หรือดนตรีฮาร์ดคอร์พังก์ใน SEA เริ่มขึ้นที่สิงคโปร์? รู้จัก Lion City Hardcore ซีนดนตรีที่ก้าวข้ามเรื่องเชื้อชาติ

by Athipat Nenyod
1K views
Lion City Hardcore punk Singapore
Lion City Hardcore

ท่ามกลางฝุ่นตลบจากฝีเท้าคนดูในวงมอช ดนตรีฮาร์ดคอร์พังค์เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นจากคนในและคนนอกโดยที่ไม่ต้องเกร็งปากอีกต่อไป หรือแม้อาจเรียกได้ว่าทะลุตลาดกึ่งเมนสตรีมกันไปแล้ว เพราะการทลายบาเรียร์ตรงนั้นของวงดนตรีอย่าง Knocked Loose หรือ Turnstile กับชุด Glow On ของเขา

หมุนลูกโลกมาอีกฝั่ง ทางทวีปเอเชียของเราก็มีสีสันไม่น้อยหน้า มีวงดนตรีใหม่ ๆ หรือวงระดับตัวจี๊ดในซีนที่มาเล่นกันไม่ขาดตอนอย่าง One Step Closer, SPEED, และ END หรือล่าสุดอย่าง Anxious (วงเด็กฮาร์ดคอร์ทำเพลงอีโมป็อปพังค์)

แต่ก็แอบไม่มีใครถกเถียงว่าดนตรีฮาร์ดคอร์พังค์ถูกนำมาประยุกต์เล่น เผยแพร่ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ช่วงไหน หรือจุดศูนย์กลางของระเบิดปรมาณูลูกนี้มันลงในภูมิภาคนี้เมื่อใด เพราะในปัจจุบันทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านเองก็เสียบแอมป์หยิบไมค์ตะโกนร้องกันบนเวทีแล้ว โดยเฉพาะอินโดนีเซีย แต่ที่ไหนริเริ่มก่อนหรืออิมพอร์ทจากตะวันตกแบบถูกต้องก่อนล่ะ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสนใจนี้ได้สะกิดความอยากรู้ของตัวเองเนื่องจากได้ไปเยือนสิงคโปร์และไปเจอสมาชิกวง Destiny เข้ามาทักทาย พูดคุย เพราะพวกเขาเห็นนาฬิกาสีขาวดำหน้าปัดตัว X ที่เราใส่ (เรื่องนี้คงไว้ติดตามกันในบทความหน้านะ) หลังจบโชว์ของ Death Of Heather ที่ Singapore City จนตามไปฟังวงของเขาพอกลับมาถึงไทย คีย์เวิร์ดคำหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาและกลายเป็นคำนิยามที่เราจดจำคือ Lion City Hardcore หลังจากการขุดคุ้ยฟังวงใหม่ ๆ จากประเทศเมอร์ไลออนนี้จนไปเจอ Complilation รวม 10 วงดนตรี 20 บทเพลง ชุดนึงที่ถูกปล่อยออกมาในปี 1993 โดย Reconstrux Records/Big O CD ใช้ชื่อว่า “Lion City Hardcore – Together At Last” จวบจนเวลานี้ก็ผ่านไปถึง 30 ปีแล้วหลังจากรวมเพลงศิลปินชุดนี้ได้ปล่อย คิดดูว่าพวกเขาได้เริ่มต้นนำเข้าดนตรีประเภทนี้กันมาเป็นสามทศวรรษแล้ว จำลองง่าย ๆ ก็ทำเพลงกันตั้งแต่ปลายยุค 80s

Lion City Hardcore

การค้นพบสิ่งนี้ก็ทำให้เลื่อนไปเจอปกนิตยสารดนตรี DIY อิสระของสิงค์โปร์ในช่วง 80s 90s เจ้าหนึ่งที่ชื่อว่า Big O (ให้นึกภาพ Music Express บ้านเราแต่มีความอินดี้มากกว่าและทำหน้าที่เป็น Promoter อีกด้วย) ในฉบับที่ 88 ปี 1993 ได้จั่วหัวว่า “Lion City Hardcore” พร้อมรูปหมู่วงดนตรียืนเท่กันเต็มหน้าปก

เกาะเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของคาบสมุทรมาเลย์นี้นอกจากจะเป็นฮับการค้าของภูมิภาคนี้แล้วยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัฒนธรรมดนตรีอันเดอกราวที่ได้นำเข้ามาได้ในเวลาพร้อม ๆ กับจุดพีคของซีนดนตรีนิวยอร์กฮาร์ดคอร์ (NYHC) กันเลย จัดว่าไม่ธรรมดา

วงสิงค์โปร์ในตอนนั้นอย่าง Stompin’ Ground ที่เรียกได้ว่าดนตรีได้แรงบันดาลใจมาจากจากซีน NYHC อย่าง Sick Of It All หรือ Agnostic Front แบบถึงเครื่อง และยังเป็นหัวหอกในซีนตอนนั้น แถมมีดีกรีได้เล่นเปิดวงระดับตำนานอย่าง Fugazi สมาชิกวงเองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จัดทำ Complilation ชุดนี้อีกด้วย คิดว่าเพราะความที่เป็นฮับการค้าและอดีตอนานิคมอังกฤษเองที่ทำให้ความคุกรุ่นของดนตรีฮาร์ดคอร์ในตอนนั้นถูกนำเข้ามาได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา, ร้าน records store ที่นั้น, หรือนอร์มความหลากหลายทางวัฒนธรรม (ชาวจีน-มาเลย์-ชาติตะวันตกที่อาศัยด้วยกันที่นั้น)

Fugazi เคยมาเล่นที่สิงค์โปร์ถึงสองครั้ง!? ใช่แล้วในปี  1993 และ 1996

Images source: Dischord.com

ใช่แล้วในปี  1993 และ 1996 วงทรงอิทธิพลระดับตำนานของดนตรี Alternative และ Post-Hardcore อย่าง Fugazi ที่ปัจจุบันอยู่ในช่วงสถานะพักวงตลอดไป ก็เคยบินข้ามมหาสุทธมาเล่นถึงสองรอบ ซึ่งจำนวนคนดูแตะเลข 550 คน และในรอบสองถึง 800 คน ซึ่งรอบแรกอำนวยการจัดงานโดยนิตยสาร Big O ที่ทำ Complilation นี่เอง ร่วมกับ Lion City Collective

กลับมาที่ปัจจุบันซีน Lion City Hardcore เองได้มีวงดนตรีหน้าใหม่เกิดขึ้นมาอย่าง Destiny, Crash Course, Losing End หรือวงที่ขจัดภาพลักษณ์ชายล้วนของ Hardcore Music อย่าง Fuse และ Radigals และยังมีค่ายเพลง DIY เล็ก ๆ ในชื่อ Divided We Fall ที่เคยร่วมงานกับวงตัวตึงในไทยอย่าง Whispers และ The Shredder ในการปล่อยเพลงและจัดทำเทปและซีดี

Destiny Singapore
Destiny (สิงคโปร์)
Fuse Singapore
Fuse (สิงคโปร์)

สะพานระยะห่างหลักหน่วยกิโลเมตรระหว่างซีนมาเลเซียและซีนสิงค์โปร์ที่ถูกเชื่อมต่อกันมาเป็นเวลานานก็ยังคงแน่นแฟ้น เครือข่ายสะพานภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่แต่ละประเทศมีตัวแทนหมู่บ้าน อย่างค่ายเพลง(ที่เป็นมากกว่าค่าย)  Holding On Records (ไทย), Trueside Jakarta (อินโดนีเซีย), Still Ill Records (ฟิลิปปินส์), We The Uncouth (มาเลเซีย) และอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าว กลุ่มสะพานนี้ได้ถูกทอดและราดคอนกรีตเอาไว้อย่างดี เครือข่ายอาเซียนร่วมใจของพวกเขาดูเป็นหนึ่งเดียวและเข้าใจกันมากกว่า “อาเซียน” ที่คนใหญ่คนโตผู้นำประเทศกำหนดเอาไว้สวยหรูเมื่อสิบปีก่อนเสียอีก

อ้างอิง
Voice of the Voices (2002) Short Documentary on Singapore Hardcore
bandwagon.asia
dischord.com
bandwagon.asia

+ posts

นักบันทึกไลฟ์โชว์ดนตรีนอกกระแสนามแฝง palesights, สนใจประวัติศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจจนบางทีก็อยากบ่นลงแป้นพิมพ์เป็นครั้งคราว

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy