฟอร์มมักจะไม่ใช่เพลงที่พวกเขาเล่นกันเป็นปกติในคลับ ทำให้เราได้ค้นพบตัวตนอีกด้านหนึ่งของเหล่าดีเจ และได้เพลงใหม่ ๆ ไว้ฟังอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเร็ว ๆ นี้พวกเขากำลังจะมีอีเวนต์สำคัญสองงานคือ BCR Dance ในวันเสาร์ที่ 27 มกราคมนี้ และที่ Bangkok Design Week ตลอดสัปดาห์หน้า

แต่ก่อนที่เราจะไปเจอกับทั้งสองงาน เราขอชวนส่วนหนึ่งของทีมที่อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้มาพูดคุยกันว่า เราจำเป็นต้องมี ‘คลื่นวิทยุชุมชน’ กันไปทำไม แน่นอนว่า แฟรงค์ แนนคิเวล, เจ— ศรายุ ศรียุกต์สิริ และ เมย์—ชูชีวา ชีพชนม์ มีคำตอบในเรื่องนี้

Bangkok Community Radio
Bangkok Community Radio

แฟรงค์: เราเริ่มโปรเจกต์นี้กันช่วงล็อกดาวน์ ประมาณปลายปีของโควิดระลอกแรกที่คลับบาร์ปิดกันหมด อีเวนต์อะไรก็จัดไม่ได้ เลยคิดว่าอยากจะมีแพลตฟอร์มอะไรสักอย่างเพื่อช่วยศิลปินเพราะเราเองก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ บวกกับตอนนั้นในกรุงเทพ ฯ หรือในไทยเองก็มีวิทยุออนไลน์น้อยมาก ทั้ง ๆ ที่สิ่งนี้มันเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จมากในยุโรปหรือเอเชีย อย่างที่เกาหลีใต้มี Seoul Community Radio ผม (Vell) แล้วก็ เลียม (Seelie) แล้วก็เจ (Sarayu) กับต๊อบ (DOTT) จาก More Rice เลยเริ่มคุยไอเดียกัน และทำกันมาตั้งแต่ตอนนั้น จากนั้นก็มีตั๊กกี้ (Takky) กับเมย์ (Chucheewa) ทาริกา แล้วก็เบรนต์ (Transport) มาร่วมทีม ทำให้ทีมของเราใหญ่ขึ้น สามารถทำอะไรได้หลายอย่างขึ้น รวมไปถึงการมีคอนเน็กชันใหม่ ๆ และสกิลเซ็ตในการทำส่วนต่าง ๆ ในทีมให้เป็นระบบ 

แล้วเมื่อปลายปี 2023 เราก็มีสถานีออฟไลน์ที่ชั้นบนของ Entertainment Project เริ่มจ้างหยก (Gayath) ให้มาเป็นโปรดิวเซอร์ แล้วก็อาดิต (HI(GH) HAT) มาทำกราฟฟิก ก็เลยเป็น BCR อย่างที่เห็นในตอนนี้ แล้วก็แน่นอนว่าเราหวังว่าทีมจะขยายใหญ่ขึ้นอีก แผนการเติบโตในอนาคตก็น่าจะเป็นการที่เราสามารถว่าจ้างทีมงานเพื่อให้มาดูแลสตูดิโอหรือช่วยจัดอีเวนต์ได้มากขึ้น ตอนนี้หลาย ๆ คนที่มาช่วยก็มาเป็นน้ำใจเพราะอยากทำให้คอมมิวนิตี แต่ก็อยู่ไม่ได้นาน เราเลยหวังว่าในอนาคตจะสามารถเปลี่ยนจากงานอาสาไปเป็นงานที่สร้างรายได้ได้จริง เพราะเราก็รู้แหละว่าคนที่ทำงานสมควรจะได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม

เจ: เป้าหมายหลักก็คือการเป็น community radio ซึ่งในการทำงานของพวกเราก็มีความเข้าใจร่วมกันนะว่าสิ่งนี้เป็นการทำเพื่อคอมมิวนิตี ดังนั้นอะไรหลาย ๆ อย่างก็ต้องใช้เวลาแหละ เราพยายามให้ทุกอย่างอยู่ด้วยตัวเองได้เหมือนการทำบาร์ อะไรทำเองได้ก็ทำไปก่อน แล้วก็เริ่มมีโปรเจกต์ร่วมกับหลายภาคส่วน เลือกจัดงานในสถานที่ที่ต่างกันไป คล้าย ๆ กับว่าเราเป็น creative agency ทำนองนั้น

แฟรงค์: ในแง่การหารายได้ก็มีทั้งการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ อย่างงาน BCR Dance เสาร์นี้ หรือที่ Bangkok Design Week ในสัปดาห์หน้า แล้วเราก็ร่วมงานกับบาร์หลาย ๆ แห่งในกรุงเทพ ฯ อย่าง Entertainment Project เริ่มรับงานสปอนเซอร์หรือพาร์ตเนอร์อย่างแบรนด์ AIAIAI ที่ตอนนี้เขากำลังโปรโมตหูฟัง แล้วเดี๋ยวจะมีอย่างอื่นอีกเรื่อย ๆ ภายในปีนี้ เราจะร่วมงานกับแบรนด์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตอนนี้ก็คุยแผนล่วงหน้ากันไปถึงปีหน้าแล้วด้วยครับ อย่างที่เจบอกว่าเราพยายามจะให้แบรนด์หรือตลาดที่น่าสนใจรู้จักเรา เพื่อที่จะสร้างโอกาสต่าง ๆ ให้ BCR ได้มากขึ้นด้วย

เจ: อืม เราพยายามจะทำงานร่วมกับแบรนด์แหละ แต่ว่ามันค่อนข้างยากเพราะหลาย ๆ แบรนด์ในไทยเขาไม่ค่อยให้สปอนเซอร์เป็นเงิน ส่วนใหญ่ก็เป็นแลกมีเดียเพื่อโปรโมตโปรดักแทน

แฟรงค์: แต่มีอีกอย่างที่เราชอบ คือมันมีโมเดลการทำรายการวิทยุที่คนเอามาแชร์กันในกรุ๊ปประหลาด ๆ ของคนที่ทำ community radio อย่างเช่นการทำ subscription ในสมัยก่อนพวกที่ทำวิทยุใต้ดินหรือผิดกฎหมายเนี่ยแทบจะไม่มีทางหาเงินได้เลย พวกนี้ก็เลยทำระบบสมาชิกให้จ่ายเงินแบบไม่ต้องมากหรอก แต่เงินก็จะไปถึงทั้งสถานีและดีเจโดยตรง อีกโมเดลนึงคือการระดมทุน หรือการได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล จะเป็นการบริจาคหรือเงินสปอนเซอร์ก็ได้ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ แล้วการจะใช้วิธีนี้ในไทยดันเป็นอะไรที่ยากกว่าการ subscribe อีก แต่ขณะเดียวกันระบบสมาชิกเอง อาจทำให้ศิลปินบางคนที่ไม่ได้มาจากครอบครัวมีอันจะกินไม่ได้รับโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งคอมมิวนิตี เขาอาจจะไม่มีเงิน 200 บาทมาจ่ายค่าสมาชิกทุกเดือน และทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงตรงนี้ได้ ดังนั้นเป้าหมายหลักตอนนี้ของ BCR คือการเป็นพื้นที่ให้ศิลปินไทยที่น่าสนใจได้มาเล่น แล้วเราก็พยายามทำงานกับแบรนด์ที่จะเป็นสปอนเซอร์เพื่อซัพพอร์ตสิ่งนี้ได้ แต่ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะมีตัวเลือกอื่นให้ทดลองไปเรื่อย ๆ

เจ: เราพยายามเลือกไลน์อัพดีเจให้มีความหลากหลาย อย่างคนที่นำเสนอแนวเพลงที่เฉพาะทางมาก ๆ เราก็ชวนมา คิดว่าแทบจะครอบคลุมทุกแนวเพลงแล้วแหละ

แฟรงค์: เงื่อนไขของเราตั้งไว้หลวม ๆ แค่คุณเป็นศิลปินหรือนักดนตรีที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ ฯ หรือประเทศไทยก็สามารถติดต่อมาที่เราได้ หรือไม่ก็เป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ แล้วเราสามารถให้คุณเป็นนักจัดรายการประจำของเราได้ด้วย อันที่จริงเราก็ไม่ได้เคร่งอะไรเพราะบางทีเรามีชาวต่างชาติที่เคยเป็นดีเจประจำที่เคยอาศัยที่นี่ แต่ตอนนี้ย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้วแค่ยังส่งเซ็ตมาให้เราเรื่อย ๆ แต่อย่างนึงคือเราจะไม่ให้คนที่ไม่เคยอยู่ที่นี่หรือรู้จักใครที่นี่เป็นดีเจประจำ เราลองดูสถิติล่าสุดคือประมาณ 80% ของคนที่มาจัดรายการเป็นคนไทยที่อยู่ในไทยหรือกรุงเทพ ฯ แล้วก็ 10% เป็นต่างชาติ และอีกประมาณ 10% อาศัยในต่างประเทศ

แฟรงค์: เราไม่มีแนวเพลงตายตัว หลัก ๆ เราแค่อยากจะรวมดนตรีจากทุกซีนที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ ให้ถูกได้ยินมากที่สุดนั่นแหละ แต่ก็มีบางแนวที่อาจจะไม่ใช่ทางเรา อย่างสมมติคุณทำเซ็ต EDM แมสมาเลย บางทีก็ไม่เข้ากับไวบ์ของรายการ เราก็อาจจะไม่เลือก

เมย์: เราไม่ใช่แพลตฟอร์มนำเสนอเฉพาะเพลงเต้นรำอิเล็กทรอนิก ถือว่าค่อนข้างเปิดสำหรับทุกแนว เราพยายามจะชวนศิลปินอย่างเช่น Beam Wong ที่ปกติเขาทำเพลงแอมเบียนต์และเล่นไลฟ์มาทำโชว์ให้เรา ซึ่งงานของเม้งก็น่าสนใจมาก ๆ ยังมีดีเจอีกหลายคนที่ปกติไม่ได้เปิดเพลงในปาร์ตี้แต่ก็ส่งเซ็ตมาให้ แล้วดีเจบางคนก็ส่งเพลงที่ปกติเขาฟังกันที่บ้านส่งเข้ามาด้วย ซึ่งนั่นก็ทำให้คนฟังเข้าใจว่า อ๋อ BCR ไม่ได้มีแค่เพลงแดนซ์นะ ยังมีแนวอื่น ๆ ด้วย ถ้ามันไม่ได้แมสมากเราก็ยินดีที่จะเลือกมาเปิดในรายการ

เจ: ถึงแม้จะไม่ค่อยได้ทำให้ BCR อะนะ แต่ถ้าผมได้ทำโชว์มาส่งผมก็ไม่อยากทำแค่แดนซ์มิวสิก เพราะจริง ๆ ผมก็ฟังแนวอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นผมก็จะเปิดเพลงที่ไม่เคยเปิดในปาร์ตี้ แล้วก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่ศิลปินคนอื่น ๆ จะได้ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ และทำให้วิทยุของเรามีความหลากหลายขึ้นด้วย

แฟรงค์: เราเคยทำมาบ้างแล้วนะ เมื่อปีที่แล้วเราไปคอลแล็บออนไลน์กับวิทยุในสหราชอาณาจักรที่ชื่อ Thread แล้วก็ทำกับ Headstream ที่บาหลี แล้วเดี๋ยวกำลังจะมีทำกับ FM BELOWGROUND ของฮ่องกง เรายังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากขนาดนั้นกับรายการเหล่านี้ (เมย์: แต่ก็เคยมีชวน Seoul Community Radio มาอยู่นะ) อ๋อ เราจัดงานที่ให้ SCR มาเล่น แล้วก็แชร์คอนเทนต์ออนไลน์กัน ตอนนั้นก็สนุกดี แต่ก็มีการพูดคุยที่น่าสนใจในกลุ่มแปลก ๆ (Community Radio Group) อันนั้นว่า จะทำยังไงให้การจัดอีเวนต์แบบนี้คุ้มค่า เพราะคนทำงานส่วนใหญ่ก็มาทำฟรีหรือบางทีไม่ฟรีแต่ได้เงินน้อย ดังนั้นถ้าจัดอีเวนต์แล้วไม่สร้างรายได้ให้คนเหล่านี้เท่าไหร่มันก็เป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งเราก็กำลังอยู่ระหว่างการหาทางออกสำหรับเรื่องนี้

เมย์: มีนะ อย่างเช่นศิลปินบางคนที่จริง ๆ เขาอาจจะเป็นดีเจที่เก่ง แต่เขาทำอยู่แค่ที่บ้านเขา ไม่ได้ออกไปเล่นที่ไหน (The COSMOS: แล้วไปเจอได้ยังไง) บางทีเพื่อนก็แนะนำมา ไม่ก็เป็นคนนั้นทักมาหาเราเลย แล้วเราก็ลองฟังเซ็ตของเขาดู ถ้าน่าสนใจก็จะชวนให้ส่งเซ็ตมาหรือไม่ก็มาจัดรายการที่สตูดิโอ แล้วการที่เขามาอัดที่เรา เราก็จะอัพโหลดมิกซ์ของเขาขึ้นไปบน Soundcloud เลยเป็นประโยชน์มาก ๆ ที่เขาจะได้มีเซ็ตที่อัดดี ๆ เป็นอันแรก แล้วถ้าเกิดเขาอยากจะไปเล่นที่คาเฟ่ บาร์ หรือร้านอาหาร ก็ส่งเซ็ตอันนี้ไปให้ร้านนั้น ๆ ลองฟังได้

แฟรงค์: หรือบางทีถ้าเป็นดีเจที่มีงานเล่นบ้างอยู่ก่อนแล้ว การมาเล่นกับเราก็อาจจะทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย อย่าง Issasha ก็เริ่มดีเจมาตั้งแต่ก่อน BCR แต่ว่าซาช่าส่งเซ็ตมาให้เราอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แล้วผมก็ได้เห็นคนมาบุ๊กไปเล่นเยอะมาก อย่าง Zodiac ที่จาการ์ตาก็มาชวนไปเล่นหลังจากที่ได้ฟัง 2 โชว์ใน BCR ของซาช่า แล้วบางทีคนที่ไม่เคยเป็นดีเจมาก่อนเลยก็อาจจะได้รับโอกาสนี้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่ได้งานจ้างในกรุงเทพ ฯ แต่ได้ไปเล่นต่างประเทศด้วย ผมว่านี่คือสิ่งที่เราอยากจะให้เป็น คือการถูกมองเห็นและเป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้เติบโตในสายอาชีพ

เมย์: หรือบางทีดีเจเหล่านี้ก็จะได้มาเล่นในอีเวนต์ของ BCR ด้วย แฟรงค์กับเบรนต์จะคอยเช็กสถิติหลังบ้านตลอดว่าใครที่ส่งเซ็ตมาให้เราสม่ำเสมอ ดังนั้นมันเลยไม่เกี่ยวกับว่าคุณเป็นดีเจดัง เป็นที่รู้จัก แค่มีวินัยแล้วก็มีแนวทางที่ไม่เหมือนใคร เราก็จะช่วยให้พื้นที่คุณมากขึ้น แล้วก็จะเชิญมาอีกถ้าเรามีสลอตว่างพอดี

เจ: รู้งี้น่าจะทำโชว์ส่งให้ BCR บ่อย ๆ (หัวเราะ)

เจ: ก็มีคนมาขอเป็นดีเจรับเชิญกันมากขึ้น ทักมาใน DM ผมก็มี

แฟรงค์: อันที่เจบอกก็เป็นอย่างแรก ๆ ที่เห็นชัด อีกอย่างก็คือมีการจ้างสต๊าฟ จ่ายค่าเช่า แล้วตอนนี้ก็กำลังมีร้านขายเมิร์ชที่ก็ไม่ได้ทำกำไรเท่าไหร่ แล้วก็มีเรื่องการจัดระบบ อย่างเช่นการบุ๊กคนมาเล่นที่ต้องมีการสกรีนกันก่อน แล้วก็การทำให้มีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคให้ได้น้อยที่สุดเพราะรายการเราเป็นออกอากาศสดเนอะ ก็เป็นปกติที่พอเวลานานเข้าองค์กรก็ต้องเติบโตขึ้นและย่อมมีการเปลี่ยนแปลง น่าสนใจมากที่สองวีคที่ผ่านมาสตูดิโอเราคนแน่นเลย วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์มีคนมาจัดรายการตลอดตั้งแต่เที่ยงถึงสองทุ่ม ไม่ค่อยมีดีเจประจำมาอัดกันที่นี่เท่าไหร่ แต่เป็นดีเจรับเชิญจากต่างประเทศทั้งนั้นเลย

กับอย่างที่บอกไป สิ่งนึงที่เราอยากมีสถานีก็เพราะจะได้ให้ดีเจที่เป็นศิลปินที่เก่งและน่าสนใจ แต่ไม่มีเครื่อง ไม่มีอุปกรณ์ที่บ้านได้มาใช้งที่นี่ เขาจะได้มีที่ไว้อัดมิกซ์เพื่อที่จะได้รับโอกาสทางอาชีพมากขึ้น

เมย์: ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากมาอัดเซ็ตที่สถานี แต่บางทีเขาก็ไม่รู้ว่ามาใช้สตูดิโอได้ อย่างเราเพิ่งเข้าใจว่าระบบการทำงานของที่นี่คือยังไงเมื่อวีคก่อนเอง หมายถึงการที่จะอัดเซ็ตเองจากที่บ้าน การเป็นดีเจประจำ หรือมาเล่นที่สตู ว่ามันมีตัวเลือกให้แบบนี้ ๆ นะ เราต้องสื่อสารกับเขามากขึ้นเพื่อให้เข้าใจระบบใหม่ที่เราทำ

เจ: แต่เราก็บังคับให้เขามาเล่นที่สตูตลอดไม่ได้เหมือนกัน อย่างสลอตเราอยู่วันอาทิตย์ตอนเย็นใช่ไหม แต่มันเป็นเวลาที่ต้องกินข้าวกับคุณย่าที่บ้าน เลยเป็นเหตุผลว่าไม่เคยส่งมิกซ์เข้ามาเลย (หัวเราะ)

แฟรงค์: อืม ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ (สื่อสารกับคอมมิวนิตี) ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เรามีโชว์แน่นอยู่ตลอด ถ้าเราได้เอนเกจเมนต์และได้รับความสนใจมากขึ้นก็หมายความเราจะขายเสื้อยืดของเราได้ เรามีที่เป็นหลักแหล่ง ได้มีพื้นที่ให้คนมาสนุก เหมือนกับว่าเรามีที่แห่งนี้ก็เพื่อเชื่อมคนในซีนเข้าด้วยกันและได้ใช้พื้นที่นี้ร่วมกัน

เจ: เกือบจะนะ

แฟรงค์: เราขอเช่าพื้นที่กับแป๋ง (Yellow Fang/ DJ Zombie) ซึ่งก็อาจจะไม่ได้เช่าไปตลอด คิดว่าจะต้องคุยกันว่าประมาณมิถุนาจะย้ายที่ไหม คือมันใช้พลังงานเยอะเหมือนกันในการทำให้พื้นที่นี้เป็นแบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ มันก็คงจะดีถ้ารันต่ออีกซักปีแล้วดูว่ามันเวิร์กไหม เราได้อะไรจากมันหรือเปล่า คนชอบมันไหม การทำอะไรแบบนี้ให้มันไปรอดก็ยากอยู่ แต่มันก็สนุกดี

แฟรงค์: เป็นเรื่องดีที่ได้เห็นซีนเติบโตนะ แต่เรามีคนประมาณ 10 ล้านคน มันน่าจะดีถ้าเราไม่ต้องพยายามทำยอดขายด้วยการกดราคาบัตรให้ถูกในทุก ๆ อีเวนต์ มันน่าจะดีถ้าเรามีเวนิวที่เป็นคล้าย ๆ คลับแต่เปิดในช่วงเวลาที่ต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นตอนกลางคืนตลอด แล้วก็ในฐานะที่ไม่ใช่คนไทย ผมประหลาดใจที่ที่นี่ไม่ค่อยมีสถานที่จัดงานพวกนี้ แล้วก็มีตลาดที่ค่อนข้างแคบมาก แต่ใน 5-10 ปีมานี้มันก็มีแนวโน้มว่าซีนจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ผมไม่รู้ว่าวันนี้พรุ่งนี้เราจะทำคลับของตัวเองรึเปล่า แต่ตอนนี้คือเราทำเพื่อซัพพอร์ตไนต์คลับ ศิลปิน ดีเจ และอื่น ๆ ที่คิดว่าควรจะทำ โดยหวังว่าผลลัพธ์จะออกมาดีสำหรับทุกคน

เมย์: เราหวังว่าจะมีคนเป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมให้คนใหม่ ๆ เข้ามาในซีน อย่าง NOTEP ก็เป็นคนที่ช่วยให้ซีนขยายขึ้นได้ ถ้าเรามีคนในซีนมากขึ้น คอมมิวนิตีก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยตัวเอง แล้วทุกคนก็จะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ละสนับสนุนซึ่งกันและกันได้อย่างเต็มที่

เจ: รอดูว่าอีก 2-3 ปีเราจะโตไปขนาดไหนใน อย่างตอนนี้ถ้าเราลองมองซีนศิลปะ เขาก็กำลังไปได้สวยนะ คนในแวดวงครีเอทิฟโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ๆ เขามีไฟ มีแรงจะสร้างสรรค์งานกันสุด ๆ หวังว่าซีนดนตรีเราจะดีขึ้นด้วย อันที่จริงมันก็เป็นซีนที่เชื่อมกันเนือง ๆ อย่างเราเห็นคนสายแฟชันในนี้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีครับ

แฟรงค์: อย่างที่บอก ในฐานะคนที่ไม่ได้อยู่ที่นี่ ถ้าคุณอยู่ที่นิวยอร์ก เบอร์ลิน หรือลอนดอน แล้วคุณมีวง เป็นศิลปิน หรือเป็นดีเจ คุณมีโอกาสจะประสบความสำเร็จถ้าคุณรู้จักใครสักคนหรืออยู่ในแวดวงของสื่อ เอเจนซี อาร์ตสเปซ เวนิว หรือคลับใหญ่ ๆ อะไรก็ตามแต่ ในมุมของดีเจที่ทำเพลงด้วย ดีเจหลายคนเลือกที่จะทำเพลงเองเพราะคิดว่านั่นเป็นทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริง เขามองว่ามันยากกว่าถ้าไม่ได้ทำเพลงเองหรือโปรดิวซ์เพลงเลย แต่มันก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไปเพราะถึงแม้คุณจะทำเพลงได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะจุดติด ดังนั้นมันก็ยากเหมือนกันหมด 

แต่เราก็เห็นวงหรือดีเจที่นี่ประสบความสำเร็จมาบ้าง เราก็หวังว่ามันจะเป็นหมุดหมายที่ดีนะ นั่นแปลว่าคลับซีนที่นี่ก็สามารถซัพพอร์ตให้ศิลปินไปเติบโตนอกประเทศได้ อย่างการได้ไปเล่นที่เวียดนาม ฮ่องกง ซึ่งการสร้างคอนเน็กชันและสนับสนุนโอกาสให้กับดีเจเหล่านั้นก็มีส่วน อย่างต๊อบหรือ Sunju Hargun หรือเจ ทุกคนเริ่มได้ไปเล่นต่างประเทศ แต่เราก็ต้องมีแพลตฟอร์มคอยรองรับพวกเขา และช่วยพาพวกเขาออกไปสู่ซีนที่อื่น ๆ ด้วย เพราะการที่คุณพาคนนี้ออกไปได้ มันก็เหมือนเบิกทางพาคนอื่นไปได้ด้วย แบบ โอ้ เรามีคนเก่ง ๆ ที่ประเทศนี้ด้วยนะ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ต่างชาติสนใจและมาสนับสนุนซีนเรามากขึ้นก็ได้ แล้วมันก็ยังเป็นแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่ ๆ อย่างเด็กอายุ 15 เห็นว่า ‘โห คนนี้ได้เล่น Coachella’ ‘คนนี้ได้ไปเล่นประเทศนี้ว่ะ’ การได้เป็นเฮดไลเนอร์มันสร้างปรากฏการณ์บางอย่างได้จริง ๆ นะ

เมย์: เราไม่มีอะไรจะบ่นเรื่องนี้เพราะทุกอย่างมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อินดี้ซีนในยุโรปหรืออเมริกามันดีแหละที่มีคนคอยซัพพอร์ต มีคนเก็ตง่ายกว่ามาก แต่ในกรุงเทพ ฯ เราว่ามันสบาย ๆ กว่าและน่ารักกว่า คนมีความใกล้ชิดกันมากกว่าซึ่งมันพิเศษมาก ๆ ที่ไทยมันอาจจะดูยากกว่า แต่เพราะความยากมันทำให้ทุกคนต้องพยายามกันมาก ๆ และได้รวมกลุ่มกันเพื่อทำให้มันเกิดขึ้น มันเป็นความรู้สึกและปฏิสัมพันธ์ที่เราจะไม่มีวันได้รับจากซีนที่ใหญ่กว่านี้ ก็ลองดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป แต่แค่นี้ก็ตื่นเต้นละ

เจ: ผมว่ามันดีขึ้นนะ การอยู่ตรงนี้มา 11 ปี และอาจจะก่อนหน้านั้นก็ได้เห็นว่าซีนมันใหญ่ขึ้นและมีคนเพิ่มมากขึ้น ไม่รู้สิผมเจออิ๊กครั้งแรกในปาร์ตี้แรกของ Unst ๆ เมื่อ 5-6 ปีก่อน แล้วมาจนตอนนี้ก็มีคนแบบอิ๊กเพิ่มขึ้นในปาร์ตี้ ดังนั้นผมก็คิดว่าคนรุ่นใหม่ ๆ เขาให้ความสนใจสิ่งนี้มากขึ้นนะ อีกไม่กี่ปีมันอาจจะโตขึ้น แล้วก็มีแนวโน้มว่าจะโตขึ้นและเข้าใจซีนมากขึ้นเรื่อย ๆ 

เมย์: อืม มันดีขึ้นในเชิงที่ว่า เราเคยเป็นคนไปคอนเสิร์ตอินดี้ ดูแค่ไลฟ์แบนด์ จนมีอยู่วันนึงเพื่อนที่ไปคอนเสิร์ตด้วยกันเนี่ยแหละเกิดลากเราเข้าไปในปาร์ตี้จนเราได้รู้จักกับอะไรแบบนี้ คำถามที่ว่าคนไม่เปิดใจหรือเปล่า อาจจะเปิดใจนะ แต่เขาไม่รู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่หรือเปล่า ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีคนที่จะเป็นสะพานพาเราเข้ามา เป็นคนที่เราจะเชื่อในเทสต์ของเขาหรืออะไรที่เขามองว่าดี มันจะพากันตามเข้ามาเอง เราไม่มีทางจะเจอเพลงเหล่านี้หรือรู้จักกับคลับคัลเจอร์เลย แต่ถ้าเจอถูกคนแล้วมันพาไปงานพวกนี้ แล้วเราค่อย ๆ ทำความเข้าใจอะ มันจะทำให้ซีนโตขึ้นและดีขึ้นได้ไวมาก ๆ เพราะเมื่อก่อนอะ ถ้าเราบอกว่าจะไปปาร์ตี้หรือไปคลับ มันก็จะถามว่า ‘มึงไปงาน EDM ตึ๊ด ๆ หรอ’ มันเป็นแค่เพะราเขาไม่เคยรู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ แต่ตอนนี้ดีขึ้นเยอะมากแล้ว

แฟรงค์: เดี๋ยวนี้ผมมองว่ามันเข้าถึงคนมากขึ้นแล้วก็ราคาไม่แพงจนเกินไป แต่มันก็ยังมีความยากอยู่ อย่างบอกว่ามีคน 10 ล้านคน แต่ทุกครั้งที่ไปงานนั้นนี้ ก็เจอแต่คนหน้าเดิม ๆ หรือแม้แต่ไปฟังเพลงคนละแนวไม่ว่าจะเป็นอินดี้หรือ EDM บางทีก็ยังเจอคนหน้าเดิมในกลุ่มนั้น ๆ อีก คือมันจะมีคนอยู่แค่กลุ่มเล็ก ๆ เนี้ยแหละที่จะยอมใช้จ่ายไปกับสิ่งเหล่านี้ เพราะผมก็เข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำที่จะใช้ไปกับการมาปาร์ตี้ อาจจะมีแค่ล้านเดียว แล้วอีก 9 ล้านคือเงินที่เขาจะซื้อกาแฟแก้วละ 200 บาทเขายังไม่มีเลย

เจ: อันนี้ไม่ค่อยเห็นด้วยเรื่องราคาถูกนะ เมื่อ 10 ปีก่อนมันถูกกว่านี้มาก ๆ สมัยที่ GLOW ยังอยู่ มีศิลปินต่างประเทศมาเล่น ค่าบัตรยังแค่ 400 เอง ตอนนี้รู้สึกว่าปาร์ตี้มันแพงขึ้นอะ แต่ก็เข้าใจอีกเหมือนกันเรื่องที่ว่าคนยอมซื้อมากขึ้น หมายถึงมายเซ็ตคนเปลี่ยนใช่ไหม? คือถ้าคนยอมจะจ่ายในราคานี้มันก็เป็นเรื่องดีแหละ เราไม่ต้องมากังวลเรื่องเกสลิสต์กันเท่าแต่ก่อนแล้ว คนไม่ค่อยขอเข้างานกันฟรี ๆ โดยเฉพาะกับจนที่จัดปาร์ตี้กันเอง เขาเข้าใจแล้วก็อยากจะช่วยสนับสนุนปาร์ตี้อื่น ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

แฟรงค์: เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดนตรีมันเปลี่ยนไปมากเลยนะโดยเฉพาะกับแดนซ์มิวสิก 10-15 ปีที่แล้วเราต้องทำเพลงออกมา ต้องโปรโมต แล้วต้องขายให้ได้เงินจากตรงนั้นถึงจะทำมันเป็นอาชีพได้จริง ๆ แต่ตอนนี้เพลงไม่สามารถหาเงินให้เราได้แล้วอะ นั่นเลยเป็นสิ่งที่ทำให้คนทั่วโลกต้องหางานหลักทำ แทนที่จะหาเงินได้จากการทำเพลง นั่นเลยทำให้ราคาทั่วโลกมันสูงขึ้นด้วย คิดว่ากรุงเทพ ฯ ก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน

เมย์: มันไม่ใช่แค่เรื่องจ่ายไหวไหม เพราะมันมีคนที่พร้อมใช้จ่ายเสมอกับอะไรที่เมนสตรีม บางทีเขายอมจ่ายอะไรที่แพงกว่านี้ด้วย ดังนั้นที่เราต้องทำคือต้องดึงคนใหม่ ๆ เข้ามา แล้วคนก็จะค่อย ๆ สนใจและเข้าใจเพลงแบบนี้ บางทีอาจจะเป็นแค่เขาไม่เคยมีใครชวนมา แล้วก็ไม่คิดว่าพอมาแล้วตอนหลังจะชอบ แล้วเขาก็จะเริ่มออกค้นหาอะไรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เอง ส่วนคนที่เก็ตเพลงแบบนี้ก็เป็นคนหน้าเดิม ๆ ที่คอยซัพพอร์ตกันเองเหมือนเดิม แล้วก็ไม่สามารถไปทุกอีเวนต์ได้ เพราะตอนนี้มีงานเกิดขึ้นเยอะมาก ทุกวีค พอไปทุกงานมันก็เริ่มไม่มีเงินแล้วเหมือนกัน

Bangkok Community Radio

เมย์: ก็เป็นเรื่องดีที่เขาติดต่อเราเข้ามา เพื่อที่เราจะได้ขยายฐานไปถึงคนในแวดวงศิลปะแขนงอื่น ๆ ได้มากขึ้น แล้วก็คนในภาครัฐจะได้รู้ว่ายังมีคอมมิวนิตีนี้อยู่ แล้วเขาอาจจะสนใจให้ทุนหรือทำอะไรร่วมกับเราอีกในอนาคต  งานนี้เขาก็ไม่ได้ให่บัดเจ็ตอะไรเยอะ แต่อย่างน้อยมันช่วยให้วิทยุไปต่อได้ ซึ่งในงานนี้เราคัดเลือกดีเจมาหลากหลายแนวมากทั้ง Pam Anantr, Shir Khan, Yoongying & Krit Morton, Keith Edward, Beam Wong แล้วก็แฟรงค์ไปเล่นด้วย มีไลฟ์จาก NOTEP แล้วก็ Chalo ซึ่งเป็นเพลงคนละแบบกันเลย แล้วนทก็อาจจะช่วยดึงคนเข้ามารู้จักเพลงใหม่ ๆ ได้มากขึ้นและทำให้ซีนขยายขึ้นได้ด้วย

แฟรงค์: ก็รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมงานกับ Ballantine’s นะเพราะเขาเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก แล้วก็ซัพพอร์ตปาร์ตี้มาหลายงานแล้วอย่างเช่น Boiler Room หลาย ๆ ที่ทั่วโลก ซึ่งก็เหมือนเป็นการให้แวลูกับดนตรีอิเล็กทรอนิกในระดับนึง ก็ตื่นเต้นที่จะได้ร่วมงานกับเขามาโดยตลอด เลยยิ่งรู้สึกดีมาก ๆ เพราะอันนี้จะเป็นงานแรกที่เขามาร่วมงานกับอีเวนต์ในกรุงเทพ ฯ แล้วเราก็มีเมิร์ชที่ทำกับแบรนด์เป็นเสื้อยืดจำนวนจำกัดด้วย

เจ: แล้วงานนี้ก็จะเป็นงานแรกที่ทีม BCR ได้เล่นด้วยกันด้วย เป็นงานแรกของผมที่ได้เล่นกับ BCR ด้วย (หัวเราะ)

เมย์: เป็นงานที่สองของเราที่เล่นกับ BCR แต่เป็นครั้งแรกที่ได้เล่นในฐานะทีมงาน BCR เหมือนเป็นงานที่เรา 8 คนที่ทำงานด้วยกันจริง ๆ จะได้เล่นด้วยกัน งานก่อนหน้าคือยังไม่ได้มาร่วมทีมกับเขา น่าจะเป็นเพราะว่าเราส่งมิกซ์เข้ามาบ่อยเขาเลยชวนมาเล่น 

แฟรงค์: แล้วก็เป็นเรื่องดีที่คนจะได้รู้จัก Unformat Studio เป็นเวนิวใหม่อีกแห่งในกรุงเทพ ฯ

เจ: ถ้าอยากส่งมิกซ์เข้ามา หรือมาเล่นที่สถานี ติดต่อมาได้เลย เรามองหาศิลปินใหม่ ๆ อยู่ตลอด หรือไม่ก็ติดต่อแฟรงค์โดยตรงได้เลยที่ music.vell ทาง Instagram หรือส่งเมลไปหาโปรดิวเซอร์หยกที่ studio@bangkokcommunityradio.com ก็ได้ แฟรงค์เนี่ยจริง ๆ ทำงานหนักมากนะ ส่วนผมแค่ดูเรื่องการเงินอย่างเดียวเลย หาเงินเข้าแล้วก็จ่ายออก ส่วนเมย์ เลียม ก็ช่วยให้เราได้รู้จักศิลปินใหม่ ๆ และดึงเข้ามาเป็นโฮสต์ของเราหลายคน 

แฟรงค์: ไม่หรอก จริง ๆ ทีมเราก็เกิดจากความช่วยเหลือของทุกคนเนี่ยแหละ ทุกคนที่มาตั้งใจกันมากสุดความสามารถที่ตัวเองจะทำได้ แล้วก็ยังมีอีกหลายอย่างที่เราต้องทำให้ถูก ต้องทำให้ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสในหลาย ๆช่องทางและภาคส่วน แต่จากไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่าวิทยุของเราสร้างอิมแพคหรือการเปลี่ยนแปลงให้กับซีนยังไงบ้าง และคงจะเป็นเรื่องดีถ้าในปี 2026 เราจะได้เห็น BCR เติบโตขึ้น เราอาจจะมีสตูดิโอที่ครบครันขึ้น และสามารถพิสูจน์โมเดลการทำรายการวิทยุได้อย่างยั่งยืน รวมถึงได้เห็นศิลปินในกรุงเทพ ฯ ไปไกลขึ้นกว่าเดิม

เมย์: เราว่าเราโชคดีที่มีทีมนี้ เพราะทุกคนมีส่วนสำคัญหมดที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ แฟรงค์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเจ้าของไอเดียหลาย ๆ อย่าง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม BCR ต้องมีแฟรงค์ เขาเป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนสำคัญจริง ๆ เราเหมือนบังเอิญไปเป็นเพื่อนบ้านเขาแล้วได้เห็นว่าเขาทำงานนี้หนักมากจนแทบจะเป็นงานฟูลไทม์อยู่แล้ว แล้ว 4 คน (แฟรงค์ เลียม เจ ต๊อบ) ที่เริ่มกันมาตั้งใจกันมากก่อนที่จะชวนเราเข้ามา การจะเริ่มทำอะไรขึ้นมาใหม่จะเป็นจะต้องมีคนอย่างพี่เจ หรือพี่ต๊อบ ที่ทุกคนรู้จักอยู่แล้วในฐานะ More Rice หรือ Unst ๆ มาเป็นเวลานาน มันจำเป็นต้องมีคนที่เราเชื่อในเทสต์เขาแล้วเราถึงจะยอมมาร่วมทำอะไรแบบนี้ อย่างเราตอบตกลงตั้งแต่ตอนเขามาชวนให้ช่วยทำเลย เราว่านี่เป็นหัวใจสำคัญเลยแหละ เบรนต์เองก็เป็นคนคอยดูหลังบ้าน ดูสถิติตลอด ก็เป็นงานที่หนักมาก ๆ เราว่าทุกคนทำเต็มที่เท่าที่ตัวเองจะทำได้เพื่อคอมมิวนิตีจริง ๆ 

BCR Dance X Ballantines Stay True 

Bangkok Community Radio

Location: Unformatted Studios
Date: Sat 27 Jan 2024
Time: 16.00 onwards
Tickets 500 THB: https://megatix.in.th/events/bcr-dance-x-ballantines 

Lineup:

  • Brent Burns
  • Chucheewa
  • DOTT
  • Gayath
  • H(IGH) Hat 
  • Takky
  • Sarayu
  • Seelie
  • Vell

BCR for Art & Culture One Bangkok at Bangkok Design Week 

Location: Grand Postal Building
Date: Mon 29th Jan – Thu 1 Feb 2024
Time: 20.00 – 22.00
Free entry

Lineup:

Monday 29 Jan 
– Pam Anantr: 20.00 – 21.00
– Shir Khan: 21.00 – 22.00

Tuesday 30 Jan
– Yoongying & Krit Morton: 20.00 – 21.00
– NOTEP (live): 21.00 – 22.00

Wednesday 31 Jan
– Vell: 20.00 – 21.00
– Chalo (live):  21.00 – 22.00

Thursday 1 Feb
– Keith Edward: 20.00 – 21.00
– Beam Wong: 21.00 – 22.00

Bangkok Community Radio are: 

Brent Burns (เบรนต์ เบิร์นส)
Chucheewa Cheepchol (ชูชีวา ชีพชนม์)
Frank Nankivell (แฟรงค์ แนนคิเวล)
Liam Rielly (เลียม เรียลลี)
Pakarapol Anantakritayathorn (ภัครภณ อนันตกฤตยาธร)
Sarayu Sriyuksiri (ศรายุ ศรียุกต์สิริ)
Thanapond Surakul (ธนพร สุรกุล)
Tharika Maiwong (ทาริกา ใหม่วงศ์)
Ubonsiri Sooksuay (อุบลศิริ สุขสวย)
Vincentius Aditya (วินเซนเชียส อดิตยา)

อ่านต่อ

SYNAP [home/lab] คอมมิวนิตีคนรักดนตรีไฟฟ้า ชุบชีวิตย่านนางเลิ้งให้มีชีวิตชีวา

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy